ข้าวโพด 🌽 ไก่ 🐓 คนป่วย 😷 เกี่ยวข้องให้ต้องร่วมด้วยช่วยกัน 🤝 อย่างไร หากใครพลาดงานเสวนา “ควันข้าวโพดโคตรดีเยี่ยม?” ที่ตีแผ่เบื้องหลังการเพิ่มขึ้นกว่า 116% ของผู้ป่วยจากมลพิษทางอากาศ ซึ่งมีจำนวนกว่า 10.5 ล้านคนในปี 2566 ว่ามีความเกี่ยวข้องกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะจากการที่ไทยเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่อันดับ 3 ของโลก ที่มีความต้องการใช้อาหารสัตว์กว่า 20 ล้านตันในปีเดียวกัน -- โดยคิดเป็นความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ถึง 50% -- ขอเชิญหาคำตอบทางนี้
การที่แต่ละปีมนุษย์จำนวนเพียง 8 พันล้านคน ต้องเลี้ยงสัตว์กว่า 8 หมื่นล้านตัว เพื่อนำมาเป็นอาหาร ซึ่งสำหรับในประเทศไทย เฉพาะไก่ที่เราเลี้ยงเป็นอาหารก็มีจำนวนกว่า 519 ล้านตัว ขณะที่ประชากรเรามีเพียง 66 ล้านคน จึงมีความจำเป็นที่เราต้องปลูกพืชและใช้ทรัพยากรอย่างมหาศาลเพื่อนำมาเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ (ทั้งๆที่ในความเป็นจริง โปรตีนปริมาณ 100 กรัมจากเมล็ดพืชที่เราป้อนให้กับสัตว์นั้น จะกลายเป็นโปรตีนเพียง 43 กรัม ที่เราได้รับผ่านการบริโภคเนื้อสัตว์หรือนมวัวเท่านั้น) ซึ่งการที่เราผลิตเนื้อไก่ได้ 2.3 ล้านตันในประเทศ (เพื่อการบริโภคในประเทศเพียงครึ่งหนึ่งและส่งออกอีกครึ่งหนึ่ง) ทำให้เรามีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ถึง 8 ล้านตัน ขณะที่เราผลิตได้เพียง 4 ล้านกว่าตัน ทำให้พื้นที่ป่าจำนวน 10.6 ล้านไร่ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพด โดยในประเทศไทย 49% ของพื้นที่กว่า 7 ล้านไร่ที่มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งหมดถือเป็นพื้นที่ไม่เหมาะสม เช่นพื้นที่ป่า คนไทยจึงต้องประสบกับปัญหาฝุ่นควันทั้งที่ข้ามแดนมาและที่อยู่ในประเทศ เมื่อฤดูการปลูกข้าวโพดเวียนมาถึง
ด้วยเหตุนี้ 🐓 🌽 และ 😷 จึงมีความสัมพันธ์กันอย่างเห็นได้ชัด
สิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าตัวเลขผู้เจ็บป่วยจากมลพิษทางอากาศที่พุ่งสูงขึ้นขึ้นอย่างน่าตกใจซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจผลิตเนื้อสัตว์ที่ผูกขาดผลกำไรมหาศาล คือการที่นโยบายของรัฐดูเหมือนจะเอื้อประโยชน์ต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น ภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) รัฐบาลอนุญาตให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านโดยไม่เสียภาษี ซึ่งเอื้อให้บริษัทขนาดใหญ่สามารถนำเข้าวัตถุดิบราคาถูกได้อย่างไม่จำกัด อีกนโยบายของรัฐที่น่าวิตกอย่างยิ่งคือการสนับสนุนด้านสินเชื่อการเกษตรเพื่อการรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และแปรรูปผลผลิตจากเกษตรรายย่อย ในอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี แม้จะดูเหมือนเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร แต่ในความเป็นจริงกลับเปิดช่องให้เกิดการฟอกเขียวอย่างเป็นระบบ บริษัทขนาดใหญ่สามารถใช้ประโยชน์จากนโยบายนี้เพื่อขยายการผลิตโดยอ้างว่าเป็นการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย
ในขณะที่คนไทยกว่าสิบล้านห้าแสนคนต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคทางเดินหายใจอันเนื่องมาจากฝุ่นควันที่มีที่มาจากการเผาไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไก่จำนวนมหาศาลกว่าห้าร้อยล้านตัวก็ถูกเบียดเสียดยัดเยียดอยู่ในโรงเรือนอุตสาหกรรม ไม่เคยได้เห็นแสงแดดหรือสัมผัสโลกตั้งแต่เกิดจนตาย ยิ่งไปกว่านั้น ในขณะที่วิกฤตปัญหาฝุ่นควันทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี รัฐบาลกลับประกาศนโยบายผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกด้านการผลิตและส่งออกอาหารสัตว์ ราวกับว่าความทุกข์ทรมานของประชาชนและสัตว์นับล้านไม่มีความหมายใดๆ เลย
ถึงเวลาแล้วที่เราต้องตั้งคำถามว่า ระบบอาหารที่เป็นอยู่นี้ดำเนินไปเพื่อประโยชน์ของใคร หากทั้งหมดนี้มีจุดประสงค์เพียงเพื่อการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผูกขาดอุตสาหกรรมอาหารอยู่แล้ว เราจำเป็นต้องทบทวนและปรับเปลี่ยนแนวทางอย่างเร่งด่วน
เมื่อต้นปี 2567 พ.ร.บ. อากาศสะอาด ทั้ง 7 ร่าง รวมถึงร่างของประชาชน ได้รับการเห็นชอบในหลักการจากรัฐสภา และมีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญในการร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป สิ่งที่เราทำได้อย่างเป็นรูปธรรมและจะส่งผลต่อการควบคุมไม่ให้บริษัทใหญ่พ้นผิดลอยนวลได้ต่อไป ก็คือการร่วมจับตาไม่ให้มาตราที่สำคัญถูกตัดทอน โดยเฉพาะการกำกับควบคุมฝุ่นควันข้ามแดน เช่น การกำหนดให้บริษัทใหญ่ที่ผลิตอาหารสัตว์และเนื้อสัตว์ต้องเปิดเผยข้อมูลการลงทุนว่าไปลงทุนในพื้นใด มีเส้นทางการขนย้ายวัตถุดิบไปไหนบ้าง และหากพบว่ามีส่วนในการก่อมลพิษ ก็ต้องมีบทลงโทษด้วยการเก็บภาษีหรือค่าปรับ รวมทั้งให้สิทธิแก่ประชาชนในการฟ้องร้องและตรวจสอบผู้ที่สร้างมลพิษทางอากาศ เพราะหากปราศจากมาตรการที่สำคัญเหล่านี้แล้ว การแก้ปัญหาฝุ่นควันก็จะไปไม่ถึงต้นตอ รัฐมีโอกาสที่จะเป็นความหวังให้ประชาชนแล้ว จึงควรทำให้ถึงที่สุด และจัดการอย่างเด็ดขาด
ระบบอาหารปัจจุบันไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์และสัตว์ผ่านการทำปศุสัตว์อย่างเข้มข้นที่นำไปสู่การปลูกพืชเลี้ยงสัตว์อย่างมหาศาล จนทั้งปอดของคนและไก่พังไปตามๆ กันแต่ยังทำลายความหลากหลายทางชีวภาพและอธิปไตยทางอาหารอีกด้วย การปลูกพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่มหาศาล การใช้สารเคมีอย่างหนัก และการพึ่งพาวัตถุดิบจากบริษัทใหญ่ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์พืช ปุ๋ย สารเคมี การใช้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ วัคซีน ยารักษาโรค ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญต่อวิกฤตระบบอาหาร ดังเช่นคำกล่าวของเลขาธิการขององค์การสหประชาชาติที่ประกาศว่า “ระบบอาหารของโลกกำลังแตกสลาย และประชากรหลายพันล้านคนกำลังต้องรับกรรม” ประเทศไทยเองก็ถูกจัดเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก พื้นที่เกาะ ไม่ว่าจะเป็นเกาะล้าน หรือเกาะสมุย กำลังเผชิญวิกฤตขาดแคลนน้ำจืดอย่างหนัก เนื่องจากภาวะภัยแล้งและการลุกล้ำของน้ำเค็มเข้า จากผลกระทบจากภาวะโลกรวน หากเราไม่ใส่ใจที่มาของอาหารบนโต๊ะ อีกไม่นานเราคงไม่เหลืออาหารให้ละเลย
การร่วมด้วยช่วยกันจับตามองร่างกฎหมาย พ.ร.บ. อากาศสะอาดภาคประชาชน และการร่วมลงชื่อกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเพื่อร่วมสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน เรียกร้องให้บริษัทอาหารสัตว์ มีนโยบายการจัดซื้อวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ไม่มาจากแหล่งที่มีการรุกล้ำพื้นที่ป่า ตลอดจนปลอดการเผา รวมถึงเรียกร้องให้มีการตรวจสอบอย่างโปร่งใสและเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ จึงเป็นสิ่งที่เราทำได้เลยทันที ทั้งเพื่อแก้ทั้งปัญหาฝุ่นพิษในระยะยาว และเพื่อการซ่อมสร้างระบบอาหารที่แตกสลายแล้วให้กลับมาดีใหม่อย่างยั่งยืน