แคมเปญร่วมลงชื่อเสนอ "ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย" ฉบับภาคประชาสังคม ปลดแอกช้างไทยจากความทุกข์ทรมาน ปฏิรูปคุณภาพชีวิตตามมาตรฐานสากล ได้มีผู้สนับสนุนครบตามจำนวน ตาม พ.ร.บ. การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งรัฐสภามีหน้าที่ต้องรับร่างกฎหมายเข้าพิจารณา
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้เป็นตัวแทนประชาชนยื่น ‘ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย’ ฉบับภาคประชาสังคม ที่มีผู้สนับสนุนกว่า 15,938 คน แก่รัฐสภา ตั้งแต่ปี 2565
ช้างไทยเจอปัญหาอะไรบ้าง?
กฎหมายคุ้มครองไม่ทั่วถึง
ช้างเป็นสัตว์ป่า สมควรได้อยู่ในป่า แต่ปัจจุบัน กฎหมายและนโยบายของประเทศไทยยังมีความไม่ทันสมัยและคลุมเครืออยู่มาก มีการแบ่งแยกช้างออกเป็น 'ช้างป่า' และ 'ช้างเลี้ยง' แม้พวกมันจะมีองค์ประกอบทางพันธุกรรมเป็นช้างป่าเหมือนกัน แต่ช้างเลี้ยงกลับถูกกำหนดให้เป็นเพียง 'พาหนะ' และ 'สินค้าเกษตร' เท่านั้น กลายเป็นช่องโหว่ที่ทำให้ช้างจำนวนมากถูกนำมาหาประโยชน์เชิงพาณิชย์อย่างโหดร้ายทารุณ
กระบวนการฝึกช้างที่โหดร้ายทารุณ
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวราว 2,800 ชีวิต พวกมันถูกผสมพันธุ์เชิงพาณิชชย์ และต้องผ่านกระบวนการฝึกที่โหดร้ายทารุณตั้งแต่ยังเด็ก เช่น การใช้ขอสับ ใช้ไม้ทุบตี การล่ามโซ่ด้วยสั้นๆ การบังคับให้อยู่ในสถานการณ์ตึงเครียด ฯลฯ สร้างความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อทำลายสัญชาตญาณสัตว์ป่าของช้าง ให้พวกมันยอมทำตามคำสั่งมนุษย์
ช้างถูกบังคับให้แสดงพฤติกรรมผิดธรรมชาติ
ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ช้างถูกบังคับให้แสดงพฤติกรรมที่ขัดกับธรรมชาติของสัตว์ป่า เพื่อสร้างความบันเทิงให้นักท่องเที่ยว อย่างที่รู้จักกันดี เช่น กิจกรรมโชว์ช้าง ขี่ช้าง อาบน้ำช้าง ให้อาหารช้าง ฯลฯ โดยที่นักท่องเที่ยวหลายคนไม่เคยทราบเลยว่าเบื้องหลังสิ่งที่ดูเหมือนความน่ารักแสนรู้ คือความโหดร้ายทารุณและการจำกัดอิสรภาพที่ช้างต้องเผชิญตลอดชีวิต
ความเป็นอยู่ในปางช้างย่ำแย่
นอกจากปัญหาการทารุณกรรมรูปแบบต่างๆ แล้ว ช้างจำพนวนมากยังไม่ได้รับสวัสดิภาพตามมาตรฐานสากล ผลสำรวจของเราพบว่าช้างไทยกว่า 70% มีคุณภาพชีวิตย่ำแย่ และมีเพียง 5% เท่านั้นที่มีคุณภาพชีวิตอยู่ในเกณฑ์ดี ไม่ถูกบังคับให้แสดงพฤติกรรมผิดธรรมชาติ มีอิสระในการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกับชีวิตในป่าที่สุด
ถูกผสมพันธุ์เชิงพาณิชย์ ไม่มีประโยชน์ต่อการอนุรักษ์
ปัจจุบัน การผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์ทำได้อย่างเสรี และยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ไม่มีนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการจำนวนมากขาดรายได้ที่จะดูแลช้างที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ การผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์ยังไม่มีประโยชน์ต่อกการอนุรักษ์ช้างป่าอย่างที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวพยายามกล่าวอ้างแต่อย่างใด
ทำไมควรหยุด "ผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์" ?
การลงชื่อสนับสนุน ’ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย’ ฉบับภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดการปฏิรูปเชิงกฎหมายและนโยบายอย่างจริงจังและยั่งยืน
- กำหนดนิยามรูปแบบการทารุณกรรมที่เกิดขึ้นกับช้างให้ชัดเจนและครอบคลุม เช่น การทำร้ายร่างกายช้าง การปล่อยให้ช้างหิวโหย กระบวนการฝึกที่โหดร้ายทารุณ การใช้งานช้างแสดงโชว์ และกิจกรรมอื่นๆ ที่ผิดธรรมชาติของสัตว์ป่า ฯลฯ
- กำหนดให้การจัดสวัสดิภาพช้างขั้นต่ำที่สุดเป็นไปตามหลักอิสรภาพ 5 ประการ (แนวทางสากลด้านสวัสดิภาพสัตว์)
- ยุติการผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์ โดยยกเว้นกรณีเพื่อการอนุรักษ์และการศึกษาวิจัยเท่านั้น
- สร้างความชัดเจนกระบวนการแจ้งเกิด แจ้งตาย และเอกสารประจำตัวช้างที่รัดกุม เพื่อป้องกันการค้าชิ้นส่วน การสวมตั๋วรูปพรรณช้าง
- จัดตั้ง ‘กองทุนช้างแห่งชาติ’ สนับสนุนงบประมาณให้ปางช้างทั่วประเทศปรับเปลี่ยนรูปแบบมาสู่การเป็น ‘ปางช้างที่เป็นมิตรกับช้าง’
- จัดตั้ง ‘คณะกรรมการช้างไทยแห่งชาติ’ และ ’สมัชชาช้างไทย’ ทำหน้าที่ขับเคลื่อน แก้ไขปัญหา และกำกับทิศทางนโยบายที่เกี่ยวข้องกับช้างไทย
- กำหนดบทลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญาสำหรับผู้ฝ่าฝืน เพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำซาก
- ยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่มีความไม่ทันสมัยและซ้ำซ้อน