Monkey

พลิกวิกฤติเป็นโอกาส จากกรณีลิงและการแบนกะทิไทย

บล็อก

By

ดราม่ากรณีลิงเก็บมะพร้าวที่โดนซูเปอร์มาร์เก็ตอังกฤษยุติการนำเข้ากะทิไทยตกเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมวงกว้างช่วงหลายวันที่ผ่านมา

สิ่งที่ประเทศไทยควรทำคือพยายามตรวจสอบเพื่อแก้ปัญหา และลดการใช้อคติในการโต้ตอบกันไปมาทางหน้าสื่อโซเชียล อย่างนักการเมืองคนหนึ่งที่ออกมาบอกว่าประเทศคุณก็ใช้หมูหาเห็ด การตอบโต้ดังกล่าวไม่ได้มาจากการวิเคราะห์ พิจารณาข้อมูลประกอบ แต่เน้นการแก้ตัว ไม่แก้ไข และด่ากลับ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อประเทศไทยทั้งสิ้น

Chained monkeys for sale at market in Bali, Indonesia - World Animal Protection

หรืออย่างกรณีช้าง ซึ่งมีข่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่ามีการฝึกลูกช้างอย่างโหดร้ายทารุณเพื่อใช้ในการแสดง การตอบโต้จากภาครัฐและเอกชนไทยก็ควรเป็นไปเพื่อการแก้ไข ไม่ใช่แก้ตัวหรือหาแพะรับบาปเพื่อให้เรื่องจบ

เพราะปัจจุบัน 56 ประเทศทั่วโลกต่างมีกฏหมายหรือนโยบายที่ยกเลิกการนำสัตว์ป่ามาเป็นนักแสดงแล้ว ตลอดจนกระแสนักท่องเที่ยวเองก็ไม่ยอมรับการท่องเที่ยวประเภทนี้มากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งสัญญาณจากบริษัทท่องเที่ยวชั้นนำของโลกอย่าง Tripadviser ก็ได้ยกเลิกการขายทัวร์ที่มีการนำสัตว์ป่ามาแสดงทั้งหมดเมื่อปีกลาย

กรณีเสือในกรงเลี้ยงก็เช่นเดียวกัน อนุสัญญา CITES ได้เคยมีหนังสือแจ้งเตือนมายังประเทศไทยหลายครั้งให้ลดจำนวนเสือในกรงเลี้ยงลง จึงเป็นที่น่าเป็นห่วงว่าหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ดำเนินมาตรการที่จริงจังและเร่งด่วน อย่างเช่นการแก้กฎหมายให้ยุติการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยง เรื่องนี้อาจส่งผลกระทบให้เกิดมาตรการตอบโต้ต่างๆ ในระดับสากลตามมาอย่างกรณีลิงก็เป็นไปได้

ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์ในโลกยุคใหม่ต้องคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์อย่างมาก ผู้คนทั่วโลกมีแนวโน้มตระหนักรู้และใส่ใจกับสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากเคยมีการยกเลิกการนำเข้าเนื้อหมูหรือไก่ที่เลี้ยงแบบทรมานมาแล้ว

Oonboon the elephant in the crush - World Animal Protection - Animals in the wild

หรืออีกกรณีเทียบเคียง คือ การสหภาพยุโรปเตือนจะแบนสินค้าประมงไทยหรือที่เรียกกันว่าใบเหลือง IUU เนื่องมาจากปัญหาค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา หากรัฐบาลไทยมัวแต่แก้ตัวอยู่โดยไม่แก้ไข โดยการวิเคราะห์กลไก ใช้ข้อมูล แก้กฏหมาย ปรับนโยบายที่เกี่ยวข้องให้เพียงพอและเหมาะสม เราคงไม่สามารถปลดใบเหลืองดังกล่าวได้และอุตสาหกรรมประมงไทยในตอนนี้คงพังพินาศไปแล้ว

เคสนี้จึงเป็นตัวอย่างที่ดีว่าเมื่อภาครัฐและเอกชนตั้งใจแก้ปัญหาแล้ว ผลดีย่อมตามมามากกว่าการแก้ตัวหรือโจมตีคนอื่นเพื่อเบี่ยงประเด็นความสนใจ

วัฒนธรรมหลายอย่างมีเป็นหลายสิบหลายร้อยปี แต่ผมเชื่อว่าค่านิยมอะไรที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยก็สามารถเปลี่ยนกันได้ และกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมีกลไกการทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ภายใต้ พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่ควรถูกนำมาใช้แก้ปัญหาเหล่านี้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเพิ่มเติมต่อประเด็นดังกล่าว คือ เราควรวิเคราะห์กันต่อว่ากลไกการคุ้มครองสัตว์กลไกดังกล่าวตอบสนองต่อโลกในยุคปัจจุบันหรือไม่ เช่น ประเทศไทยอาจจำเป็นต้องมีคณะกรรมการปรับปรุงสวัสดิภาพสัตว์โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงพานิชย์ กระทรวงทรัพยากรฯ กระทรวงเกษตรฯ ร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย เป็นต้น

Tiger i fångenskap matas

อีกประการหนึ่ง คือ กฏหมายและนโยบายของไทยมีความทันสมัยหรือไม่ คลอบคลุมเพียงพอหรือเปล่า ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการพิจารณาทบทวนอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคตอันใกล้

เมื่อประชาคมโลกตั้งคำถามหรือชี้ให้เห็นปัญหาด้านสวัสดิภาพสัตว์ แทนที่รัฐและเอกชนไทยจะปล่อยโอกาสนี้ให้หลุดลอยไปกับการก่นด่าแบบใช้อารมณ์และขาดข้อมูล เราควรพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส พิจารณาประเด็นดังกล่าวอย่างรอบด้าน ปรับปรุงปัญหาสวัสดิภาพสัตว์ ตลอดจนช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม

มาร่วมแสดงให้ทั่วโลกเห็นว่าคนไทยชอบแก้ไข ไม่ใช่เอาแต่แก้ตัวไปวันๆ กันเถอะครับ

ปัญจเดช สิงห์โท

ที่ปรึกษาด้านนโยบาย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย