Following Giants ลอบมองเพื่อนตัวใหญ่ในผืนป่า
ข่าว
“อาหารกองของแม่ทองสุขก็แยกจากกองของมณีจันทร์ ของตัวไหนก็ตัวนั้น เขาจะรู้กันเอง...ว่ากองนี้เป็นของชั้นนะ ถ้ามีใครมากินด้วยจะไม่ชอบ เพราะรู้สึกเหมือนถูกแย่งอาหารไป” พี่ชเร สังข์ขาว เจ้าของปางช้าง Following Giants เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เอ่ยถึงเรื่องกินที่เป็นเรื่องใหญ่
แล้วเจ้าเพื่อนรักตัวโตก็กินจุเสียด้วย ปางช้างต้องจัดหาอาหารให้เขา คำนวณง่าย ๆ ก็ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว ตกตัวละ 300-500 กิโลกรัมต่อวันเชียวล่ะ “เขาไม่ชอบถูกแย่งและก็จะไม่ไปแย่งอาหารคนอื่นเช่นกัน” พี่ชเรเล่าสบาย ๆ เพราะเขาอยู่กับช้างมาร่วม 20 ปีแล้ว
///// เราสนุก...แต่ช้างอาจไม่ /////
เดิมทีปางช้างของพี่ชเรใช้ชื่อ Eco-Tourism Recreation จัดการท่องเที่ยวแบบที่นิยมกัน มี นั่งช้าง อาบน้ำกับช้าง ป้อนอาหาร เล่นสปาโคลนด้วยกัน
“แต่ถ้าคุณมี 6 กรุ๊ปทัวร์ แล้วแต่ละกรุ๊ปก็ต้องอาบน้ำกับช้างพร้อมเล่นสปาโคลน ช้างก็ต้องอาบน้ำและเล่นสปาโคลน 6 ครั้งต่อวัน...เป็นเราอยากอาบน้ำ 6 ครั้งต่อวันไหม”
เวลาเขาเล่นโคลนมักเหวี่ยงงวงและกลิ้งเกลือกไปมา ควานช้างต้องควบคุมอยู่ใกล้ ๆ ไม่ให้เกิดอันตรายกับนักท่องเที่ยว การที่ควาญไปควบคุมพฤติกรรมใกล้ ๆ ช้างเขาเครียดนะ นักท่องเที่ยวสนุกแต่ช้างอาจไม่สนุกด้วย
“ถ้าเราไม่มีควาญช้างควบคุมก็ไม่ได้ อยากให้ความอิสระกับช้างก็ไม่ได้เต็มที่ มันเลยมาถึงจุดเปลี่ยน” เขาเปลี่ยนปางช้างเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จริง ๆ ปล่อยให้ช้างอยู่กับป่าไม่ไปบังคับให้เขาทำกิจกรรมสนองความต้องการของมนุษย์ สมัยเด็ก ๆ ผมเคยอยู่กับช้าง ช้างบ้านทั่วไปนี่ล่ะ พอใช้งานเขาเสร็จก็ปล่อยให้ไปอยู่ตามป่า รู้สึกชอบความรู้สึกตอนนั้นจึงเริ่มปรับปางช้างให้เป็นมิตรกับช้าง โดยได้รับการสนับสนุนจาก World Animal Protection”
เริ่มปรับเป็น Following Giants เมื่อปี 2019 ถึงวันนี้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแบบเห็นได้ชัด ช้างที่ใช้ชีวิตแบบตามสบายเหมือนช้างป่าทั่วไป จากนิสัยเดิมขี้หงุดหงิด เบื่อ หรือมีการต่อต้าน เมื่อเขารู้ว่าจะไม่ถูกบังคับทำงาน เช้ามาก็เดินเที่ยวเล่น ไม่มีอาการหงุดหงิดหรือดุร้ายอีกเลย
“ประเด็นหลัก คือ ให้อิสระกับช้างนั่นเอง”
///// การแสดงที่มิต้องแสดง /////
กิจกรรมหลักของ Following Giants คือ พานักท่องเที่ยวเดินเข้าชมและศึกษาพฤติกรรมช้างตามธรรมชาติ ไปดูช้างแบบช้างป่าจริง ๆ ลอบมองว่าช้างทำอะไรบ้างในป่า ช้างกินอะไร เขามีกิริยาอย่างไร
“เราจะเว้นระยะห่างประมาณ 20 เมตร เมื่อนักท่องเที่ยวเดินไปเจอช้างเราก็หยุด เว้นระยะห่างไว้ประมาณ 20-30 เมตร ก็นั่งดูช้างกินหญ้า ช้างอาบน้ำ ช้างเล่นโคลน หรือว่าช้างหักกิ่งไม้ใหญ่ ๆ หลายคนเซอร์ไพรส์นะครับ เพราะถ้าเป็นเมื่อก่อนจะไม่ได้เห็นเขาทำตามใจเป็นธรรมชาติแบบนี้”
แต่กระนั้น ควาญช้างก็ยังต้องอยู่กับผู้มาเยือน เพราะช้างยังสังเกตเห็นคนที่เข้ามาหาและไว้ใจควาญที่อยู่กับเขามาตลอด ไม่แตกตื่นและเครียดที่มีคนอื่นเข้ามาใกล้
พื้นที่ปางช้างวันนี้กว้าง 45 ไร่ มีแปลงกล้วย แปลงหญ้า แปลงอ้อย แปลงมะพร้าว แปลงไม้ไผ่ มีสระน้ำอยู่ 3 สระ แล้วก็มีลำธารยาวประมาณ 500 เมตร เวลาช้างรู้สึกร้อน อยากอาบน้ำ อยากเล่นโคลนทำตามใจเลย ถ้าวันไหนฝนตกหรืออากาศเย็นเขาก็ไม่ลงเล่นน้ำ แต่จะไปเล่นดินแทน เอางวงซัดดินแห้ง ๆ ขึ้นไปบนหลัง สิ่งที่นักท่องเที่ยวจะได้ดูขึ้นอยู่กับช้าง ว่าเขาอยากจะทำอะไรในเวลานั้น และแต่ละจุดนั้นคือโชว์ของที่นี่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
“ภาพในกล้องของนักท่องเที่ยวจะเห็นช้างอยู่ในป่า ไม่มีคนติดเข้าไปในภาพเลย”
นักท่องเที่ยวจะเข้ามาได้กลุ่มละ 12 คน ต่อไกด์ 1 คน มาดูพฤติกรรมช้างในป่า ปลูกพืชอาหารช้าง ใช้เวลา 2 ชั่วโมงถึงครึ่งวัน แต่ถ้าเต็มวันเขาจะพาไปเที่ยวชมถ้ำและน้ำตกด้วย
หรือถ้าใครอยากไปขึ้นห้างสำหรับชมช้างก็มีจัดไว้ให้ โดยองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) เป็นผู้ให้การสนับสนุน ซึ่งในอนาคตจะมีการทำทางเชื่อมที่สามารถให้ผู้ใช้วีลแชร์สามารถมาเฝ้าชมช้างในบริเวณห้างเหล่านี้ด้วย
ตอนนี้ Following Giants มีช้างอาศัยอยู่เพียง 5 ตัว พี่ชเรบอกว่าอยากมีสัก 8 ตัว แต่ยังติดขัดเรื่องงบประมาณ ยิ่งในยุคโควิดยิ่งต้องคิดให้ดี เพราะค่าอาหารต่อตัวมิใช่น้อย
“เราจะซื้ออาหาร คันรถละ 3,000 บาท ได้ประมาณ 2,500 กิโลกรัม ตัวหนึ่งก็กินได้ 5 วัน ยังมีค่าเช่าช้างที่เราจ่ายให้ควาญอีกเดือนละสองหมื่นกว่าบาท ถ้าไม่ใช่ช่วงโควิดราคาสูงถึงราว 36,000 บาท เลยล่ะ”
นอกจากการให้ทุนช่วยเหลือด้านการก่อสร้าง World Animal Protection ยังช่วยเหลือด้านการตลาด เพื่อให้ปางช้างมีลูกค้าสามารถเพิ่มรายได้ และในช่วงภาวะโรคระบาด Covid-19 ที่ยอดนักท่องเที่ยวเป็นศูนย์ ก็ยังยื่นมือมาช่วยดูแลค่าอาหาร ค่าเช่าช้าง ค่าควาญ และอื่น ๆ เพื่อให้ Following Giants สามารถดูแลเพื่อนตัวใหญ่ให้อยู่คู่ผืนป่าแห่งเกาะลันตาได้อย่างที่เคยเป็นมา
ใครที่คิดว่า... แค่ปล่อยช้างเข้าป่าหากินเอง... ลองคิดดูใหม่อีกทีนะ
///// ใครเป็นใครในป่าผืนนี้ /////
เมื่อไม่นานมานี้ Following Giants เพิ่งเสียสมาชิกไป 2 ตัว “พังสาว” อายุ 76 ปี จากไปเพราะชราภาพ และ “พลายสมโชค” เขาลื่นล้มกลางดึกคืนหนึ่งในปี 2021
“วันนั้นฝนตกหนัก สมโชคล้มแล้วเส้นประสาทส่วนหัวไปกระแทกเข้ากับอะไรแรง ๆ จนมึนลุกไม่ขึ้น หมอบอกว่าถ้าไปเกี่ยวข้องกับเส้นประสาทตรงส่วนที่เลือดจะไปเลี้ยงสมอง ก็มีสิทธิเสียชีวิตได้”
พลายสมโชคจากไปในคืนฉ่ำฝนนั้นเลย
สมาชิกดั้งเดิมที่เหลืออยู่ก็คือ “พังมณีจันทร์” อายุเข้าปีที่ 47
“เธอเอาแต่ใจตัวเอง ร่าเริง อยากทำอะไรก็ทำไม่สนใจใคร นิสัยลุย ๆ พูดง่าย ๆ ถ้าเป็นผู้หญิงก็หยาบกระด้างหน่อย แต่เข้ากับนักท่องเที่ยว ควาญช้างและเด็กได้หมด ยกเว้นคนผมยาวสีดำประบ่า เพราะเมื่อก่อนตอนทำงานลากไม้ เจอคนลักษณะนี้ทำร้ายบ่อย จนติดใจว่าคนที่ผมยาวประบ่าจะมาทำร้ายนั่นเอง”
สมาชิกหมายเลขสอง คือ “พังแม่ทองสุข” เป็นสตรีเรียบร้อยเหมือนพับผ้าไว้ เดินเหินช้า ๆ ไม่หุนหันพลันแล่น กินก็กินช้าๆ ไม่ดุร้าย
ส่วนอีกสามตัวเพิ่งมาจากจังหวัดตรัง เพราะช้างหลายตัวถูกเลิกจ้างจากงานเดิมตอนภาวะโรงระบาดโควิด 19 จนเจ้าของต้องพาไปลากไม้อยู่ที่บ้านเกิด อย่าง “พลายไข่ดํา” อายุ 26 ปี เคยทํางานปางช้างขี่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีมาก่อน “พังโมตูแม” หรือเรียกกันในปางว่า “พังแตงโม” อายุ 38 ปี นี่ก็เคยอยู่ปางช้างจังหวัดภูเก็ต แล้วกลับไปทํางานลากไม้ที่จังหวัดตรัง และ “พังโม่ด้อเบ๊ะ” หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “พังจันทร์เล็ก” อายุ46ปี เธอทำงานลากไม้จนประสบอุบัติเหตุพลัดตกเขา บาดเจ็บที่ขาหลังและสะโพก จนต้องไปทำงานที่ปางช้างแห่งอื่นมาก่อน เพิ่งย้ายมาที่นี่สด ๆ ร้อน ๆ ต้นเดือนตุลาคม 2022 นี่เอง
คงเป็นช่วงชีวิตที่อิสระ ได้ทำงานในปางช้างที่มี High Animal Welfare ใส่ใจในสวัสดิภาพของเขา ไม่บังคับฝืนใจ ปล่อยให้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติ ทำงานที่หมายถึงไม่ต้องทำงาน คงจะทำให้พวกเขาสบายใจมากขึ้นกว่าที่เคยผ่านมา
///// ก้าวสั้น ๆ แต่มั่นคง /////
“มีคนสนใจการมาเฝ้าดูช้างในธรรมชาติมากนะครับ เอเจนต์ทัวร์หลายคนอาจยังไม่เข้าใจ เพราะเขารู้สึกว่ามาเดินตามช้าง เฝ้าดูช้างแบบนี้ ลูกทัวร์ไม่น่าจะสนุก แต่ถ้าบอกข้อมูลชัด ๆ ไป ว่าแบบนี้คือกับช้าง เป็นการเที่ยวแบบไม่ได้ทำร้ายใคร และคนมาเที่ยวก็ได้ข้อมูลที่เป็นความจริง สักวันก็คงจะขยายวงกว้างขึ้น”
กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาใช้เวลาสั้น ๆ แล้วอยากขี่ช้าง อยากอาบน้ำช้าง เพื่อจะเป็นความทรงจำในการมาเยือน คงจะผิดหวัง เพราะที่นี่หวังให้คุณอิ่มเอมแบบอนุรักษ์และเข้าใจเพื่อนร่วมโลกจริง ๆ
“การไม่เอาเปรียบช้าง ไม่ทำร้ายหรือบังคับช้าง เฝ้าดูช้างมีความสุข มีสวัสดิภาพที่ดี อาจทำให้คนที่ได้เห็นมีความสุขมากกว่าเดิมก็ได้”
ถ้าพร้อมแล้ว... ออกเดินตามเพื่อนร่วมโลกตัวยักษ์กันเถอะ
“การไม่เอาเปรียบช้าง ไม่ทำร้ายหรือบังคับช้าง เฝ้าดูช้างมีความสุข มีสวัสดิภาพที่ดี อาจทำให้คนที่ได้เห็นมีความสุขมากกว่าเดิมก็ได้