รายงาน “ภัยคุกคามสุขภาพที่ซ่อนไว้ในระบบปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม”
ข่าว
รายงานฉบับใหม่ตีแผ่ภัยร้ายด้านสุขภาพและอนาคตของโลกที่เกิดจากฟาร์มสัตว์เชิงอุตสาหกรรม
เนื่องในวันอนามัยโลก (World Health Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 7 เมษายนของทุกปี องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจึงถือโอกาสนี้เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ ซึ่งมีเนื้อหาระบุถึงผลกระทบร้ายแรงที่สุดต่อสุขภาพมนุษย์ที่มีสาเหตุมาจากการทำฟาร์มสัตว์เชิงอุตสาหกรรม และแนวโน้มของสถานการณ์ที่อาจเลวร้ายขึ้น หากความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากทั่วทุกมุมโลก
รายงานฉบับล่าสุดจากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก “ภัยคุกคามสุขภาพที่ซ่อนไว้ในระบบปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม” (The Hidden Health Impacts of Industrial Livestock Systems) ได้แสดงให้เห็นแล้วว่ารัฐบาลทั่วโลกยังคงเพิกเฉยต่อความเสี่ยงด้านสาธารณสุขที่มีสาเหตุมาจากการทำฟาร์มสัตว์เชิงอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้สัตว์หลายพันล้านตัวต้องจมอยู่กับความทุกข์ทรมาน
ภายในปีพ.ศ.2573 การบริโภคเนื้อสัตว์มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก 30% ในทวีปแอฟริกา, 18% ในทวีปเอเชีย-แปซิฟิก, 12% ในทวีปลาตินอเมริกา, 9% ในทวีปอเมริกาเหนือ และ 0.4% ในทวีปยุโรป นั่นหมายถึงสัตว์หลายพันล้านชีวิตต้องพิการ และถูกกักขังในกรงที่คับแคบไปตลอดทั้งชีวิต โดยมากกว่า 70% ของสัตว์บกจำนวน 80 ล้านตัวทั่วโลก ถูกเลี้ยงและฆ่าในฟาร์มปศุสัตว์ที่เต็มไปด้วยกระบวนการผลิตที่โหดร้ายทุกปี
ผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากการทำฟาร์มปศุสัตว์แบบอุตสาหกรรม
เนื่องจากความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ฟาร์มอุตสาหกรรมยังคงมีอำนาจต่อระบบผลิตอาหารและทำให้ผลกระทบต่อสุขภาพยิ่งเลวร้าย
งานวิจัยชิ้นนี้เกิดขึ้นภายใต้ 5 ปัจจัยหลักที่ระบบผลิตอาหารส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพของมนุษย์ จากการนิยามขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO)
ซึ่งองค์กรพิทักษ์แห่งโลกได้อธิบายถึงผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นจากการทำฟาร์มสัตว์เชิงอุตสาหกรรม ไว้ดังนี้
1. ภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) และภาวะน้ำหนักเกิน (Overweight)
ระบบฟาร์มสัตว์เชิงอุตสาหกรรมเริ่มเข้ามาแทนที่การผลิตอาหารท้องถิ่น โดยที่ดินถูกนำไปใช้เพื่อปลูกพืชอาหารสัตว์ ซึ่งบ่อนทำลายโภชนาการและความมั่นคงทางอาหาร ในขณะเดียวกัน ปริมาณเนื้อสัตว์ที่ผลิตจากฟาร์มสัตว์เชิงอุตสาหกรรมยังนำไปสู่การบริโภคเนื้อสัตว์ที่มากเกินความจำเป็น ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ปัจจัยสำคัญของโรคเรื้อรัง
2. เชื้อดื้อยาและโรคภัยไข้เจ็บ
3 ใน 4 ของยาปฏิชีวนะที่มีอยู่ในโลกถูกนำมาใช้ในฟาร์มสัตว์เชิงอุตสาหกรรม เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยหรือรักษาอาการเจ็บป่วยของสัตว์ และยังช่วยกระตุ้นให้สัตว์เติบโตอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ หรือ“ซูเปอร์บั๊ก” ที่ทำให้มนุษย์ไม่สามารถต่อสู้กับการติดเชื้อแบคทีเรีย จากงานวิจัยฉบับใหม่พบว่า ในแต่ละปีมีคนต้องตายจากซูเปอร์บั๊กมากกว่า 1.27 ล้าน และมีการคาดการณ์ไว้ว่าภายในปีพ.ศ. 2593 การติดเชื้อซูเปอร์บั๊กจะกลายเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของคนทั่วโลก
อีกทั้งสัตว์ในฟาร์มยังคงถูกจองจำจำกัดพื้นที่ในการใช้ชีวิตให้อยู่อย่างแออัดในคอกแคบๆ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคไข้หวัดหมู หรือโรคไข้หวัดนก ที่สามารถถ่ายทอดต่อมายังมนุษย์ได้
3. อาการเจ็บป่วยจากอาหาร
แนวทางปฏิบัติที่โหดร้ายภายในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทำให้สัตว์เกิดความเครียดนั้น เพิ่มโอกาสทำให้ผู้บริโภคเนื้อสัตว์ได้รับแบคทีเรีย หรือปรสิตเข้าไป จนสามารถล้มป่วยได้ เช่น เชื้อซาลโมเนลล่า โดยพบว่าประมาณ 35% ของคนที่ล้มป่วยในแต่ละปีเกิดจากการรับประทานเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์เช่นนมและไข่ ทำให้ประเทศที่มีรายได้ต่ำต้องสูญเสียกำลังการผลิต (Productivity) และค่ารักษาพยาบาลมูลค่าหลายพันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อปี
4. อาการเจ็บป่วยจากการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม
มูลสัตว์จำนวนมหาศาลจากฟาร์มสัตว์ได้สร้างมลภาวะทางอากาศ ที่จำแนกเป็นก๊าซอันตรายมากกว่า 400 ชนิด โลหะหนักอย่างแร่สังกะสีที่อยู่ในอาหารสัตว์ เมื่อถูกขับถ่ายออกมาในรูปแบบของมูลสัตว์ก็จะปนเปื้อนทางน้ำแหล่งน้ำ การปนเปื้อนของโลหะหนักในอาหารสัตว์ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยมากกว่า 1 ล้านครั้งในทุกปี นอกจากนั้นยังมียาฆ่าแมลงที่ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ รวมถึงอยู่ในพืชที่จะปลูกเพื่อไปทำอาหารสัตว์ ผลกระทบเชิงลบจากการปนเปื้อนทางน้ำและอากาศจะส่งผลทกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้ฟาร์มสัตว์หรือแหล่งผลิตอาหารสัตว์
5. ผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของพนักงานฟาร์มปศุสัตว์
ภายใต้ฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรม สุขภาพกายและจิตใจของพนักงานต้องถูกบั่นทอนจากสภาพสิ่งแวดล้อมในฟาร์มที่ย่ำแย่ในหลายขั้นตอนของกระบวนการผลิตตั้งแต่การเลี้ยง การฆ่าสัตว์ การแปรรูปและการบรรจุ ซึ่งพนักงานต้องเผชิญกับการบาดเจ็บทั้งทางร่างกายและจิตใจ
Jacqueline Mills หัวหน้าแคมเปญสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า
“ฟาร์มปศุสัตว์กำลังทำให้พวกเราป่วย ดูเผินๆว่าเนื้อสัตว์จากฟาร์มอุตสาหกรรม ปลาและผลิตภัณฑ์นม จะมีราคาถูก แต่มูลค่าจริงที่ไม่ได้ปรากฎอยู่บนป้ายราคาคือสิ่งที่เราและภาครัฐต้องจ่ายเพื่อจัดการกับผลกระทบด้านสุขภาพจำนวนหลายหมื่นล้านบาทต่อปี”
“เราต้องหยุดวงจรแห่งความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นในระบบผลิตอาหาร และการสนับสนุนของภาครัฐต่อระบบอุตสาหกรรมเท่ากับการส่งสัตว์จำนวนมากไปสู่ความทารุณโหดร้าย ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องหันมาให้ความสำคัญกับระบบอาหารที่มีความยั่งยืน จะนำมาสู่สุขภาพที่ดีขึ้นของประชาชน ชีวิตที่ดีขึ้นของสัตว์ และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นของโลกใบนี้”
“ไม่มีอนาคตสำหรับฟาร์มอุตสาหกรรมอีกต่อไป เราต้องยับยั้งไม่ให้เกิดฟาร์มอุตสาหกรรมขึ้น เพื่อนำไปสู่อุตสาหกรรมอาหารที่มีมนุษยธรรมและยั่งยืน ที่คนส่วนใหญ่จะบริโภคอาหารจากพืชเป็นหลัก ในขณะที่สัตว์สามารถใช้ชีวิตอยู่ในฟาร์มปศุสัตว์ที่มีการจัดการด้านสวัสดิภาพสัตว์และมีชีวิตที่ดีได้”
ปฏิรูประบบผลิตอาหาร
การสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างประโยชน์สูงสุดด้านสุขภาพต่อประชากรโลก โดยหนึ่งในความพยายามดังกล่าวได้แก่ การปรับเปลี่ยนเงินอุดหนุนให้แก่ฟาร์มที่มีแนวทางปฏิบัติที่เป็นมนุษยธรรมและยั่งยืนมากกว่าฟาร์มสัตว์แบบอุตสาหกรรม การสนับสนุนความพยายามในการลดการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์ รวมถึงความพยายามในประเทศที่พบว่ามีการบริโภคเนื้อสัตว์สูง การสนับสนุนให้เนื้อสัตว์จากพืชมีราคาที่เข้าถึงได้ และการสนับสนุนช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพจากการทำฟาร์มอุตสาหกรรม
การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นจริงได้ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกขอเรียกร้องให้รัฐบาลนานาประเทศประกาศยุติการสนับสนุนการทำฟาร์มสัตว์แบบอุตสาหกรรม ตลอดจนบังคับใช้มาตรฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่สูงขึ้น