ดราม่า KFC โดนกระแสต่อต้าน หลังถูกกล่าวหาหลอกลวงผู้บริโภค เกี่ยวกับสวัสดิภาพไก่
บล็อก
กลุ่มนักกิจกรรมด้านสิทธิสัตว์ปล่อยคลิปฟาร์มที่แออัด ไก่ตายเกลื่อน ยืนยันสิ่งที่เห็นตรงข้ามกับข้อมูลในคลิปที่ KFC ทำร่วมกับยูทูปเบอร์ชื่อดังโดยสิ้นเชิง
กลายเป็นอีกหนึ่งกระแสที่ได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก หลังจากสำนักข่าวหลายสำนักรวมถึง สำนักข่าวชื่อดังอย่าง The Guardian ออกมาเปิดเผยว่า แบรนด์ไก่ทอดชื่อดังอย่าง KFC ถูกกล่าวหาโดยกลุ่มนักกิจกรรมด้านสิทธิสัตว์ว่าบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของไก่ในฟาร์ม ในคลิปที่ชื่อว่า “Behind the Bucket” ซึ่งเป็นคลิปที่ KFC จัดทำขึ้นร่วมกับยูทูปเบอร์ชื่อดัง
คลิปวิดีโอดังกล่าวปล่อยเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ถูกเข้าชมกว่าหนึ่งล้านครั้งบน twitter account ของสำนักข่าว Joe.co.uk เป็นคลิปที่ยูทูปเบอร์ชาวสหราชอาณาจักร นิโกะ โอมิลานา (Niko Omilana) พาไปเยี่ยมชมฟาร์มแห่งหนึ่งของบริษัท มอย ปาร์ค (Moy Park) ผู้ผลิตไก่เนื้อรายใหญ่ในยุโรปและเป็นผู้ส่งไก่ให้ KFC
ภาพจากคลิปเผยให้เห็นโรงเลี้ยงที่ปูด้วยวัสดุรองพื้นที่สดใหม่ ไก่มีพื้นที่วิ่งเล่นอย่างมีความสุข พร้อมทั้งอุปกรณ์อย่างคอนเกาะ และกระดิ่งให้ไก่เล่นและกระตุ้นการแสดงพฤติกรรทางธรรมชาติเพื่อลดความเครียด ตามธรรมชาติแล้วไก่เป็นสัตว์ที่ฉลาดและขี้สงสัย การได้ทำกิจกรรมตามธรรมชาติหรือการมีอุปกรณ์ดังกล่าวจึงมีความสำคัญยิ่งในการบำรุงสุขภาพกายและใจของไก่ให้สดใสแข็งแรง
อย่างไรก็ตาม ในเดือนกุมภาพันธุ์ปีนี้ บริษัทผลิตอาหารวีแกน VFC ได้เปิดเผยคลิปที่เข้าไปสำรวจในฟาร์มแห่งเดียวกันและพบข้อมูลที่น่าตกใจ ไก่ใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่แออัดยัดเยียดอย่างหนัก บนวัสดุรองพื้นที่เปียกชุ่มไปด้วยของเสียมูลไก่ คอนเกาะที่เคยมีให้ไก่เล่นก็คงเหลือไว้แค่อันเดียว สำหรับไก่กว่า 50,000 ตัวในโรงเลี้ยงหลังดังกล่าวซึ่งถูกยกขึ้นสูงเกือบถึงเพดานเกินกว่าที่ไก่จะสามารถบินขึ้นไปถึง ส่วนอุปกรณ์อื่นๆอย่างกระดิ่งก็หายไปเช่นกัน นอกจากนี้ยังพบซากไก่ตายและไก่ป่วยพิการเดินไม่ได้ตามพื้นและถังขยะที่เต็มไปด้วยซากไก่จำนวนมาก
หลังจากวิดีโอคลิปถูกเผยแพร่ออกไป ศาสตราจารย์แอนดรูว์ ไนท์ จากศูนย์สวัสดิภาพสัตว์ มหาวิทยาลัยเวสต์เชสเตอร์ ให้ความเห็นว่า ไก่ที่อยู่ในวิดีโอถูกเลี้ยงในโรงเลี้ยงขนาดใหญ่ที่มีความหนาแน่นสูงมาก และขาดวัสดุอุปกรณ์ที่เอื้อให้ไก่แสดงพฤติกรรมทางธรรมชาติ ความแออัดและสภาพแวดล้อมที่น่าเบื่อและปราศจากสิ่งเร้าแปลว่าไก่แต่ละตัวมีพื้นที่น้อยมากในการเดินและขยับร่างกาย และไม่สามารถแสดงพฤติกรรมทางธรรมชาติที่ไก่ชอบทำอย่างเช่น การเดินคุ้ยเขี่ยหาอาหารหรือสำรวจสภาพแวดล้อมโดยรอบ
นายสัตว์แพทย์พอล โรเจอร์ ผู้ก่อตั้งสมาคมด้านวิทยาศาสตร์สวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare Science, Ethics and Law Veterinary Association) กล่าวว่า:
"ไก่ในคลิปของ VFC แสดงพฤติกรรมที่บ่งชี้ถึงสภาวะความเครียด คือ มีร่องรอยของพฤติกรรมจิกขนและบาดแผลจากโรคผิวหนัง"
นอกจากนี้ แมทธิว โกลเวอร์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท VFC กล่าวถึงสิ่งที่พบว่า:
"นี่คือแผนการตลาดจอมปลอมที่เราเห็นมาโดยตลอด มันคือความพยายามในการสร้างภาพและให้ความมั่นใจต่อผู้บริโภคของ KFC ว่าบริษัทใส่ใจเรื่องสวัสดิภาพไก่ ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ไม่เป็นความจริงแม้แต่นิดเดียว"
ในขณะเดียวกัน ตัวแทนของ KFC ออกมาตอบโต้ต่อข้อกล่าวหาดังกล่าวและชี้แจงว่าทางบริษัทให้ความสำคัญอย่างมากต่อสวัสดิภาพของไก่ที่นำมาเสริฟในร้านอาหารของ KFC และจะทำงานร่วมกับบริษัท มอย พาร์ค อย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพไก่ในฟาร์ม พร้อมทั้งดำเนินงานด้วยความโปร่งใสและเปิดเผยข้อมูลนี้ต่อสาธารณะ
ตัวแทนจากบริษัท มอย พาร์ค กล่าวว่า:
"บริษัทให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและกำลังตรวจสอบคลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่ออกมาร่วมกับทีมผู้ตรวจสอบและทีมสัตว์แพทย์"
หากมองย้อนไปเมื่อปี 2019 ร้าน KFC ในหลายประเทศในยุโรปซึ่งรวมถึง KFC ในสหราชอาณาจักรได้มีการประกาศเจตนารมณ์ในการยกระดับสวัสดิภาพไก่ตามมาตรฐานที่เรียกว่า The Better Chicken Commitment แล้ว โดยจะมีผลใน ปี 2026 ที่จะถึงนี้ และจากรายงานการจัดอันดับบริษัทฟาสต์ฟู้ด The Pecking Order 2021 ขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก KFC ในสหราชอาณาจักรก็แสดงจุดยืนที่ชัดเจนและมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก ในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2026 ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่บริษัทฟาสต์ฟุ้ดชั้นนำ แสดงให้เห็นว่าสวัสดิภาพสัตว์คือประเด็นสำคัญที่ถูกนำไปคำนึงถึงในการดำเนินงานของบริษัท
อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่ง เราทราบกันดีว่า KFC เป็นแบรนด์ที่ทำการตลาดได้อย่างดีเยี่ยม เป็นไปได้หรือไม่ว่าการขับเคลื่อนเรื่องสวัสดิภาพไก่ที่ผ่านมาคือแผนการตลาดอันแยบยลของ KFC ในการพยามทำให้เหมือนว่าบริษัทให้ความใส่ใจต่อสวัสดิภาพไก่ โดยเฉพาะในซีกโลกที่ผู้บริโภคมีความตื่นตัวด้านสวัสดิภาพสัตว์ อย่างที่แมทธิว โกลเวอร์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท VFC ได้กล่าวไว้ เพราะถ้าลองมาวิเคราะห์ดูอย่างละเอียดในอีกมุม อาจตั้งคำถามได้เช่นกันว่า หาก KFC มีวิสัยทัศน์และความใส่ใจเรื่องสวัสดิภาพไก่จริง ทำไมนโยบายนี้ถึงไม่ได้มีการขับเคลื่อนไปพร้อมๆกันในทุกสาขาของ KFC ทั่วโลก นอกจากนี้ KFC ในตลาดอื่นๆอย่างเช่นประเทศไทย ก็ไม่เคยออกมาเปิดเผยข้อมูลที่มาของไก่ แถมยังมีความเพิกเฉยต่อความพยายามของภาคประชาสังคมและความต้องการของผู้บริโภคกว่า 20,000 รายชื่อที่อยากเห็นไก่ของ KFC ประเทศไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นเพราะผู้บริโภคในฝั่งบ้านเรามีความตื่นตัวเรื่องนี้น้อยกว่าฝั่งยุโรป เลยรู้สึกว่าไม่ต้องทำอะไรในประเทศไทยอย่างนั้นหรือ?
นี่คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูและผลักดันกันอย่างต่อเนื่อง KFC ถือเป็นแบรนด์ไก่ทอดยอดนิยมอันดับต้นๆ ของคนไทย และมี “ไก่” เป็นหัวใจหลักในการประกอบธุรกิจ จึงยิ่งต้องมีความรับผิดชอบในการผลักดันให้มีมาตรฐานในการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมทัดเทียมกันในทุกสาขาทั่วโลก เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ถึงเวลาที่ทางองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ผู้บริโภค และกลุ่มคนที่อยากให้ไก่มีชีวิตที่ดีขึ้นควรที่จะได้เห็น KFC ประเทศไทยออกมาแสดงถึงความรับผิดชอบและลงนามใน The Better Chicken Commitment ว่าจะคัดเลือกเนื้อไก่จากฟาร์มที่ใส่ใจในสวัสดิภาพสัตว์มาจำหน่ายให้กับผู้บริโภค ตลอดจนรายงานความคืบหน้าของความสำเร็จแก่สาธารณะเป็นประจำทุกปีได้แล้ว!
KFC ในฐานะเฟรนไชก็ควรมีมาตรฐานทัดเทียมกันทั่วโลก รวมถึงผู้บริโภคชาวไทยที่มีสิทที่จะรับรู้ที่มาของอาหารและเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพและไร้ความทรมาน KFC ควรยกระดับนโยบายสวัสดิภาพสัตว์ให้สอดคล้องกันทั่วโลกตาม BCC ได้แล้ว
อ้างอิง
https://vfcfoods.com/where-does-kfc-chicken-come-from/
https://vfcfoods.com/kfcs-spectacular-marketing-misfire/