SWR

ผลลัพธ์จาก 3 ฟาร์มต้นแบบแห่งภาคอีสาน “ไก่มีความสุข คนก็มีความสุข”

ข่าว

ภายใต้แนวคิด Good Life Standards 3 เกษตรกรรายย่อยภาคอีสานในโครงการ 'ฟาร์มแชมเปี้ยน' ที่ร่วมมือโดยองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้แก่ ไพฑูรย์ ฝางคำ (จ.ศรีสะเกษ), สมจิตร นามสว่าง (จ.สุรินทร์) และเบญญาพร เลาลาด (จ.ชัยภูมิ) ได้ผลลัพธ์ที่เกินคาดจากการเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูง

ไพฑูรย์ออร์แกนิกฟาร์ม เป้าหมายคืออาศัยธรรมชาติให้เกิดการเกื้อหนุนกัน

สำหรับ ไพฑูรย์ ฝางคำ เกษตรกรต้นแบบ กลุ่มเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ตำบลผักไหม(อินทรีย์) แห่ง อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ การเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเขา เนื่องจากไพฑูรย์ออร์แกนิกฟาร์มเลี้ยงไก่ระบบอินทรีย์มานานถึง 2 ปี โดยปล่อยให้ไก่ได้อยู่อย่างอิสระตามธรรมชาติ เขาเพียงเพิ่มเติมในเรื่องของสวัสดิภาพไก่ให้มากขึ้น อาทิ การสร้างรั้วรอบขอบชิด และอุปกรณ์เสริมต่างๆ เป็นต้น

“ผมทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกข้าว และถั่วเหลืองอินทรีย์อยู่แล้ว จึงนำการเลี้ยงไก่เข้ามาเติมเต็มเพื่อให้เกื้อหนุนกันเอง มีการปลูกพืช เลี้ยงไก่ เอาวัตถุดิบที่มีมาทำอาหารไก่ แล้วก็เอามูลไก่มาเป็นปุ๋ย เป็นห่วงโซ่อาหาร ฉะนั้นเราแทบไม่ต้องปรับอะไรเลย เพียงแต่มีการเพิ่มอุปกรณ์ให้เขาได้เล่น นอกจากมีพื้นที่นอน ก็มีพื้นที่เล่น มีที่ให้กินหญ้า ผมทำหลุมปลวกธรรมชาติ ไก่เขาก็จะไปคุ้ยเขี่ยอาหารธรรมชาติ และทำบ่อแหนแดง ไก่เขาก็จะไปจิกกิน เพราะแหนแดงมีคุณค่าทางโภชนาการ ส่วนพื้นที่ริมคอก ก็ปลูกพืชสมุนไพร  เช่นฟ้าทะลายโจร ซึ่งช่วยป้องกันโรคได้ส่วนหนึ่ง ถ้าเขาไม่สบายหรือเป็นโรคเขาก็ไปจิกกิน การทำเกษตรอินทรีย์คือพยายามพึ่งพาธรรมชาติให้มากที่สุด”

ไพฑูรย์ออร์แกนิกฟาร์ม จึงนับเป็นฟาร์มแรกๆ ในจังหวัดศรีสะเกษที่เลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูง ในฐานะเกษตรต้นแบบ เขาให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์ และอยากให้ไก่ได้มีความสุขตามธรรมชาติ

เขาก็เป็นสิ่งมีชีวิต เราก็น่าจะต้องดูแลเขา และเลี้ยงดูเขาให้เป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าเขามีสุขภาพดี เขาก็จะผลิตสิ่งดีๆ เมื่อเราเอามารับประทาน มันส่งผลถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้บริโภคด้วย เหมือนที่ผมทำเกษตรอินทรีย์ เป้าหมายของเราคืออาศัยธรรมชาติให้เกิดการเกื้อหนุนกัน ได้อาหารที่ปลอดภัย ไม่มีสารเคมี ส่งถึงเราและผู้บริโภคด้วย ไก่สวัสดิภาพสูงก็เช่นเดียวกัน”  

ต้นทุนการเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูงอาจจะเน้นหนักในเรื่องของพื้นที่และโครงสร้าง อาทิ เล้าไก่ และรั้วรอบขอบชิดเพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์อื่นๆ หรือการมีพื้นที่ให้ไก่ได้เดินเล่น ในขณะที่ต้นทุนอาหาร ย่อมไม่สูงมากเท่ากับการเลี้ยงแบบฟาร์มปิด เนื่องจากไก่จะกินอาหารจากธรรมชาติ แต่สิ่งที่ตัวไก่ และ เกษตรกร ตลอดจนผู้บริโภคได้รับนั้นคือ การที่ไก่มีสุขภาพดี อารมณ์ดี ไม่แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว และที่สำคัญคือผลลัพธ์ในเรื่องความยั่งยืนของอาหารปลอดภัย 

“ไก่สวัสดิภาพสูงย่อมดีกว่าไก่ที่เลี้ยงแบบขัง เขาจะร่าเริง แจ่มใส ไม่จิกกัน ขนจะอยู่เต็มและสวย หน้าจะแดงเรื่อ เหมือนคนสุขภาพดี เห็นชัดเจนเลย และพอเราทำไปเรื่อยๆ ไก่มันน่ารัก สวย จนบางครั้งเราไม่อยากจะเอาเขามาเป็นอาหารเลย” ไพฑูรย์ กล่าว  

แม้จะสิ้นสุดระยะเวลาการเลี้ยงไก่ตามที่โครงการกำหนด แต่ไพฑูรย์ ตั้งใจส่งเสริมการเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูงต่อไป โดยมีการขยายเครือข่ายสมาชิกเกษตรกรให้เลี้ยงไก่โคราชเพิ่มเติม เนื่องจากที่นี่เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่มีเกษตรกรเข้ามาศึกษาดูงานทุกสัปดาห์ เมื่อได้เห็นรูปแบบ และวิธีการเลี้ยงไก่ที่ส่งเสริมสวัสดิภาพจึงได้รับความสนใจจากฟาร์มต่างๆ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดผู้บริโภคที่รักสุขภาพ ซึ่งต้องการอาหารปลอดภัย ปราศจากยาปฏิชีวนะ เขาจึงวางแผนการดำเนินงานหลังจากนี้ ด้วยการเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ และมีการอบรมแลกเปลี่ยนข้อมูลให้กับผู้สนใจ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้นด้วย  

สว่างรุ่งเรืองฟาร์ม ส่งเสริมเกษตรกรในชุมชน เลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูงเป็นอาชีพ   

สมจิตร นามสว่าง  เกษตรกรเจ้าของ “สว่างรุ่งเรืองฟาร์ม” และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล หนองสนิท อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ โดยสมจิตร ได้พัฒนาพื้นที่ในฟาร์มนอกเหนือจากการปลูกพืชไร่ พืชสวน ด้วยการปรับปรุงยุ้งเป็นคอกไก่ และบริหารจัดการเป็นฟาร์มเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูงขนาด 3-4 ไร่  

“พูดง่ายๆ คือเลี้ยงไก่แบบไม่ต้องเครียด ให้เป็นธรรมชาติ ซึ่งถ้าเราจะทำให้เป็นธุรกิจของรากหญ้า ก็สามารถทำได้ แต่อาจต้องใช้เวลา เพราะผู้บริโภคคนไทย ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย เขาจะหาแต่ของราคาต้นทุนต่ำ เขารู้ว่าอะไรปลอดภัย แต่เขายังไม่ปฏิบัติ” สมจิตรให้มุมมองต่อการส่งเสริมการเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูงในพื้นที่  

แม้จะมีปัจจัยที่ยากต่อการควบคุม หากแต่ข้อดีของการเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูง ไม่เพียงส่งเสริมให้ไก่ได้มีอิสระ และได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ ไก่ยังมีสุขภาพดี อารมณ์ดี ซึ่งคนในชุมชนเริ่มให้ความสนใจ และในฐานะนายกฯ อบต. สมจิตรได้ส่งเสริมให้เยาวชนในพื้นที่และชาวบ้านในชุมชนที่ต้องการมีอาชีพเลี้ยงไก่ได้ศึกษาและสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจ โดยมี อบต.เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลอย่างใกล้ชิด

   

“เราสามารถทำเป็นธุรกิจได้เป็นอย่างดี เพราะไก่เป็นอาหารที่เราบริโภคประจำอยู่แล้ว และเป็นการเลี้ยงแบบต้นทุนต่ำ ค่อนข้างดูแลง่าย ไก่โคราชเป็นไก่ที่ใช้เวลาไม่นาน และไม่ใช่ไก่ที่ดัดแปลงพันธุกรรม เป็นไก่ที่ มทส.วิจัยมาแล้วอย่างดี  อายุ 2 เดือนเศษ ก็ได้จำหน่าย ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกรและชุมชนเป็นอย่างดี พอจบโครงการแล้ว ก็ตั้งใจเลี้ยงเป็นธุรกิจ พื้นที่ประมาณนี้ก็เลี้ยงได้เป็นพันตัว คิดว่าจะปลูกหญ้าด้วย ให้เป็นพืชที่ให้เขากินโดยไม่เปลืองต้นทุน พยายามปรับเปลี่ยนเป็นอาหารที่เราผลิตเองได้” นายกฯ อบต.หนองสนิท กล่าวถึงความตั้งใจที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรในชุมชนเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูงไปด้วยกัน  

บางวันอินดี้ฟาร์ม ไก่มีความสุข คนก็มีความสุข

“ตอนแรกฟังแล้วงงๆ อยู่ว่าจะทำได้ไหม สวัสดิภาพไก่เป็นยังไง ก็สนใจอยากลอง เพราะถ้าไก่มีความสุข เขาก็น่าจะอารมณ์ดี คุณภาพของเขาก็น่าจะดี เมื่อไก่ก็มีความสุขขึ้น เราก็มีความสุขขึ้น” เบญญาพร เลาลาด เกษตรกรเจ้าของ “บางวันอินดี้ฟาร์ม” อ.จตุรัส จ.ชัยภูมิ อธิบายความหมายของคำว่าสวัสดิภาพไก่ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับเธอ

เบญญาพร มีอาชีพเป็นเกษตรกรเต็มตัวโดยไม่มีวันหยุด เธอมีพื้นที่ทำนา 30 ไร่ และแบ่งพื้นที่ไว้เลี้ยงสัตว์ อาทิ ไก่ เป็ด หมู ราว 1 ไร่ โดยตั้งใจเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ กระทั่งเมื่อมีโอกาสเข้าร่วมโครงการฟาร์มแชมเปี้ยน ทำให้เธอเห็นถึงความแตกต่างของการเลี้ยงไก่แบบเดิมอย่างชัดเจน    

“เมื่อก่อนเลี้ยงไก่แบบระบบปิด 200 กว่าตัว ให้อยู่แต่ในคอก ไม่ได้ให้ไก่เป็นอิสระ เลยคิดว่าน่าจะเลี้ยงไก่แบบให้อยู่เป็นธรรมชาติได้ พอได้เข้าร่วมโครงการ ทำให้เราได้ศึกษาได้เห็นพฤติกรรมของไก่มากกว่าเดิม เมื่อก่อนแค่เราเทอาหารให้ แต่ครั้งนี้เราได้จดบันทึก ช่างน้ำหนัก ได้ใกล้ชิดไก่มากขึ้น ได้เห็นความเปลี่ยนแปลง พอได้ยินเสียงเราเขาจะวิ่งมาหา เมื่อก่อนจิกกันจนตายไปข้างนึง คือต้องทายา ทำแผลให้ตลอด ไม่งั้นไก่ตาย แต่คราวนี้เหมือนหยอกกันเล่น ไม่จิกกัน เราเอาผักไปแขวน มีกิจกรรมให้เขาเล่นก็ไม่ตีกัน คือธรรมชาติมาก” เธอกล่าว พลางเล่าถึงความน่ารักของไก่ที่นำมาเลี้ยงว่า กินผักเก่งมาก หญ้าและสมุนไพรที่เป็นเหมือนวิตามินซึ่งปลูกไว้รอบๆ ถูกกินจนเกลี้ยง

ส่วนอนาคตเมื่อจบโครงการ เบญญาพร ตั้งใจว่าจะยังคงยึดหลักการเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูงต่อไป เนื่องจากไม่ยุ่งยากในการดูแล และไก่ก็มีความสุข “มีชาวบ้านมาดู เขาก็บอกว่าแบบนี้ชาวบ้านก็เลี้ยงได้ ไก่อารมณ์ดีด้วย แบบเก่าเราเลี้ยงให้มันโตเร็วๆ บางทีก็เร่งอาหารเพื่อจับขาย แต่อันนี้เราติดตาม มีการทำข้อมูล เราก็จะรู้พฤติกรรมว่ามันเป็นยังไง อนาคตก็น่าจะเลี้ยงแบบนี้แหละ เพราะง่ายดี ให้อยู่กับธรรมชาติตอนเช้าก็ปล่อยให้เขาออกจากเล้า เย็นเขาก็กลับเข้ามานอน” เจ้าของบางวันอินดี้ฟาร์ม กล่าวทิ้งท้าย  

More about