2 เกษตรกรดีกรีปริญญาเอก จาก “หัสดี และสุพัตราฟาร์ม” ร่วมพัฒนาและยกระดับการเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูง
ข่าว
จากเจตนารมณ์ที่สอดคล้องในการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์สวัสดิภาพสูง จึงเป็นเหตุผลที่สองนักศึกษาระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี วิชชุตา ขอสินกลาง แห่งหัสดีฟาร์ม และ วันเพ็ญ สอนสำโรง แห่งสุพัตราฟาร์ม จ.นครราชสีมา สมัครเข้าร่วมโครงการ “ฟาร์มแชมเปี้ยน”
ซึ่งเกิดจากความร่วมมือขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พร้อมรับลูกไก่สายพันธุ์โคราชไปเลี้ยงภายใต้แนวคิด Good Life Standards หรือมาตรฐานการเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูง โดยทั้งสองบอกตรงกันว่า อยากนำความรู้มาพัฒนาและยกระดับการเลี้ยงไก่ให้มีสวัสดิภาพมากขึ้น
หัสดีฟาร์ม เลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูง สร้างจุดขายที่แตกต่าง
วิชชุตา ขอสินกลาง นักศึกษาปริญญาเอก สาขาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางสัตว์ เจ้าของหัสดีฟาร์ม อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฟาร์มแชมเปี้ยนเพราะเนื่องจากที่หัสดีฟาร์ม เลี้ยงไก่แบบอินทรีย์อยู่แล้ว จึงมองเห็นโอกาสในการต่อยอดเรื่องการทำอาหารไก่อินทรีย์ และอยากนำความรู้ที่มี มาพัฒนาพร้อมยกระดับไก่โคราชให้มากขึ้น
“การเลี้ยงไก่อินทรีย์ วัตถุดิบที่นำมาทำอาหารไก่ค่อนข้างหายาก เราต้องเอาวัตถุดิบมาจาก จ.ศรีสะเกษ แต่พอมาทำฟาร์มเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูง องค์กรฯ ไม่ได้จำกัดเรื่องอาหารว่าต้องมาจากอินทรีย์ ประกอบกับข้อจำกัดและการจัดการค่อนข้างน้อยกว่าการเลี้ยงระบบอินทรีย์ ทำให้เราอยากเข้ามาศึกษา และคิดว่าน่าจะไปต่อได้ง่ายกว่า” เจ้าของหัสดีฟาร์ม เผยถึงแนวทางทำฟาร์มในอนาคต
สำหรับลูกไก่จำนวน 102 ตัว ที่ได้รับจากโครงการ อาศัยอยู่ในพื้นที่โรงเรือนขนาดประมาณ 5 ตัวต่อ 1 ตร.ม. และยังมีพื้นที่ปล่อยให้ไก่ได้มีอิสระ สามารถออกมาเดินเล่นและแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ เพียง 7 สัปดาห์ น้ำหนักของไก่เฉลี่ยประมาณ 1 กก. ส่วนการเจริญเติบโตนั้นเป็นไปด้วยดี ไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าวหรือจิกตีกันเลย ซึ่งนั่นหมายถึงไก่มีความเครียดในระดับต่ำมาก
“การเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูง มีจุดขายที่แตกต่าง เราสามารถบอกว่า การเลี้ยงแบบนี้ดียังไง ซึ่งแตกต่างจากการเลี้ยงไก่แบบปกติ เรามีพื้นที่ปล่อยให้เขาได้แสดงพฤติกรรมตามธรรรมชาติ และไก่ไม่เครียดเพราะความเครียดมีผลต่อคุณภาพของเนื้อไก่ และต่อสุขภาพของคนกิน ตรงนี้จะเป็นจุดขายให้เราได้ แต่อาจจะต้องออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวย แล้วขายในตลาดเฉพาะกลุ่ม ซึ่งอาจจะต้องยกระดับในเรื่องของราคาและตลาดที่เราจะเอาไปวาง” วิชชุตา อธิบายถึงการต่อยอดทางธุรกิจของการเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูง โดยเฉพาะความต้องการของตลาดผู้บริโภคที่ใส่ใจและให้ความสำคัญเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ รวมถึงผู้บริโภคที่สนใจสุขภาพมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
“เราเคยทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ เราเล็งเห็นว่า ไก่ไม่ได้เกิดมาเพื่อแค่เป็นอาหารในทันที เขามีช่วงชีวิตที่ต้องใช้ เราควรให้โอกาสเขาได้ใช้ชีวิตที่ดีก่อนที่เขาจะทำหน้าที่เป็นอาหาร และอีกอย่าง เรารู้ว่าอาหารที่เรากินส่งผลต่อสุขภาพ ถ้าเรากินไก่ที่ถูกเลี้ยงอย่างหนาแน่นและเครียดมากๆ แน่นอนย่อมส่งผลต่อสุขภาพทั้งสัตว์และคน”
การส่งเสริมให้เลี้ยงไก่อย่างมีสวัสดิภาพ ผ่านโครงการฟาร์มแชมเปี้ยน ไม่เพียงแต่เป็นการยกระดับการเลี้ยงสัตว์อย่างมีจริยธรรม และลดความทุกข์ทรมาน แต่ยังช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยหันมาสนใจการเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูง และต่อยอดอาชีพให้แก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน “โครงการนี้ให้โอกาสกับเกษตรกร ได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ ซึ่งสามารถต่อยอดอาชีพให้แก่เกษตรกรได้ เพราะถ้าเราเป็นเกษตรกรตัวเล็กๆ การจะ
เข้าร่วมกับ contract farm เป็นเรื่องยาก และใช้ต้นทุนสูง แต่โครงการฟาร์มแชมเปี้ยน ให้เราได้ทดลองว่าการเลี้ยงไก่แบบมีสวัสดิภาพสูงดียังไง คือมีจุดต่าง แล้วให้เอาตรงนี้ไปเป็นจุดขาย ที่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ได้ ทำให้เราต่อยอดกับอาชีพได้ ” วิชชุตา กล่าวทิ้งท้าย
สุพัตราฟาร์ม ทำฟาร์มให้สัตว์อยู่ได้อย่างมีความสุข
วันเพ็ญ สอนสำโรง เจ้าของสุพัตราฟาร์ม จ.นครราชสีมา นักศึกษาปริญญาเอก สาขาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางสัตว์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชสีมา เป็นเกษตรกรดีกรีปริญญาเอกอีกคนที่สนใจการเลี้ยงไก่ในโครงการฟาร์มแชมเปี้ยน โดยเธอเผยว่า ต้องการทำฟาร์มที่ทำให้สัตว์สามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข
เมื่อสาขาที่เรียนสอดคล้องกับการส่งเสริมให้เลี้ยงสัตว์อย่างมีสวัสดิภาพ จึงเป็นโอกาสดีที่วันเพ็ญได้เข้าร่วมโครงการฟาร์มแชมเปี้ยน เพื่อศึกษาระบบการเลี้ยง การบริหารจัดการจากผู้เชี่ยวชาญ และได้แลกเปลี่ยนข้อมูลจากผู้เข้าร่วมโครงการด้วยกัน โดยวันเพ็ญ เล่าว่า ได้ดูแลและจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งในและนอกโรงเรือน เริ่มแรกถ้าเป็นกลุ่มของไก่เด็ก ก็ต้องดูแลเรื่องอุณหภูมิของโรงเรือน พอเริ่มโตขึ้น ก็ดูแลเรื่องของการขยายบริเวณ หลังจากขยายบริเวณจนอายุประมาณ 7 สัปดาห์ ก็เริ่มทำการปล่อยออกไปยังข้างนอกเพื่อให้ไก่ไปจิกกินหญ้า โดยที่สุพัตราฟาร์มมีการเตรียมปลูกหญ้า และปลูกพืชอื่นๆ เพื่อให้ไก่ได้เล่น ได้จิกกิน รวมทั้งอุปกรณ์ที่ช่วยในการแสดงพฤติกรรม อาทิ คอนไม้ และอุปกรณ์ให้กระโดดเล่น เป็นต้น
ที่ผ่านมาวันเพ็ญเคยมีประสบการณ์เลี้ยงไก่ในฟาร์มปิดในช่วงฝึกงาน ทำให้เธอเห็นถึงความแตกต่างของการเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูง โดยเฉพาะพฤติกรรมของไก่ที่สามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้มาก ไม่ก้าวร้าว และส่งเสริมการจิกหาอาหาร ทำให้ได้รับสารอาหารจากธรรมชาติโดยตรง
“เราต้องการทำฟาร์มที่อยากให้ไก่หรือสัตว์ที่เราเลี้ยง สามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข การได้เข้าไปทำงานร่วมกับโครงการที่เขามีการศึกษาเกี่ยวกับระบบการเลี้ยงแบบปล่อย ทำให้เราได้เห็นว่า นอกจากไก่ได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติแล้ว ผู้บริโภคเองก็ได้รับประโยชน์ที่ดีด้วย”
ตลอดระยะเวลา 2 เดือนกับการเลี้ยงไก่นับร้อยตัว วันเพ็ญมองเห็นถึงโอกาสและการต่อยอดทางธุรกิจของไก่สวัสดิภาพสูง โดยเธอ กล่าวว่า “หากเกษตรกรไม่ได้มีอาชีพหลัก และต้องการที่จะทำเป็นอาชีพเสริม คิดว่าสามารถเป็นไปได้ เพราะการดูแลไม่ได้ยุ่งยาก ส่วนใหญ่จะเป็นการเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตของไก่ ให้เขามีการเจริญเติบโตที่เป็นไปตามมาตรฐาน ก็น่าจะทำเป็นอาชีพหลักได้ แต่อาจจะต้องดูว่าเกษตรกรสามารถเลี้ยงได้ในระดับไหน
นอกจากนี้ คือการสร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภคให้มากขึ้น ทั้งในพื้นที่ จ.นครราชสีมา และพื้นที่อื่นๆ บางคนยังไม่ค่อยเข้าใจทั้งสายพันธุ์ไก่โคราชและระบบการเลี้ยงที่มีสวัสดิภาพสูง คงต้องมีการสื่อสารและขยายการรับรู้ให้มากขึ้น” เจ้าของสุพัตราฟาร์ม กล่าว พร้อมย้ำว่า การเลี้ยงไก่อย่างมีสวัสดิภาพ เป็นพื้นฐานที่ไก่ควรได้รับอยู่แล้ว แต่สิ่งที่นอกเหนือไปกว่านั้น คือการเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูง ช่วยเติมเต็มจิตใจทั้งเกษตรกร
ที่เมื่อเห็นไก่มีความสุข ก็ทำให้คนเลี้ยงมีความสุขไปด้วย รวมถึงผู้บริโภคที่จะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการที่ไก่มีสุขภาพดี