การนำช้างมาใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวตามปางช้างต่างๆ โดยขาดการดูแลช้างอย่างเหมาะสม เป็นปัญหาที่มีมาต่อเนื่องยาวนานในประเทศไทย ปัญหายิ่งทบทวีคูณขึ้นไปอีกจากการถูกกระหน่ำซ้ำเติมในช่วงสถานการณ์ที่เชื้อโควิด-19 แพร่ระบาด ทั้งการขาดนักท่องเที่ยว ขาดรายได้ ประจวบกับวิกฤติการสภาวะภูมิอากาศแห้งแล้ง ที่ทำให้อาหารตามธรรมชาติหาได้ยากยิ่งขึ้น เมื่อปางช้างไร้ทางออก ช้างย่อมจะรอดพ้นจากวิกฤติไปไม่ได้ ทำให้ต้องเผชิญทั้งเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร และโอกาสที่จะปรับปรุงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของช้างให้ดีขึ้นล้วนดูริบหรี่
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เล็งเห็นถึงวิกฤตินี้ จึงได้จัดแคมเปญต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ช้าง ไม่ให้ได้รับความทุกข์ทรมานภายใต้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยหนึ่งในกิจกรรมสำคัญคือการมอบทุนสนับสนุนปางช้างไทย ให้มีการปฏิบัติที่เป็นมิตรกับช้าง และสามารถดูแลช้างได้ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์อย่างยั่งยืน ภายใต้ โครงการพรุ่งนี้ที่ดีกว่าของช้าง (Build Back Better for elephants) โดยเปิดรับสมัครปางช้างที่ต้องการปรับปรุงรูปแบบการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากแบบดั้งเดิม สู่การท่องเที่ยวที่ “เป็นมิตรกับช้าง” ตามหลักเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานสากล โดยดำเนินโครงการในระยะเวลา 6 เดือน ปางช้างสองแห่งที่ได้รับเลือกให้ร่วมโครงการ นอกจากผู้ดูแลจะมีความมุ่งมั่นในการดูแลสวัสดิภาพของช้างแล้ว ยังมีแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน ยึดโยงกับชุนชม และมีเอกลักษณ์ตามวิถีประเพณีอีกด้วย
Elephant Peace Project เพิ่มแหล่งอาหารปลอดภัยให้ช้าง
ปางช้างแห่งแรกที่ได้รับเลือกให้ร่วมโครงการพรุ่งนี้ที่ดีกว่าของช้าง ได้แก่ ปางช้าง Elephant Peace Project (เอลละเฟิ่น พีช โปรเจค) บนเนื้อที่ 50 ไร่ ในตำบลแม่ยาว อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โดยมีช้างในปางทั้งหมดสองเชือก คือช้างเพศเมียอายุ 41 ปีและช้างเพศผู้อายุ 51 ปี ซึ่งการดูแลช้างสองเชือกนี้กลับกลายเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ เมื่อขาดรายได้อันเป็นผลจากสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 สมาชิกในปางช้างแห่งนี้ต้องช่วยกันออกไปตัดต้นกล้วย หรือต้นข้าวโพดจากต่างตำบลมาเป็นอาหารให้ช้าง
Elephant Peace Project เป็นโครงการหนึ่งที่องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกให้การสนับสนุนทุนเพื่อใช้ในการเช่าพื้นที่ และเพาะปลูกพืชอาหารให้แก่ช้าง ไม่ว่าจะเป็นกล้วย อ้อย และหญ้าเนเปียร์ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้ช้างมีแหล่งอาหารที่เพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงที่อาจมีภัยธรรมชาติ และยังเป็นอาหารปลอดสารพิษ ซึ่งจะส่งผลดีตามมาอีกประการ คือการมีเครือข่ายปลูกพืชอาหารช้างในพื้นที่ สร้างรายได้ให้ชุมชนจากการจ้างงานคนในชุมชน และธำรงไว้ซึ่งวิถีการเลี้ยงช้างของชาวปกาเกอะญอ ที่เล็งเห็นถึงคุณค่าแห่งชีวิตช้างว่ามีศักดิ์ศรีเช่นเดียวกับมนุษย์ มีความเคารพต่อช้าง เกื้อกูลกันเหมือนสมาชิกในครอบครัว ซึ่งตรงตามความมุ่งหมายของโครงการ “พรุ่งนี้ที่ดีกว่าของช้าง” ที่จะดูแลช้างให้มีสวัสดิภาพที่ดี ได้รับอาหารที่มีคุณภาพท่านกลางสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย และเผยแพร่มิติทางวัฒนธรรมต่อไป
ทรัพย์ไพรวัลย์รีสอร์ท กับเรื่องกล้วยๆ เพื่อช้าง
อีกโครงการที่นับว่าเป็นแบบอย่างการขับเคลื่อนด้านสวัสดิภาพของช้าง คือ โครงการ “พรุ่งนี้ที่ดีกว่าของช้าง” ของปางช้างทรัพย์ไพรวัลย์รีสอร์ท อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ที่มีช้างในความดูแลทั้งหมด 6 เชือก ล้วนเป็นช้างเพศเมียสูงอายุ ตั้งแต่ 44 ปีจนถึง 64 ปี ซึ่งองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้พิจารณาถึงความโดดเด่นในด้านวิถีปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อช้าง จากการช่วยเหลือช้างเร่ร่อนคืนสู่ป่า แนวทางการดูแลช้างวัยเกษียณที่มุ่งสู่เป้าหมายหลักสวัสดิภาพ 5 ประการ และจากการจัดกิจกรรมที่ไม่เบียดเบียนวิถีชีวิตธรรมชาติของช้าง อาทิ กิจกรรมศึกษาการใช้ชีวิตตามธรรมชาติของช้าง พร้อมสอดแทรกความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการอนุรักษ์ช้าง และทรัพยากรธรรมชาติ
อย่างไรก็ดี ในช่วงวิกฤติการโควิด-19 ที่ผ่านมา ปางช้างทรัพย์ไพรวัลย์ก็ประสบปัญหาเดียวกัน คือความมั่นคงด้านอาหาร และพบสารพิษปนเปื้อนในพืชอาหารช้าง เช่น ใบสับปะรด แม้จะสามารถผ่านพ้นวิกฤติมาได้ แต่ความมั่นคงทางด้านอาหารของช้างอาจไม่ยั่งยืน จึงได้ริเริ่มโครงการสร้างระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ด้วยการสนับสนุนจากที่องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ซึ่งจะทำให้มีน้ำใช้ปลูกพืชอาหารปลอดสารพิษให้กับช้าง มีพืชผักสวนครัวสำหรับควาญช้าง สามารถทำกิจกรรม “เรื่องกล้วยๆ เพื่อพี่ช้าง” ให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมปลูกต้นกล้วย และนำกลับมาทำอาหารหรือของเล่นให้ช้าง เป็นโครงการที่นำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาวของปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้าง และสามารถนำรายได้มาพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ช้างได้อีกทอดหนึ่ง
การได้เห็นช้างมีสวัสดิภาพที่ดี ใช้ชีวิตในพื้นที่กว้างขวาง เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ แสดงออกทางพฤติกรรมตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องถูกฝึกอย่างทรมาณเพื่อให้คุ้นชินกับการสัมผัสของมนุษย์ เป็นหนึ่งในเป้าหมายใหญ่ขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก นอกจากการประชาสัมพันธ์ปางช้างที่มีวิถีปฏิบัติ ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสวัสดิภาพช้างของเราแล้ว การสนับสนุนปางช้างอื่น ๆ ที่มีความตั้งใจในการยกระดับความเป็นอยู่ของช้าง ก็เป็นอีกพันธกิจที่สำคัญยิ่ง ด้วยความร่วมมือจากปางช้างและการสนับสนุนจากคุณ เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า วันที่ประเทศไทยมีแต่ปางช้างที่เป็นมิตรกับช้าง คงจะมาถึงในไม่ช้า