พูดถึงการผสมพันธุ์ช้าง ฟังแบบผิวเผิน หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะช่วยขยายพันธุ์ช้าง ส่งเสริมการอนุรักษ์ แต่ความเป็นจริงแล้วกลับไม่ใช่เลย
การผสมพันธุ์ช้างในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้าเท่านั้น ซึ่งนอกจากจะไม่เป็นประโยชน์แล้ว ยังเป็นการสร้างวงจรของการปฏิบัติต่อช้าง สัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย อย่างโหดร้ายทารุณไปตลอดชีวิตของพวกมันด้วย
ต่อไปนี้คือ 11 เหตุผลว่าทำไมประเทศไทยควรมีมาตรการยุติการผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์
1. ช้างเป็นสัตว์ป่า ไม่ใช่นักแสดง
ช้างเป็นสัตว์ป่าขนาดใหญ่ที่เฉลียวฉลาด ทรงพลัง และน่าเกรงขาม แต่ปัจจุบัน ช้างจำนวนมากกลับถูกภาคธุรกิจนำมาผสมพันธุ์เพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ช้างกลายเป็นเครื่องมือหาเงินผ่านการสร้างความบันเทิงให้นักท่องเที่ยว
ตั้งแต่การให้นักท่องเที่ยวขี่หลัง ถ่ายรูป โหนงวง ป้อนอาหาร อาบน้ำ ไปจนถึงการแสดงโชว์รูปแบบต่างๆ อย่างการทรงตัวบนที่แคบๆ เดินบนลวดสลิง ปั่นจักรยาน ยืนสองขา เตะฟุตบอล เรายังพบข้อมูลว่าช้างในสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งถูกบังคับให้ทำงานตั้งเช้าถึงเย็นเพื่อกำไรสูงสุดของเจ้าของกิจการ
ทั้งหมดนี้ขัดต่อวิถีชีวิตตามธรรมชาติของช้างที่ต้องอยู่รวมกันเป็นฝูง ออกหากิน พักผ่อน และเรียนรู้พฤติกรรมร่วมกัน
2. ลูกช้างต้องถูกพรากจากแม่ช้าง
ลูกช้างที่เกิดจากการผสมพันธุ์ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต้องถูกแยกจากแม่ช้างตั้งแต่ยังเด็กมาก คือแค่ 1-2 ปีเท่านั้น (บางข้อมูลระบุว่าตั้งแต่ไม่กี่เดือน) แม้ว่าตามธรรมชาติ ช้างตัวผู้จะต้องอยู่กับแม่และฝูงไปจนถึงอายุประมาณ 7 ปีกว่าจะแยกออกไปหากินลำพัง ส่วนช้างตัวเมียมักจะอยู่รวมกันเป็นโขลง โดยทุกโขลงจะมีเพศเมียอาวุโสเรียกว่า ‘แม่แปรก’ เป็นจ่าโขลง
การอยู่รวมกันเป็นโขลงนี่เองที่ช่วยให้ลูกช้างสามารถเติบโตและเรียนรู้พฤติกรรมตามธรรมชาติจากช้างอาวุโสได้อย่างเหมาะสม การแยกลูกช้างจากแม่ช้างเพื่อรีบนำมาฝึกและใช้งานนอกจากฝืนธรรมชาติแล้ว ยังเป็นการสร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับทั้งลูกและแม่ช้างไปตลอดชีวิตด้วย มีวิดีโอหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็น
3. การฝึกช้างที่โหดร้ายทารุณ
นอกจากการแยกลูกแยกแม่ไปจนถึงการใช้งานในสถานการท่องเที่ยวที่ไม่ใช่พฤติกรรมตามธรรมชาติของช้างแล้ว เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ป่า การจะนำช้างมาใช้งานได้จึงต้องมีการทำลายสัตชาตญาณสัตว์ป่าและทำให้เชื่อฟังมนุษย์
ลูกช้างเหล่านี้ต้องเข้าสู่กระบวนการที่สร้างความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจมากมาย เช่น การใช้ตะขอสับหรือขูดที่หัว การฟาดด้วยไม้ การขังในคอกแคบๆ การล่ามโซ่สั้นๆ ที่ขาเพื่อจำกัดการเคลื่อนไหว การบังคับให้อยู่ในสถานที่เสียงดัง และอื่นๆ อีกมากมาย
เมื่อลูกช้างจดจำความเจ็บปวดได้ก็จะเกิดความกลัวและยอมทำตามคำสั่งคนเพราะไม่อยากถูกทำร้ายอีก เพราะฉะนั้น ช้างที่หลายคนอาจจะมองว่าเชื่องหรือน่ารักจริงๆ แล้วพวกมันทำไปเพราะความกลัว
4. สภาพความเป็นอยู่
ช้างในสถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่มีอิสรภาพตามสมควรเหมือนช้างในธรรมชาติ ช้างจำนวนมากต้องอยู่ในพื้นที่คับแคบ ถูกล่ามโซ่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระโดยเฉพาะเวลากลางคืน หลายตัวต้องเดินบนพื้นคอนกรีตเป็นเวลานาน
นอกจากนี้ ปัจจัยด้านต้นทุนและความสะดวกของสถานที่ท่องเที่ยว หลายครั้งพบว่าอาหารที่สถานที่ท่องเที่ยวให้ช้างกินขาดความหลากหลาย มีการให้อาหารซ้ำๆ อย่างกล้วยหรืออ้อยจนกลายเป็นภาพจำของนักท่องเที่ยว
ทั้งที่ช้างตามธรรมชาติจริงๆ ต้องการกินอาหารที่หลากหลายราวร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวต่อวัน ยิ่งไปกว่านั้น อาหารที่ให้ช้างยังมีโอกาสปนเปื้อนสารเคมีด้วย
5. ไม่เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์
การผสมพันธุ์ช้างแทบทั้’งหมดในประเทศไทยตอนนี้เป็นไปเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและความบันเทิงโดยเฉพาะ ซึ่งไม่มีประโยชน์ด้านการอนุรักษ์ช้างป่าแต่อย่างใด ช้างที่ถูกใช้งานตามสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้จะไม่สามารถถูกปล่อยกลับสู่ป่าได้ทันที
เพราะไม่คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อม การหากิน เอาตัวรอดในป่า ที่สำคัญการอนุรักษ์ช้างในป่านั้นมีหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบอย่างเป็นทางการโดยตรงอยู่แล้ว เช่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
การกล่าวอ้างของภาคเอชนที่ว่าการผสมพันธุ์ช้างเป็นการอนุรักษ์ช้างจึงเป็นแค่วาทกรรมเพื่อหวังสร้างความชอบธรรมให้กับการตักตวงผลประโยชน์ทางธุรกิจผ่านความทุกข์ทรมานของสัตว์ป่าเท่านั้น
6. สถานที่ท่องเที่ยวรับผิดชอบชีวิตช้างในยามวิกฤตไม่ได้
สถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมเพื่อความบันเทิงนอกจากจะไม่เหมาะสมต่อสวัสดิภาพช้างแล้ว ยังเป็นที่พึ่งของช้างในยามวิกฤตไม่ได้ด้วย สังเกตได้จากวิกฤตทางเศรษฐกิจหลายครั้งที่ผ่านมาที่แสดงให้เห็นว่าเมื่อภาคท่องเที่ยวหยุดชะงักลง
ปัญหาที่ตามมาคือเจ้าของสถานที่ไม่มีรายได้ที่จะดูแลช้างได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ในปี 2563 นี้ที่ปางช้างจำนวนมาต้องปิดตัวลงทั้งชั่วคราวและถาวร ช้างหลายร้อยตัวถูกส่งกลับภูมิลำเนาไปให้เจ้าของดูแล
ขณะที่ปางช้างหลายแห่งยังพยายามขอความระดมทุนจากประชาชนทั่วไปด้วย ยิ่งตอกย้ำว่า ธุรกิจท่องเที่ยวไม่สามารถเป็นที่พึ่งของช้างให้มีสวัสดิภาพที่ดีได้ พร้อมจะทอดทิ้งช้างได้ทุกเมื่อ
7. ปัญหาแย่งชิงทรัพยากรในอนาคต
จากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกและองค์กรด้านสัตว์อีก 191 องค์กรทั่วโลก ต่างแสดงความกังวลว่าเจ้าของช้างอาจอาศัยช่วงเวลาที่การท่องเที่ยวชะงักตัวในการผสมพันธุ์ช้างเพิ่มขึ้นอีก เพื่อหวังรายได้ในอนาคต
ซึ่งจำนวนช้างที่อาจเพิ่มขึ้นจะสวนทางกับจำนวนสถานที่ท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวที่กำลังลดลงอย่างมากในช่วงวิกฤต และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวกลับมาในระยะเวลาอันใกล้
การผสมพันธุ์ช้างโดยไม่คำนึงถึงสถานการณ์แบบนี้จึงอาจทำให้เกิดภาวะลูกช้างล้นตลาด เพิ่มความเสี่ยงทั้งด้านสวัสดิภาพสัตว์ป่า ทรัพยากร และเศรษฐกิจตามมามากมายในอนาคต
8. ความปลอดภัยของคน
เนื่องจากช้างมีพละกำลังสูง และถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจเป็นระยะเวลานาน สถานที่ท่องเที่ยวทั่วไปที่เปิดให้นักท่องเที่ยวมีปฏิสัมพันธ์กับช้างอย่างใกล้ชิดย่อมมีตวามเสี่ยงด้านความปลอดภัยตามมา สังเกตได้จากข่าวนักท่องเที่ยวถูกช้างทำร้ายจนบาดเจ็บและเสียชีวิตที่เกิดขึ้นเป็นประจำ
ยกตัวอย่าง ข่าวช้างทำร้ายนักท่องเที่ยวชาวสกอตที่เกาะสมุยจนเสียชีวิตเมื่อปี 2559 ข่าวนักท่องเที่ยวชาวจีนดึงหางช้างที่ชลบุรีจนช้างตื่นตระหนกและทำร้ายคนรอบข้างจนเสียชีวิต 1 ราย เมื่อปี 2560 ข่าวช้างใช้งาแทงนักท่องเที่ยวอิตาลีชาวอิตาลีจนบาดเจ็บที่พังงาเมื่อปี 2562 เป็นต้น
หรือแม้แต่ควาญช้างเองก็ยังไม่ปลอดภัยจากช้าง อย่างกรณีช้างทำร้ายควาญช้างเสียชีวิตที่เชียงใหม่เมื่อปี 2559 และ 2561 ที่พัทยาเมื่อปี 2557 และล่าสุดที่เชียงรายเมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา
9. เทรนด์การท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบกำลังมา
ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวทั่วโลกเริ่มมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สวัสดิภาพสัตว์จึงถูกให้ความสำคัญมากขึ้น และการสนับสนุนสถานที่ท่องเที่ยวที่นำสัตว์ป่ามาใช้งานก็ลดลงเรื่อยๆ
จากผลสำรวจประชาชนใน 12 ประเทศ (รวมไทย) เมื่อปี 2562 โดย Kantar TNS พบว่า คน 53% มองว่าการขี่ช้างเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ เพิ่มขึ้นจาก 40% ในปี 2557 และ 61% มองว่าการสัมผัสหรือกอดสัตว์ป่าเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ เพิ่มขึ้นจาก 58% ในปี 2557
นอกจากนี้ คน 51% มองว่าการใช้สัตว์ป่าเพื่อความบันเทิงไม่ได้เป็นการอนุรักษ์ 56% มองว่ากระบวนการฝึกสัตว์ป่ามีความโหดร้ายทารุณ และ 65% มองว่าเหตุผลด้านวัฒนธรรมไม่ใช่ข้ออ้างสำหรับการทารุณกรรมสัตว์
10. ดูช้างแบบไม่ทำร้ายช้างได้ประสบการณ์ที่ดีกว่า
ผลสำรวจของ Kantar TNS ยังพบด้วยว่า คน 87% มองว่าสัตว์ป่าสมควรจะได้อยู่ในป่าและได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ และถึง 85% เลือกที่จะชมสัตว์ป่าในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติมากกว่าถ้ามีโอกาส
สอดคล้องกับการรณรงค์ด้านสวัสดิภาพสัตว์และสิ่งแวดล้อมที่พยายามนำเสนอว่าการได้ดูช้างตามธรรมชาติอย่างอุทยานแห่งชาติกุยบุรีหรืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพราะเป็นการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบ เปิดโลก ไม่ทำร้ายสัตว์ และให้ประสบการณ์โดยรวมที่ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเข้าถึงที่อยู่ตามธรรมชาติของช้างได้อย่างสะดวก เพราะฉะนั้น การท่องเที่ยวตามสถานที่ที่เป็นมิตรต่อช้างก็เป็นอีกตัวเลือกที่ดี โดยปัจจุบัน มีปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้างหลายแห่งในประเทศไทย เช่น ช้างชิล จ.เชียงใหม่ ฟอลโลวอิ้ง ไจแอนท์ จ.กระบี่ เป็นต้น
11. ทำลายความสง่างามในฐานะประจำชาติ
วาทกรรมที่ว่าการผสมพันธุ์ช้างมาใช้งานเป็นวิถีชีวิตคนไทยนั้นเป็นจริงแค่ในอดีต เพราะความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้ไม่เหลือความจำเป็นใดๆ ที่เราจะต้องนำช้างหรือสัตว์ป่าอื่นๆ มาใช้งานในเชิงพาณิชย์อีกต่อไป
ที่สำคัญ ช้างเป็นสัตว์ประจำชาติของไทย มีความผูกพันกับสังคมและวัฒนธรรมมานานตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงพิธีกรรมระดับสูง การเอาช้างที่มีความเฉลียวฉลาดและความสง่างามมาหาประโยชน์ทางธุรกิจด้วยวิธีการที่โหดร้ายทารุณและไร้ศักดิ์ศรีอย่างทุกวันนี้ย่อมไม่ใช่การปฏิบัติต่อสัญลักษณ์ของชาติอย่างเหมาะสม
เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว ผู้รักช้างและสัตว์ป่าทุกคน สามารถร่วมลงชื่อกับเราเพื่อเรียกร้องการยุติผสมพันธุ์ช้างและหยุดความโหดร้ายทารุณต่อช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้หมดไปโดยสมบูรณ์ได้ทางด้านล่าง
ช้างเป็นสัตว์ป่า สมควรที่จะอยู่ในป่า