ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 นอกจากผลกระทบต่อคนแล้ว ปรากฏการณ์หนึ่งที่เราพบเห็นได้ถี่ขึ้นคือช้างเลี้ยงในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่ต้องตกงาน อดอยาก
เพราะสถานที่ท่องเที่ยวไม่จ้าง เจ้าของขาดรายได้ ผู้ดูแลช้างหลายรายต้องออกมาไลฟ์สดวิงวอนให้ผู้คนทั่วไปร่วมกันบริจาคช่วยช้างกันอย่างต่อเนื่อง หลายกรณีเห็นได้ชัดว่าช้างมีสภาพผอมโซ
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีช้างเลี้ยงในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกว่า 2,800 ชีวิต เพิ่มขึ้นถึง 70% ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ช้างเหล่านี้ถูกผสมพันธุ์เพื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ พวกมันต้องผ่านกระบวนการฝึกอย่างโหดร้ายทารุณหลากหลายรูปแบบ เช่น การใช้ขอสับ ใช้ไม้ทุบตี การโล่มโซ่สั้นๆ การบังคับให้อยู่ในสถานการณ์ตึงเครียด ก่อนจะถูกส่งไปใช้งานรูปแบบต่างๆ ตามสถานที่ท่องเที่ยว ตั้งแต่โชว์ช้าง ขึ่ช้าง อาบน้ำช้าง และอื่นๆ อีกมากมาย
เป็นที่ทราบกันดี โดยเฉพาะในวงผู้เชี่ยวชาญ ว่าการผสมพันธุ์ช้างเลี้ยงแทบจะไม่เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษืช้างป่าเลย แต่การผสมพันธุ์ช้างเลี้ยงก็ยังคงถูกปล่อยให้ทำได้อย่างเสรีเสมอมา ปัญหานี้น่ากังวลมากขึ้นในสภาวะปัจจุบัน เพราะการเพิ่มขึ้นของจำนวนช้างที่สวนทางกับรายได้ภาคท่องเที่ยวอาจหมายถึงปัญหาแย่งชิงทรัพยากรในอนาคต
สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าการที่ความเป็นอยู่ของช้างต้องแปรผันไปตามอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้นมีความเปราะบางอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่คาดการณ์ต่างๆ มองว่าการท่องเที่ยวอาจจะไม่ฟื้นตัวโดยเร็ววัน และการขาดนโยบายที่จะจำกัดหรือยุติการผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้มากขึ้นทุกขณะ
นอกจากนี้ กระแสการท่องเที่ยวทั่วโลกเองก็ชี้ไปในทางเดียวกันว่าการท่องเที่ยวแนวใหม่หลังจากนี้จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และสัตว์ป่ามากขึ้น กิจกรรมท่องเที่ยวที่ใช้สัตว์ป่ามาสร้างความบันเทิงได้รับการยอมรับน้อยลงเรื่อยๆ บริษัทท่องเที่ยวรายใหญ่ทั่วโลก เช่น Trip Advisor, Booking, Expedia และอื่นๆ อีกมากกว่า 250 บริษัททั่วโลกก็ประกาศยุติการขายกิจกรรมท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับความโหดร้ายทารุณต่อสัตว์ป่ากันแล้ว
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกรับรู้สถานการณ์เหล่านี้เป็นอย่างดี และพยายามทำงานรณรงค์กับทั้งสาธารณะ ภาครัฐ และภาคเอกชนมาโดยตลอด ด้วยการเสนอให้ยุติการผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์ และหันมาดูแลช้างที่มีอยู่ในปัจจุบันในสภาพแวดล้อมที่มีสวัสดิภาพสูงผ่านกิจกรรมท่องเที่ยวแบบที่ไม่ทำร้ายช้าง แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับที่เป็นบวกมากนัก โดยเฉพาะจากหน่วยงานภาครัฐผู้มีอำนาจกำหนดนโยบาย
เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกร่วมกับ 192 องค์กรทั่วโลกได้เรียกร้องไปยังรัฐบาลไทยผ่านสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรีให้มีมาตรการเร่งด่วนในการควบคุมการผสมพันธุ์ช้าง เรื่องดังกล่าวถูกแทงลงมายังสองกระทรวงหลักคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอบกลับมายังองค์กรฯ ในลักษณแบบขอไปทีเท่านั้น
ส่วนอีกช่องทางหนึ่งที่เรื่องถูกส่งไปคือคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ซึ่งผลออกมาเป้นที่น่าผิดหวัง เพราะคณะกรรมการส่วนใหญ่โหวตไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอยุติการผสมพันธุ์ช้าง มีเพียงคณะกรรมส่วนน้อยที่มาจากภาคประชาสังคมที่ออกเสียงสนับสนุน
อย่างไรก็ตาม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจะยังไม่ย่อท้อต่อการทำงานในเรื่องนี้ โดยเราพยายามผลักดันพัฒนาสวัสดิภาพช้างและการแก้ปัญหาทั้งระบบ ด้วยการพัฒนา ‘ร่างพระราชบัญญัติปกป้องและคุ้มครองช้าง พ.ศ….’ ผ่านกระบวนการรัฐสภา เนื้อหาครอบคลุมหลากหลายประเด็น ทั้งการยุติการผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์ การยกระดับสวัสดิภาพช้างในปางช้าง การป้องกันความโหดร้ายทารุณต่อช้าง คณะกรรมการและงบประมาณสำหรับเรื่องช้างโดยตรง ฯลฯ ล่าสุด มีประชาชนร่วมเข้าชื่อสนับสนุนแล้วมากกว่า 17,000 คน
หากภาครัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่รีบออกมาตรการเพื่อพยายามหยุดยั้งปัญหาช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เราไม่รู้เลยว่าช้างเหล่านี้จะต้องตกอยู่ในภาวะหิวโหยอีกนานเท่าใด หรือจะเกิดการปัญหา ‘ช้างตายโดยไม่ทราบสาเหตุ’ เพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้หรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่าช้างทุกตัวที่ตายมีความเสี่ยงว่าจะเชื่อมโยงกับการลักลอบค้าชิ้นส่วนผิดกฎหมายได้
เรื่องนี้เป็นหน้าที่ เป็นความรับผิดชอบ และเป็นความสมเหตุสมผลที่ภาครัฐต้องทำ นโยบายและมาตรการที่เหมาะสมจะไม่ได้ช่วยเหลือแค่ช้างกว่า 2,800 ชีวิตเท่านั้น แต่ยังช่วยกอบกู้ชื่อเสียงภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้วย ในทางกลับกัน ถ้าถาครัฐยังไม่ขยับใดๆ ทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน ปล่อยให้ปัญหานี้เป็นไปอย่างตามมีตามเกิด ประชาสังคมโลกก็อาจส่งสัญญาณด้านลบที่ชัดเจนมากขึ้นในอนาคตเช่นกัน ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับกรณีแบนกะทิไทยเพราะใช้ลิงเก็บมะพร้าว
สงสารช้างไทยและเห็นแก่ชื่อเสียงประเทศกันบ้างเถอะครับ ออกนโยบายแก้ไขปัญหาอย่างยังยืนเสียที