ไก่เนื้อ101: จุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมไก่เนื้อ
ข่าว
เอกอีเอ้กเอยยยยยย .. อีกหนึ่งสัตว์คู่บ้านคู่เมืองไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ การเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมือง เช่น ไก่อู ไก่ตะเภา และไก่แจ้ ได้รับความนิยมตั้งแต่กลุ่มชนชั้นสูง ไปจนถึงชาวบ้านทั่วไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการชนไก่เป็นหลัก และแทบไม่มีใครเคยคิดอยากจะกินเนื้อของสัตว์ปีกนี้เลย แต่แล้วทำไมวันนี้ เจ้าไก่ถึงได้กลายมาเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารหลากหลายเมนูไปซะได้?
“ช่วยกินไข่สร้างชาติ สร้างพลามัยของพลเมือง”
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 แนวคิดเรื่องการกินอาหารให้ครบตามหมวดหมู่หลักโภชนาการแพร่หลายอย่างมาก ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าว บุคลากรทางการแพทย์ของไทยซึ่งได้รับทุนไปเรียนรู้วิชาการใหม่เกี่ยวกับอาหารและโภชนาการที่กำลังตื่นตัวในสหรัฐอเมริกาก็เอาความรู้เหล่านั้นมาปฏิบัติในไทย จนนโยบายเกี่ยวกับอาหารและโภชนาการของไทยเริ่มปรากฏและมีการดำเนินการจริงจัง โดยชู “ไข่ไก่” ให้เป็นแหล่งสารอาหารที่คนไทยขาดไม่ได้
การทำฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่แบบตะวันตกในเมืองไทยริเริ่มโดย หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ผู้หลงไหลด้านการเกษตรและการเลี้ยงไก่ไข่เป็นอย่างมาก ท่านได้สั่งนำเข้าไก่ไข่เล็กฮอร์น ทั้งตัวผู้และตัวเมียร่วม 100 ตัวจากประเทศสหรัฐอเมริกาเข้าประเทศไทย ถือเป็นผู้เลี้ยงไก่เอาไข่เป็นการค้าคนแรกของเมืองไทย
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่บุกเบิกพัฒนาระบบการเลี้ยงไก่แบบใหม่ อย่างการเลี้ยงไก่ไข่แบบขังกรง หรือที่ในสมัยก่อนเรียกว่า “โรงแรมไก่” คือ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ บิดาแห่งอาชีพการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ท่านดำเนินธุรกิจฟาร์มไก่ไข่เชิงพาณิชย์ต่อเนื่อง จนกระทั่งสงครามมหาเอเชียบูรพาปะทุขึ้น ทุกอย่างเลยต้องหยุดชะงัก
แต่ในปี พ.ศ.2489 หนึ่งปีหลังสงครามสิ้นสุดลง การพัฒนาระบบการเลี้ยงไก่ไข่เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง และได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาลไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก มีการทดลองนำเข้าไก่ไข่พันธุ์โรดไอส์แลนเรดจากสหรัฐอเมริกา และพันธุ์ออสตราล็อปจากออสเตรเลียนำมาศึกษาทดลองที่แผนกสัตว์เล็ก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน
เพื่อหาสายพันธุ์ที่เหมาะสมต่อสภาพอากาศเมืองไทย โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงไก่และการควบคุมโรคสัตว์ปีกจากองค์กรสหประชาชาติเดินทางเข้ามาช่วยเหลือ และเริ่มมีการผลิตอุปกรณ์ในการเลี้ยงไก่ภายในประเทศ
ส่งเนื้อไก่ไปต่างประเทศสำเร็จเป็นครั้งแรก
การเพาะข้ามสายพันธุ์จากไก่ไข่เป็นไก่เนื้อเกิดขึ้นในทวีปอเมริกาเหนือ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มนุษย์สามารถเลี้ยงไก่ตัวใหญ่และมีเนื้อเยอะขึ้นกว่า โดยผู้ประกอบการยังสามารถควบคุมต้นทุนให้อยู่เท่าเดิม เรียกว่า “ไก่เนื้อ” (Broiler Chicken) ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน
เมืองไทยเองก็เริ่มเล็งเห็นโอกาสการลงทุนด้านธุรกิจฟาร์มไก่เนื้อ โดยในปีพ.ศ.2500 กระทรวงมหาดไทยได้เริ่มดำเนินการโดยผสมไก่พ่อพันธุ์ไก่เนื้อกับแม่พันธุ์ไก่ไข่ลูกผสม เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนทั่วไปนำไปเลี้ยงต่อ ชาวบ้านเรียกไก่สายพันธุ์นี้ว่า “ไก่ซี” แต่ปริมาณการผลิตค่อนข้างน้อย และมีประสิทธิภาพการเติบโตไม่ค่อยดีนัก
ผู้ประกอบการฟาร์มเจ้าใหญ่หลายแห่งในสมัยนั้น จึงรวมตัวกันสั่งนำเข้าไก่เนื้อจากต่างประเทศเข้ามา เพราะตระหนักดีว่า การดำเนินธุรกิจให้ประสบผลดีนั้น ฟาร์มไก่เนื้อจำเป็นต้องมีพันธุ์ไก่และเทคโนโลยีที่ดีที่สุด
จนนำไปสู่การก่อตั้งบริษัทในลักษณะการร่วมทุน (Joint Venture) กับบริษัทต่างประเทศ ทำหน้าที่เลี้ยงไก่ปู่ย่าพันธุ์ เพื่อผลิตและจำหน่ายพ่อแม่พันธุ์ไก่เนื้อ พร้อมส่งเสริมการอบรมด้านการจัดการโรค และอาหารไก่จากผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา
ปริมาณไก่เนื้อที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อป้อนตลาดภายในประเทศเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนสิบปีต่อมาเกิดปัญหาสินค้าล้นตลาด มีไก่เนื้อถูกผลิตขึ้นมา 1-2 ล้านตันต่อสัปดาห์ ซึ่งมากเกินความต้องการของประชาชน โรงงานแปรรูปไก่ที่ทันสมัยที่สุดในช่วงเวลานั้นจึงตัดสินใจส่งไก่สดแช่แข็ง คิดเป็นน้ำหนักรวมราว 165 ตันไปประเทศญี่ปุ่นในปีพ.ศ.2516 ซึ่งถือเป็นการส่งออกเนื้อไก่ครั้งแรกของประเทศไทย
เนื้อไก่ถูกบริโภคมากที่สุดต่อเนื่อง 20 ปี
ผลจากการส่งออกชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเนื้อไก่สดแช่แข็ง เช่น ส่วนน่อง และเนื้อออกถอดกระดูก ยิ่งเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมไก่เนื้อในเมืองไทยเพิ่มช่องทางการตลาด จากความต้องการเนื้อไก่ทั้งในและต่างประเทศ บริษัทผลิตไก่เนื้อในไทยจึงเริ่มก่อสร้างโรงงานแปรรูปไก่กันมากขึ้นเพื่อนำเข้าเทคโนโลยีการแปรรูปที่ทันสมัยมาใช้
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลักษณะการร่วมทุน (Joint Venture) กับบริษัทในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และหลายประเทศจากยุโรป จนนำไปสู่การส่งออกไก่ไปประเทศญี่ปุ่นอีกครั้งในปีพ.ศ.2542 แต่ในลักษณะผลิตภัณฑ์แปรรูปแช่แข็ง หลังจากนั้น
อุตสาหกรรมไก่เนื้อในเมืองไทยก็เริ่มมีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมผ่านกรรมวิธีต่าง ๆ เช่น การทอด การนึ่ง และการย่าง ตามความต้องการของประเทศที่นำเข้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการผลิตลูกไก่เนื้อ ไก่เนื้อ ผลิตภัณฑ์ไก่สด ไก่สดแช่แข็ง และไก่ปรุงสุก มีปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี จากเพียง 15 ล้านตัวต่อปีในปีพ.ศ.2515 เป็น 1,000 กว่าล้านตัวในปีพ.ศ.2556
เนื้อไก่เป็นแหล่งโปรตีนราคาถูกเมื่อเทียบกับวัว หรือปลา แต่ละปี คนทั่วโลกบริโภคไก่มากถึง 5 หมื่นล้านตัว ในขณะที่คนไทยบริโภคไก่เฉลี่ยคนละ 10-15 กิโลกรัมต่อปี สื่อสัญชาติอังกฤษยักษ์ใหญ่ The Guardian รายงานว่า ภายในปีนี้ McDonald's ทุกสาขาทั่วโลกอาจต้องใช้ไก่มากกว่าในอดีตถึง 10 เท่า สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการบริโภคเนื้อไก่ที่มีแนวโน้มสูงเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในธุรกิจร้านอาหารแบบ Quick Service Restaurant (QSR) หรือร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด (Fast-Food Restaurant)
เมื่อผู้บริโภคต้องการเนื้อไก่มากขนาดนี้ ธุรกิจฟาร์มไก่เลยต้องหาวิธีสร้างเนื้อไก่ให้ได้มากและต้นทุนน้อยที่สุด โดยไก่จำนวนมากยังได้รับการเลี้ยงดูในฟาร์มเลี้ยงที่มีสวัสดิภาพต่ำ อีกทั้งแบรนด์ดังหลายเจ้ายังขาดความชัดเจนและไม่มีนโยบายในการเปิดเผยข้อมูลการจัดหาวัตถุดิบที่มีมาตรฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์ต่อผู้บริโภค
มาร่วมกันสร้างระบบผลิตเนื้อไก่ที่ส่งผลดีต่อชีวิตสัตว์ สุขภาพของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการ Change for Chickens