ภารกิจสุดท้าทาย เพื่อยกระดับสวัสดิภาพช้างในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กับ ดริญญา โตตระกูล
ข่าว
ปัจจุบันเธอคือฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจภาคสนาม เพื่อช่วยยกระดับสวัสดิภาพช้างและควาญช้างในเมืองไทย แม้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายระหว่างทาง
การทำงานในวงการการท่องเที่ยวเชิงอาสาสมัครและการท่องเที่ยวช้างเชิงอนุรักษ์มานานกว่า 15 ปี ทำให้ คุณดี-ดริญญา โตตระกูล ผู้จัดการโครงการสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ได้สั่งสมประสบการณ์การทำงานที่มีทั้งแบบบู๊และบุ๋น
ย้อนกลับไปในอดีต 10 ปีก่อน การท่องเที่ยวช้างทางเลือกแบบคำนึงถึงสวัสดิภาพของช้าง (Alternative elephant tourism) หรือ (Ethical elephant experience) ในเมืองไทยยังไม่เป็นที่รู้จัก นักท่องเที่ยวจะคุ้นเคยกับบริการช้างแท็กซี่ นั่งแหย่งบนหลังช้าง อาบน้ำช้าง และป้อนอาหารช้าง คุณดี ซึ่งขณะนั้นทำงานในฐานะผู้บริหาร โครงการการท่องเที่ยวเชิงอาสาสมัครในประเทศไทย หนึ่งในโครงการที่ทำตอนนั้นคือโครงการการท่องเที่ยวช้างเชิงอนุรักษ์ที่เน้นเรื่องการทำงานกับชุมชนกระเหรี่ยง โดยการส่งเสริมการท่องเที่ยวช้างทางเลือกที่ช่วยให้ช้าง ได้อยู่ในป่าตามธรรมชาติ แทนที่จะถูกส่งไปทำงานตามปางช้างต่างๆ นักท่องเที่ยวที่มาร่วมโครงการใช้เวลา ดูช้างและศึกษาพฤติกรรมช้างในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ จากการทำงานในแวดวงจนถึงจุดอิ่มตัว เธอจึงตัดสินใจเข้ามาร่วมงานกับ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับสวัสดิภาพช้าง และสร้างแรงกระเพื่อมให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวช้างในประเทศไทย
ภารกิจแรกซึ่งเป็นภารกิจสุดท้าทายเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2017 การปรับเปลี่ยนปางช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ให้เป็นปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้างไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจัดการประชุม “Elephant Friendly Conference” โดยเชิญเจ้าของปางช้างที่สนใจปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำปางช้างจากการทำธุรกิจปางช้างแบบเดิม ที่มุ่งเน้นการใช้งานช้างเพื่อความบันเทิง มาเป็นลักษณะ ที่เป็นมิตรต่อช้าง ตามเกณฑ์การเป็นมิตรต่อช้างขององค์กรฯ เน้นให้ช้างมีอิสระและมีโอกาสแสดง พฤติกรรมตามธรรมชาติ เหมือนสัตว์ป่าอย่างที่ควรเป็น และไม่มีกิจกรรมการใช้ช้างเพื่อสร้างความบันเทิงแก่นักท่องเที่ยว ในงานนี้มีปางช้างที่สนใจเข้าร่วมประชุมทั้งหมดถึง 15 ปางและหนึ่งในนั้นคือ ปางช้างชิล (ChangChill) จ.เชียงใหม่
“กระบวนการคัดเลือกปางช้างที่ต้องการเข้าร่วมเป็นปางช้างต้นแบบ ใช้เวลาค่อนข้างนาน ต้องเป็นปางช้างที่ตั้งใจอยากปรับเปลี่ยนและมุ่งมั่นที่จะยกระดับรูปแบบการดำเนินการปางช้าง และรูปแแบบการทำธุรกิจให้เข้ากับเกณฑ์การเป็นมิตรต่อช้างขององค์กรฯ ที่เน้นเรื่องของสวัสดิภาพช้างในระดับที่ค่อนข้างสูง ขั้นตอนต่างๆ ก็มีทั้งการสร้างความเข้าใจเรื่องการปรับเปลี่ยน การทำเอกสาร ความร่วมมือและเริ่มกระบวนการปรับเปลี่ยน ซึ่งมีหลายองค์ประกอบด้วยกัน”
คุณดี เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกับปางช้างชิล ที่แสดงถึงเจตจำนงที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบปางช้าง ด้วยเล็งเห็นถึงเทรนด์การท่องเที่ยวใหม่ ที่เป็นมิตรต่อช้างและการสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจไปพร้อมๆ กัน
องค์ประกอบหลักในการปรับเปลี่ยนปางช้าง
องค์ประกอบหลักที่ คุณดี หมายถึง คือการปรับเปลี่ยนสิ่งปลูกสร้าง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เนื่องจากปางช้างในรูปแบบเดิมจะไม่ใช้พื้นที่เยอะมาก เพราะช้างจะถูกปล่อยก็ต่อเมื่อมีนักท่องเที่ยวมาทำกิจกรรม สิ่งที่ต้องการสำหรับการกิจกรรมเหล่านี้คือพื้นที่ในการขึ้นแหย่ง พื้นที่อาบน้ำ และป้อนอาหาร เป็นต้น แต่หากเป็นปางช้างที่นักท่องเที่ยวเป็นเพียงผู้สังเกตพฤติกรรมของช้างตามธรรมชาติ จำเป็นต้องมีพื้นที่ป่าที่เอื้อต่อการใช้ชิวิตในสภาพธรรมชาติหรือใกล้เคียงกับสภาพธรรมชาติ มีการแยกสัดส่วนกันอย่างชัดเจนระหว่างพื้นที่ของช้างและคนเพื่อความปลอดภัยของทั้งคนและช้าง มีจุดสังเกตการณ์ หรือลานดูช้าง มีบริเวณจัดเตรียมอาหารให้ช้างเพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถทำกิจกรรมเตรียมอาหารเพื่อให้ช้างมากินอาหารเอง และมีบริเวณ ให้นักท่องเที่ยวสามารถดู เรียนรู้พฤติกรรมต่างๆ ตามธรรมชาติของช้างได้ โดยที่ไม่มีกิจกรรม ที่มีปฏิสัมพันธ์ โดยตรงระหว่างนักท่องเที่ยวและช้าง
“ด้วยความที่ตอนนั้นช้างชิล หรือชื่อเดิมคือ Happy Elephant Care Valley เป็นปางช้างที่มีกิจกรรมการให้อาหารช้าง อาบน้ำช้างอยู่ ก็จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อีกแบบหนึ่ง และพื้นที่ค่อนข้างจำกัด พอเริ่มการปรับเปลี่ยนเราก็ต้องมีการทำงานร่วมกันกับเจ้าของปางในการวางแผนงานและการขยายพื้นที่ มีการปรับภูมิทัศน์ เราก็จะคอยประสานและสรุปงาน เอารายละเอียดต่างๆ มาทำคู่กับวิศวกร ไปแกะแบบ หาผู้รับเหมาที่จะทำงานเหล่านี้ เช่น พื้นที่ซึ่งเป็นเนินเขาและติดน้ำ เรามองว่าถ้าเราสร้างจุดนี้ให้เป็นพื้นที่ดูช้าง ตอนบ่ายช้างมาทำกิจกรรมกินอาหารที่นักท่องเที่ยวเตรียมไว้ แล้วช้างลงเล่นน้ำ อาบโคลน ถ้าเราทำ Observation desk หรือจุดสังเกตการณ์ให้นักท่องเที่ยวดูช้างได้ก็น่าจะดี
นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องของการวางแผนกิจกรรมของนักท่องเที่ยว เช่น ตอนเช้าเป็นการไปเดินดูช้างในพื้นที่ป่าข้างบนดอย แล้วลงมาเตรียมอาหารให้ช้าง ตอนบ่ายช้างจะลงมากิน อาหารที่นักท่องเที่ยวเตรียมไว้ให้ และจะอยู่แถวริมแม่น้ำ ซึ่งก็จะเป็นโอกาสที่นักท่องเที่ยวจะได้สังเกตพฤติกรรมการลงเล่นน้้ำหรืออาบโคลนของช้าง จัดให้มีช่วงพูดคุยกับควาญช้าง โดยทั้งหมดนี้เราใช้เวลาค่อนข้างมากในการ ทำงานร่วมกับควาญช้างและไกด์เพื่อการออกแบบและสร้างกิจกรรมใหม่”
ยกระดับสวัสดิภาพช้างและควาญช้างไปพร้อมๆ กัน
การปรับเปลี่ยนทั้งหมดใช้ระยะเวลาถึง 6 เดือน ซึ่งนอกเหนือจากการทำสิ่งปลูกสร้าง เพื่ออำนวย ความสะดวกกับการทำกิจกรรมดูช้างแบบที่ไม่มีปฏิสัมพันธ์โดยตรง ระหว่างนักท่องเที่ยวและช้าง เพื่อการยกระดับสวัสดิภาพและความปลอดภัยของทั้งคนและช้างแล้ว อีกเรื่องที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ การยกระดับสวัสดิภาพของควาญช้าง โดยเธอกล่าวว่า
“เราจะทำงานโดยที่มุ่งยกระดับสวัสดิภาพช้างอย่างดียว โดยไม่ให้ความสำคัญกับควาญช้างไม่ได้ ควาญช้างคือคนที่ดูแลช้าง ถ้าเราต้องการยกระดับสวัสดิภาพของช้าง เราต้องดูแลและยกระดับสวัสดิภาพของควาญช้างไปพร้อมๆ กัน ในส่วนนี้ เรางสร้างบ้านพักใหม่ให้ควาญช้าง จากแต่เดิมอยู่กระท่อม ไม้ไผ่เก่าๆ หลังเล็กๆ ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีห้องน้ำ เราก็สร้างบ้านใหม่ ห้องน้ำใหม่ พร้อมติดตั้งระบบไฟฟ้า นี่คือการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและเพิ่มคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม การทำงานที่ดีขึ้นแก่ควาญช้าง ทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจ และดีใจที่เราเห็นคุณค่าและความสำคัญ ที่เราไม่ได้สนใจ แค่ช้างและทิ้งเค้าไว้ข้างหลัง”
นอกจากรายละเอียดของการปรับเปลี่ยนข้างต้นแล้ว องค์ประกอบที่สำคัญอีกอันหนึ่งคือ การบริหาร จัดการช้างและกิจวัตรประจำวันใหม่ของช้าง คุณดี เล่าว่า ส่วนใหญ่ถ้าเป็นช้างที่อยู่ในปางที่มีลักษณะการใช้ งานช้างเพื่อทำกิจกรรมเพื่อความบันเทิง ช้างจะถูกปล่อยเฉพาะเวลาทมีนักท่องเที่ยว เมื่อนักท่องเที่ยวเสร็จ กิจกรรมหรือวันที่ไม่มีนักท่องเที่ยว ช้างจะถูกล่ามโซเป็นส่วนใหญ่และอาจมีการปล่อยช่วงสั้นๆ ควาญช้าง อาจโยนหญ้าให้เป็นเวลา แล้วควาญช้างก็อาจจะไปทำอย่างอื่น การปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน และกิจกรรม ของช้างและควาญจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
“วันแรก ตอน 8-9 โมงเช้า หลังจากควาญปลดโซ่ช้างออก ช้างก็ยืนรอให้ควาญพาไปทำกิจกรรมเพราะ เป็นสิ่งที่เค้าเคยชิน ช้างก็รอ ควาญก็รอ เขาไม่รู้จะไปไหน เพราะความเคยชินที่ช้างเคยถูกจูงเพื่อไปถ่ายรูป หรือให้นักท่องเที่ยวขี่ เราก็เลยคุยกับหัวหน้าควาญว่าให้ทดลองพาเค้าเดินขี้นไปที่ป่าบนดอย ก็พากันจูงไปก่อน ตอนเช้า วันนั้นเราลองไปประมาณเกือบสองชั่วโมง แล้วกลับมาพักกินข้าว เพื่อให้ควาญได้พัก ตอนบ่ายเอาใหม่ ลองทำ แบบเดิม แล้วก็ขยับเวลาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ภายในระยะเวลา 1 เดือน ก็จะได้ช่วงเวลาที่เราสามารถปล่อยให้ช้าง มีอิสระได้เดินเล่น ปางช้างในรูปแบบนี้ นอกจากจะไม่มีการสัมผัสโดยตรงระหว่างนักท่องเที่ยวกับช้างแล้ว ระหว่างวัน อย่างต่ำ 8-10 ชม. ช้างจะสามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการหากิน การลงเล่นน้ำ ในลำธาร หรือการเล่นโคลน ตราบที่เขาอยู่ในปางช้างและอยู่ในพื้นที่ของช้าง ไม่เข้ามาในพื้นที่ของคน จากที่ควาญต้องคอยบังคับช้างทำกิจกรรมเพื่อความบันเทิงของนักท่องเที่ยว ควาญไม่ต้องทำหน้าที่ตรงนั้นแล้ว ไม่ต้องคอยบังคับช้างให้ถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยว เค้ามีหน้าที่แค่คอยดูแลช้างให้มีสวัสดิภาพที่ดี และดูแลความ ปลอดภัยของช้างเท่านั้น"
แรงต้านจากควาญช้าง
ในปางช้างที่มีการใช้ช้างเพื่อกิจกรรมที่สร้างความบันเทิงแก่นักท่องเที่ยว เรามักเห็นภาพควาญช้างใช้เครื่องมือควบคุมอย่างขอสับ หรือมีดพกในการบังคับช้างทำกิจกรรม เมื่อเมื่อเราปรับเปลี่ยนรูปแบบ ของการทำ ปางช้าง มาเป็นแบบที่เป็นมิตรต่อช้างตามเกณฑ์การเป็นมิตรต่อช้างขององค์กรฯ ไม่มีกิจกรรมการใช้ช้างเพื่อ ความบันเทิง และไม่มีการสัมผัสโดยตรงระหว่างช้างและนักท่องเที่ยว อีกหนึ่งในความท้าทายของการทำงาน ปรับเปลี่ยน คือการปรับทัศนคติควาญช้าง เรื่องการบริหารจัดการช้างด้วยการฝึกและใช้แรงจูงใจเชิงบวก ทั้งนี้เรายอมรับเรื่องการใช้เครื่องมือบังคับได้ แต่เราเน้นว่าเครื่องมือบังคับเหล่านั้นควรถูกใช้อย่างมีจริยธรรม และใช้สำหรับกรณีฉุกเฉินเท่านั้น
“ควาญก็ยังคงขอสับหรือมีดเหมือนปกติ แต่แทนที่จะใช้สับหรือดึงตลอดเวลา เราก็ลองมาปรับเปลี่ยนตรงนี้ โดยเราส่งหัวหน้าควาญช้างไปอบรมทั้งที่ รพ.ช้าง จ.ลำปาง และ ดูงานที่ปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้างอีกแห่ง ซึ่งเป็นพันธมิตรขององค์กรฯ พอไปดูงานกลับมา เขาก็มาเล่าประสบการณ์ว่า มันทำได้จริง แล้งเราก็ค่อยๆ ลองปรับใช้วิธีการบริหารจัดการช้างแบบที่ใช้เรงจูงใจ แล้วก็ค่อยๆ ปรับกันมาเรื่อยๆ จนสามารถทำได้อย่างที่เห็น ในปัจจุบัน เราเข้าใจว่าการปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนเป็นเรื่องยาก เค้าเคยทำอีกแบบมาเป็นระยะ เวลายาวนาน อาจจะทั้งชีวิตของเค้า ตอนแรกๆ ก็มีแรงต้านพอสมควร แต่ก็อาศัยว่าพยายามทำงานกับ เค้าไปเรื่อยๆ จนตอนหลังๆ มันก็ได้เอง เพราะพอเราปรับกิจกรรมของช้างเป็นแบบนี้ ช้างก็ไม่เครียด ควาญช้างเองก็ไม่ต้องคอยบังคับช้างให้คอยทำกิจกรรมที่สร้างความบันเทิงแก่นักท่องเที่ยว การบังคับที่ต้องใช้เครื่องมือมันก็ลดลงไปเอง แต่เค้าก็ยังคงพกเครื่องมือเหล่านั้นเพื่อความปลอดภัย ของทั้งคนและช้างและสำหรับกรณีฉุกเฉินเท่านั้น
แม้แรงต้านอาจจะค่อนข้างหนักในช่วงแรก แต่สิ่งที่ทำให้ผู้หญิงตัวเล็กๆ ผ่านอุปสรรคเหล่านั้นมาได้ เกิดจากความตั้งใจจริง การให้เกียรติ และแสดงความเป็นมิตรกับทุกคนอย่างจริงใจ ตลอดการทำงานเธอยอมรับว่า ยากและท้าทายแต่ด้วยเป้าหมายของเธอไม่ได้อยู่แค่ช้าง ต้องให้คุณค่ากับคนที่ดูแลช้างด้วย
สิ่งที่เราคุยกับเจ้าของปางก็คือ ต้องเพิ่มเงินเดือนให้ควาญช้าง เพราะงานเขาเพิ่มขึ้น จากการเดินตามช้าง ดูแลช้าง อีกเรื่องคือไกด์ ถ้าเป็นปางช้างที่ใช้ช้างทำกิจกรรมเพื่อความบันเทิงของนักท่องเที่ยว ไกด์มีหน้าที่ดูแลให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวก็จริง แต่ความพึงพอใจหลักของนักท่องเที่ยวมาจากการทำกิจกรรมสัมผัสช้าง แต่สำหรับปางช้างที่เป็นการดูช้าง สังเกตพฤติกรรมตามธรรมชาติของช้าง ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวมาจากการได้ดูช้างและการได้รับข้อมูลเชิงลึก อุปนิสัยของช้างเป็นยังไง ช้างตัวนี้ชอบกินอะไรไม่ชอบกินอะไร ชอบอยู่กับตัวไหน หรือยังไง การได้เรียนรู้ธรรมชาติของช้างและการแสดงออกในสถานการณ์ต่างๆ ของช้างตามธรรมชาติ รวมถึงการรับรู้เรื่องราวประวัติความเป็นมาของช้างแต่ละตัวว่า ก่อนมาอยู่ที่นี่มาจากไหน เป็นอยู่ยังไง และเมื่อมาอยู่ที่นี่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องพฤติกรรมหรือไม่อย่างไร ข้อมูลเหล่านี้ที่ถูกเรียงร้อยถ่ายทอดผ่านวงคุยสั้นๆ ผ่านการบอกเล่าของไกด์ ช่วยสร้างประสบการณ์มีที่ความหมายให้แก่นักท่องเที่ยว"
ต่อยอดความสามารถให้พนักงาน
อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญคือการเสริมสร้างทักษะและความสามารถของพนักงาน เพราะหัวใจของการท่องเที่ยวรูปแบบนี้ นอกจากที่นักท่องเที่ยวจะมีโอกาสดูช้างแบบที่ช้างเป็น ไกด์คือบุคคลสำคัญในการถ่ายทอด เรื่องราวและความรู้ให้กับนักท่องเที่ยว
“นอกจากข้อมูลเรื่องราวต่างๆ ที่เราช่วยเตรียมกับไกด์ เราก็ช่วยเสริมสร้างทักษะการเล่าเรื่องตรงนี้ให้เค้า ช่วยพัฒนาแนวทางคำถามคำตอบต่างๆ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งใหม่ที่เค้าไม่เคยทำมาก่อน เช่น การปรับเปลี่ยนเกิดขึ้นอย่างไร มีการปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง พอปรับเปลี่ยนแล้วเป็นอย่างไร พฤติกรรมของช้างเป็นอย่างไร ช่วงแรกๆ ไกด์ต้องทำการบ้านเยอะ พอหลังๆ มาเค้าก็เริ่มชิน มันก็ง่ายขึ้น เพราะไกด์เองก็เห็นและเป็นส่วนหนึ่งของการปรับเปลี่ยน ที่เค้าเห็นเองมาตั้งแต่ต้น มีการทดลองโปรแกรมกับนักท่องเที่ยวที่เราจัดมาเพื่อดูความราบรื่นและลื่นไหลของการทำงาน การปรับเปลี่ยนที่กล่าวไปข้างต้นใช้เวลาทั้งหมด 6 เดือน นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนแล้ว องค์กรฯ ได้ช่วยเรื่องการวางแผนประชาสัมพันธ์และการตลาดรวมทั้งเชื่อมโยงต่อยอดทางธุรกิจให้กับเจ้าของปางผ่านการทำงานผลักดันกลุ่มบริษัทการท่องเที่ยวที่เป็นพันธมิตรขององค์กรฯ ให้ช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวช้างรูปแบบที่เป็นมิตรต่อช้าง"
ปัจจุบันปางช้างช้างชิลประสบความสำเร็จทางธุรกิจในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นความภูมิใจขององค์กรฯ เพราะเราเชื่อมั่นว่าการท่องเที่ยวรูปแแบบนี้เป็นสิ่งที่ทำได้จริง และมีแนวโน้มว่าจะมีอัตราการเจริญเติบโตไปเรื่อยๆ ในอนาคต 12 เดือนของการทำงานปรับเปลี่ยนปางช้างชิล ให้กลายเป็นปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้าง จนปัจจุบัน “ช้างชิล” ได้รับความนิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ใส่ใจในสวัสดิภาพช้างอย่างมาก หลังจากนั้น องค์กรฯ ได้ขยายเครือข่ายการทำงานกับปางช้างแห่งที่สองคือ ปางช้าง Following Giants เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ รวมถึงปางช้างพันธมิตรอีกหลายแห่งในเมืองไทย
“ตอนที่เจ้าของปางช้างชิล อยากปรับเปลี่ยน เขาเห็นว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวปางช้างมีสูง และมีการแข่งขันกันอย่างมากเรื่องราคา พอตัดสินใจปรับเปลี่ยนแล้วผ่านพ้นวิกฤติช่างโควิด 19 ตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้ ทางปางช้างชิลสามารถกลับมาฟื้นฟูสภาพคล่องทางธุรกิจ มีรายได้จากการท่องเที่ยว ถึงจุดที่ไม่ต้องรับความช่วยเหลือจากองค์กรฯ อีกต่อไป”
คุณดี เผยถึงบทพิสูจน์ทางธุรกิจของการปรับเปลี่ยนให้เป็นปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้าง ซึ่งไม่ได้ทำลายธุรกิจท่องเที่ยวช้าง หรือประเพณี วัฒนธรรม แต่เป็นการยกระดับสวัสดิภาพของช้างให้ดีขึ้น ควาญช้างเองก็ไม่ต้องบังคับช้างเพื่อทำกิจกรรมที่สร้างความบันเทิงแก่นักท่องเที่ยวและไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ควาญช้างจึงสามารถทำหน้าที่ดูแลช้างและดูแลสวัสดิภาพของช้างได้อย่างเต็มที่ จึงถือเป็นการการยกระดับภาพจำที่ดีงามของนักท่องเที่ยวที่มีต่อควาญช้างอีกด้วย
ทัศนคติของคน คือที่สุดของความท้าทาย
ตลอดระยะเวลาของการทำงานและความท้าทายที่เจอนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่เรื่องของการปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจปางช้าง ที่ต้องตอบโจทย์เรื่องการสร้างผลกำไร สวัสดิภาพของช้างและควาญที่ต้องดีและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โจทย์ที่ท้าทายและยากที่สุด คือการเปลี่ยนทัศนคติของคน การจะทำให้ปางช้างที่ใช้ช้างเพื่อความบันเทิง หันมาปรับเปลี่ยนรูปแบบให้มีความเป็นมิตรต่อช้างมากยิ่งขึ้น นั่นหมายถึงต้องยกเลิกกิจกรรมเพื่อความบันเทิงทั้งหมด อย่างการขี่ช้าง อาบน้ำช้าง โชว์ช้าง ฯลฯ แล้วให้นักท่องเที่ยวเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์พฤติกรรมช้างตามธรรมชาติ ซึ่งการท่องเที่ยวทางเลือกอาจจะยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย ดังนั้นจึงต้องอาศัยเวลา และการสนับสนุนจากหลายด้าน
“องค์กรฯ มีเป้าหมายเรื่องการยกระดับสวัสดิภาพของช้างในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวช้างค่อนช้างชัดเจน ไม่ใช่แค่ 1-2 ปาง หรือ 1-2 ตัว แต่เราคาดหวังแรงกระเพื่อมที่กว้างกว่านั้น และที่สำคัญเป็นการยกระดับโครงสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เรามองในแง่ของความเป็นจริงว่าการทำงานขับเคลื่อนตรงนี้ต้องใช้เวลา เพราะเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวช้างที่ผ่านมาในอดีต จนถึงปัจจุบัน เราต้องยอมรับว่าเราใช้ช้างเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างรายได้เข้าประเทศ และเป็นการใช้ช้างเพื่อการทำกิจกรรมาใช้ช้างเพื่อสร้างความบันเทิงแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งภาพเหล่านี้ได้กลายเป็นภาพจำของการท่องเที่ยวช้างไปแล้ว"
การทำงานสร้างความเปลี่ยนแปลงในภาคสนามอย่างต่อเนื่องขององค์กรฯ จึงถือเป็นเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่จะสนับสนุนงานด้านนโยบาย ที่จะขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กับเสียงสนับสนุนและความต้องการของนักท่องเที่ยวที่อยากเปลี่ยน ความตื่นตัวและการเติบโตของจิตสำนึกในเรื่องสวัสดิภาพของสัตว์ รวมทั้ง กระแสการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบและมีจริยธรรม จะเป็นแรงสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนและช่วยยกระดับ สวัสดิภาพของสัตว์ในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้การทำธุรกิจปางช้างแบบที่เป็นมิตรต่อช้างและเน้นเรื่องสวัสดิภาพของช้างมีความยั่งยืนไปพร้อมๆกัน