“ช้างชิล” ปางช้างเชิงธุรกิจที่เป็นมิตรต่อช้างอย่างแท้จริง!
ข่าว
ท่ามกลางเสียงปรบมือชื่นชมความสามารถของช้างแสนรู้ ที่กำลังโชว์ทักษะการเตะฟุตบอล วาดภาพด้วยงวง หรือแม้แต่ความเอ็นดู เมื่อเห็นช้างเต้นตามจังหวะเพลง ขยับขา โยกหัว ตวัดงวงไปมา หากแต่แท้ที่จริงแล้ว แทบไม่มีใครรู้ว่าเบื้องหลังความน่ารักแสนรู้ของช้างเหล่านี้ ต้องผ่านกระบวนการฝึกฝนอันโหดร้ายทารุณและถูกจำกัดอิสรภาพตั้งแต่เด็ก การใช้ขอสับ ใช้ไม้ทุบตี การล่ามโซ่สั้นๆ หรือถูกบังคับให้อยู่ในพื้นที่อันจำกัด ฯลฯ สร้างความเจ็บปวดทั้งร่างกายและจิตใจ ที่สำคัญยังทำลายสัญชาตญาณสัตว์ป่าของช้างมาทั้งชีวิต! เชื่อว่าคงดีไม่น้อยหากนักท่องเที่ยวจะได้เปิดมุมมองใหม่ แล้วลองสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อช้าง ณ ปางช้างชิล (ChangChill) เพื่อค้นพบความสุข ความอิ่มเอมมากกว่าที่ผ่านมา...
ช้างชิล คือช้างที่ผ่อนคลาย
การเที่ยวปางช้าง ถือโปรแกรมท่องเที่ยวยอดฮิตของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีปางช้างมากที่สุดในประเทศ แต่มีเพียงไม่กี่ปางเท่านั้น ที่ดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวในลักษณะที่เป็นมิตรต่อช้าง และให้ความสำคัญกับเรื่องสวัสดิภาพของช้าง (Animal Welfare) ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “ช้างชิล” (ChangChill) ปางช้างที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจจากที่เคยให้นักท่องเที่ยวขี่ช้าง และอาบน้ำช้าง มาเป็นปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้าง ซึ่งได้รับการสนับสนุนและร่วมออกแบบโปรแกรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) โดยช้างชิลมีความหมายในภาษาไทยว่า “ช้างที่ผ่อนคลาย” ดังนั้นช้างที่นี่ จึงมีอิสระในการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกับชีวิตในป่าที่สุด
คุณอิ๊ก-ศุภกร ตานะเศรษฐ ในฐานะเจ้าของปางช้างชิล เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการท่องเที่ยวให้เป็นมิตรต่อช้างว่า ครอบครัวทำธุรกิจท่องเที่ยวปางช้างมานานกว่า 20 ปี โดยมีลักษณะเหมือนปางช้างทั่วไป คือ มีกิจกรรมขี่ช้าง ป้อนอาหารช้าง เล่นน้ำกับช้าง จนเมื่อถึงจุดหนึ่งการแข่งขันทางธุรกิจสูงขึ้น กอปรกับคุณอิ๊กและคุณพ่อได้มีโอกาสไปร่วมฟังสัมมนาขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก และได้รับทราบข้อมูลการท่องเที่ยวปางช้างรูปแบบใหม่ที่สอดรับกับกระแสของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป จึงตัดสินใจยุติรูปแบบการท่องเที่ยวแบบเดิม และเริ่มต้นเดินตามแนวทางที่เป็นมิตรต่อช้างในปี 2560
“ที่ผ่านมาเราดูแลช้างเหมือนคนในครอบครัว อยู่ด้วยกันตลอด เรื่องอาหารการกินเราดูแลเต็มที่ แต่ความอิสระของช้างจะแตกต่างจากปัจจุบัน เดิมเขาจะถูกปล่อยจากโซ่ในวันที่มีนักท่องเที่ยวมา เนื่องจากพอเป็นลักษณะที่นักท่องเที่ยวต้องใกล้ชิดกับช้าง ควาญช้างก็จะควบคุมเป็นพิเศษเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ในฐานะเจ้าของปาง จึงเป็นเรื่องที่เราต้องกังวลใจอยู่ทุกวัน เพราะไม่รู้วันไหนจะเกิดอุบัติเหตุขึ้น ซึ่งพอปรับมาเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เราก็สบายใจตรงนี้มากขึ้น”
เจ้าของปางช้างชิล กล่าวถึงความรู้สึกลึกๆ ของการเลือกแนวทางที่ต่างจากเดิม พลางย้ำว่า
ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว คือเหตุผลสำคัญที่ตัดสินใจปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเขาไม่ต้องคอยกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดกับนักท่องเที่ยววันไหน นอกจากนี้คือความสบายใจ ที่เห็นช้างมีความสุขมากขึ้น เป็นการทำธุรกิจที่ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน รวมถึงเป็นการสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจ โดยที่ไม่ต้องแข่งขันกับใคร
นักท่องเที่ยวเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์
ปางช้างชิล มีพื้นที่ป่าราว 40 ไร่ ใน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ โปรแกรมการท่องเที่ยวของที่นี่เริ่มต้นตั้งแต่เช้าตรู่ โดยจะมีรถคอยรับส่งนักท่องเที่ยวจากตัวเมืองเพื่อมาถึงปางช้าง ราว 09.00 น. เมื่อนักท่องเที่ยวมาถึงเจ้าหน้าที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับปางช้าง และทำความเข้าใจถึงรูปแบบของนักท่องเที่ยวที่เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์เท่านั้น จะไม่ได้รับอนุญาตให้ขี่ช้าง อาบน้ำ สัมผัสหรือให้อาหารช้างโดยตรง นักท่องเที่ยวจะสามารถมองดู สังเกตพฤติกรรมทางธรรมชาติอย่างแท้จริงของพวกมัน ไม่ว่าจะเป็น อาบน้ำ เล่นโคลน คลุกฝุ่น จากหอสังเกตการณ์ของช้างชิล
ในขณะที่ช่วงกลางวัน นักท่องเที่ยวจะได้ร่วมกิจกรรม feeding tube โดยนำอาหารว่าง อาทิ กล้วย อ้อย ไปใส่ไว้ในท่อเพื่อเฝ้าดูพฤติกรรมการกินอาหารของช้างอย่างมีระยะห่าง ส่วนช่วงบ่ายจะมีส่วนร่วมในการทำอาหารเสริมของช้างหรือที่เรียกกันว่าวิตามินบอล โดยนำสมุนไพรต่างๆ มาบดกับข้าว เพื่อช่วยระบบย่อยอาหารของช้าง และเป็นวิตามินเสริม พร้อมกันนี้ ยังส่งเสริมให้ควาญช้างได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ และถ่ายทอดพฤติกรรมของช้างให้กับนักท่องเที่ยวอย่างใกล้ชิด จากนั้นจึงเสร็จสิ้นกิจกรรมท่องเที่ยวปางช้างราว 15.00 น.
ทั้งนี้ คุณอิ๊ก เผยถึงประสบการณ์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่นักท่องเที่ยว ช้าง และควาญช้างจะได้สัมผัส เพิ่มเติมว่า
“เมื่อก่อนคุณมาขี่ช้าง คุณจะไม่รู้เลยว่า ช้างฉลาดมาก ความคิด ความจำ อารมณ์ แทบไม่ต่างจากคนเลยด้วยซ้ำ แต่ถ้าคุณมาเที่ยวลักษณะนี้ คุณจะได้เรียนรู้ว่าช้างจริงๆ เป็นยังไง จะเห็นว่า ช้างตัวนี้ ชอบอยู่กับตัวนั้น คุยกัน หรือบางตัวชอบใกล้กัน อีกส่วนหนึ่งคือความปลอดภัย มาเที่ยวแบบนี้ก็สบายใจ คนที่ไม่ได้ใกล้ชิดกับช้างมาก มักคิดว่าช้างเป็นสัตว์ที่เชื่อง แต่จริงๆ เขายังเป็นสัตว์ป่าอยู่ ส่วนตัวช้างเอง ทุกวันมีนักท่องเที่ยวหรือไม่มี 8 โมงเช้า เราก็ปล่อยเขาเป็นอิสระ อยากเดินไปไหนก็ไปภายในพื้นที่ของเรา ซึ่งเมื่อก่อนเขาจะโดนปล่อยหรือไม่โดนปล่อย ก็ขึ้นอยู่กับการมีนักท่องเที่ยวหรือไม่มี วันไหนไม่มีนักท่องเที่ยวก็จะถูกล่ามโซ่อยู่ในคอกทั้งวัน พอวันไหนมีนักท่องเที่ยวถึงจะได้ออกมาเดิน ออกมาทำกิจกรรม และด้วยรูปแบบการท่องเที่ยวช้างแบบที่เราปรับเปลี่ยนมาให้เป็นมิตรต่อช้างมากขึ้นนี้ควาญช้างเอง ก็สามารถที่จะทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้โดยไม่กระทบกับชีวิตของเขา”
กลุ่มนักท่องเที่ยวชัดเจน
ปัจจุบันนักท่องเที่ยวของปางช้างชิลล์ เป็นชาวต่างชาติเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยทั้งหมดเป็นชาวตะวันตกในแถบยุโรป อเมริกา และเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับการค้นหาข้อมูลและต้องการท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์สัตว์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาแม้ต้องประสบกับวิกฤตโควิด-19 จนแทบไม่มีนักท่องเที่ยวตลอด 2 ปีเต็ม คุณอิ๊ก ยังคงยึดมั่นในรูปแบบการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อช้างอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเฉลี่ยเดือนละ 200-300 คน และได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี
“ค่อนข้างได้รับการตอบรับที่ดี เราก็รู้สึกว่าเราอยู่ในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ตลาดก็แบ่งกันชัดเจน อย่างนักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศยุโรป เขาต้องการสัมผัสประสบการณ์จริงๆ ว่าเวลาช้างอยู่กับธรรมชาติเป็นยังไง เขาจะค่อนข้างมีความสุขมากกับโปรแกรมแบบนี้ ในขณะที่ตลาดเอเชีย มีความต้องการขี่ช้าง หรืออาบน้ำช้าง ถ้าเราไปบอกเขาว่า ไม่ให้เขาสัมผัสใกล้ชิดกับช้าง เขาก็ไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ หรืออย่างคนไทยเอง ก็จะไม่ค่อยชอบแบบนี้ แต่ผมคิดว่าสังคมกำลังเรียนรู้ เราก็พยายามให้ข้อมูลว่า การท่องเที่ยวแบบนี้มันดีกับช้างยังไง ณ เวลานี้ตลาดอาจจะยังไม่ใหญ่เท่ากับตลาดที่ให้คนมาขี่ช้าง แต่ก็มีแนวโน้มขยายตัวไปเรื่อยๆ เทรนด์จะปรับมาเป็นการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อช้างมากขี้น ”
คุณอิ๊ก กล่าว
ช้างได้มีอิสระ และแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ
ในฐานะทายาทเจ้าของปางช้าง ที่สานต่อธุรกิจมาจากคุณพ่อ การเข้ามารับช่วงเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการท่องเที่ยวจากที่เคยทำ จึงเป็นเรื่องท้าทายความสามารถของคุณอิ๊กอยู่พอสมควร โดยผู้บริหารรุ่นใหม่เผยว่า
“ตอนแรกที่ผมยังไม่ปรับเปลี่ยน ก็รู้สึกว่า มันคงต้องเป็นแบบนี้ คือในมุมหนึ่งเจ้าของช้างเขาก็ต้องการรายได้มาเลี้ยงช้างด้วย ขณะเดียวกันเขาก็ต้องให้ช้างทำงานเพื่อให้มีรายได้ แต่พอเราได้มาทดลองสิ่งใหม่ กับแนวทางใหม่ เราจึงรู้ว่า มันมีวิธีการทำธุรกิจปางช้างที่สามารถดูแลช้างให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้”
นั่นหมายรวมถึงการทำงานของควาญช้าง จากเดิมจะทำหน้าที่เฉพาะในช่วงเวลาที่มีนักท่องเที่ยว
วันไหนไม่มีก็ไม่ต้องปล่อยช้างออกมาเดิน แต่ปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะมีนักท่องเที่ยวหรือไม่มี ย่อมไม่ส่งผลกระทบใดๆ กับช้าง ควาญจะต้องดูแลช้าง ด้วยการปล่อยให้ช้างเป็นอิสระทุกวัน ตั้งแต่เช้าจรดเย็น
“ตอนแรกจากที่ต้องทำงานบ้างหยุดบ้าง กลายเป็นต้องทำงานทุกวัน เขาก็ปรับตัวเยอะเหมือนกัน และจากเดิมที่ต้องคอยใกล้ชิดช้างเวลานักท่องเที่ยวมาอยู่ใกล้ๆ คอยดูแลทั้งเรื่องการบังคับช้างและความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว มีกังวลเรื่องการเกิดอันตรายกับนักท่องเที่ยว แต่พอปรับเป็นแบบนี้ เขาก็ไม่ต้องกังวลเลย เขาดูแลแค่ช้างอย่างเดียว”
โซ่ตรวนแห่งพันธนาการที่ผูกมัดข้อเท้าทั้งสองข้างของช้างตลอด 24 ชม. และต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของควาญช้าง จนเมื่อปางช้างชิล ได้เรียนรู้แนวทางการส่งเสริมสวัสดิภาพช้างจากองค์กรพิทักษ์สัตว์ฯ อย่างน้อยช่วงเวลาตั้งแต่ 08.00-17.00 น. ช้างพังทั้ง 4 เชือก ได้แก่ แม่มั่น ช้างอาวุโสที่มีอายุถึง 82 ปี ,แม่ทู อายุ 36, แม่กอแกวัย 50 ปี และแม่มยุรา ช้างน้อยซึ่งเป็นลูกของแม่กอแก วัย 32 ปี ก็ได้มีอิสระในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และสามารถแสดงพฤติกรรมทางธรรมชาติอย่างที่ควรจะเป็น ส่วนความเครียดย่อมน้อยลงตามไปด้วย เพราะจากเดิมที่ควาญช้างอาจใช้ตะขอในการควบคุม แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นการใช้อาหารเป็นตัวช่วยในการสร้างแรงจูงใจที่ช้างก็พร้อมจะทำตามและเชื่อฟัง
เมื่อช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง ช้างหลายเชือก ถูกส่งกลับไปอยู่บ้านกับเจ้าของ ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อช้าง ยังคงต้องได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจในมิติของการอยู่ร่วมกันกับช้างได้โดยไม่เบียดเบียน
“ช้างอยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวได้ โดยที่ไม่ต้องถูกทรมาน เราอยากสนับสนุนให้มีการท่องเที่ยวแบบนี้”
ประโยคปิดท้ายของผู้บริหาร ปางช้างชิล ที่เชื่อมั่นว่าแนวทางการทำปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้าง จะเป็นโมเดลสำคัญที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ ตลอดจนทำให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืนและสร้างความสุขให้ทั้งคนและช้างอย่างแท้จริง
ติดต่อปางช้างชิล เว็บไซต์ www.changchill.com
FB : Changchill และ IG : Changchill_TH