Happy Grocers ซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์สายเขียว
ข่าว
Happy Grocers ร้านขายของชำออนไลน์แบบยั่งยืนส่งตรงผลผลิตเกษตรกรอินทรีย์สู่ผู้บริโภคคนเมืองแห่งแรกของประเทศไทยที่ก่อตั้งโดยคนรุ่นใหม่ โม-สุธาสินี สุดประเสิรฐ และ มุก-ปัทมาภรณ์ ดำนุ้ย สองเพื่อนสนิทซึ่งมองเห็นปัญหาของระบบอาหารของประเทศไทย
ตั้งแต่การที่เกษตรกรรายย่อยและขนาดกลางถูกละทิ้งจากห่วงโซ่อุปทานเนื่องจากการเข้าถึงตลาดมีจำกัด ไปจนถึงการใช้พลาสติกอย่างมากเกินไปในบริการจัดส่งอาหาร วันนี้ สตาร์ทอัพสาวสายเลือดไทยได้ดำเนินธุรกิจมากว่า 2 ปีแล้ว พร้อมตั้งเป้าหมายในการสร้างความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน เพื่อช่วยให้เกษตรกรในท้องถิ่นทำฟาร์มในลักษณะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชน
เริ่มต้นจากโพสเฟซบุ๊ก
เพราะผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2563 ส่งผลทำให้เกษตรกรประสบปัญหาในการจำหน่ายผลผลิต ขณะเดียวกันเพื่อนๆ ชาวต่างชาติก็เริ่มบ่นว่าหาซื้อผักผลไม้สดนอกห้างสรรพสินค้าไม่ได้เลย แถมยังต้องการซื้อสินค้าที่ไม่บรรจุพลาสติก โม-สุธาสินี สุดประเสิรฐ นักศึกษาสาวจากวิทยาลัยโลกคดีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงโพสต์บนเฟซบุ๊กของตัวเองสั้นๆ ว่า “มีใครอยากได้ผักผลไม้มั้ย ได้ช่วยเกษตรกร ส่งตรงถึงบ้าน” เพียงคืนเดียวยอดพรีออเดอร์ส่งมาถึง 20 ราย
“ตอนนั้นโมอยู่จ.กระบี่ ชุมชนที่โมไปอยู่ เขามีผัก มีวัตถุดิบในพื้นที่ แต่ในตอนนั้นโมก็ยังคิดไม่ออกว่าจะส่งสินค้าจากกระบี่ยังไง เลยคิดว่า ถ้าเราไปเอาจากตลาดไท ก็น่าจะง่ายกว่า เลยเริ่มจากตรงนั้น”
โม-สุธาสินี หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Happy Grocers กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการมองเห็นโอกาสและความต้องการของผู้บริโภค จึงร่วมกับเพื่อนสาวคนสนิท มุก-ปัทมาภรณ์ ดำนุ้ย สร้างสรรค์แพลตฟอร์มในรูปแบบร้านจำหน่ายของชำออนไลน์ จนสามารถคว้ารางวัลจากเวที Startup Thailand League 2020 ซึ่งการันตีว่าสิ่งที่พวกเธอกำลังทำนั้นสร้างความสุขให้กับผู้ซื้อและผู้ขาย
สัมผัสและเรียนรู้กับเกษตรกรตัวจริง
การรับสินค้าจากพ่อค้าคนกลางในตลาดไทซึ่งถือว่าเป็นตลาดขายส่งขนาดใหญ่ ถือเป็นวิธีที่ง่ายต่อการบริหารจัดการ แต่กลับไม่ได้ตอบโจทย์ตามเป้าหมายของการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยและคุณภาพของผลผลิตในแบบที่ควรจะเป็น Happy Grocers จึงเปลี่ยนวิธีคิดและการทำงานโดยเข้าไปสัมผัสและเรียนรู้กับเกษตรกรถึงพื้นที่เพาะปลูกจริงๆ เพื่อการันตีว่าสิ่งที่เธอนำมาจำหน่ายนั้นมีเรื่องราวที่มาที่ไปและรับประกันเรื่องความปลอดภัย
“จุดเปลี่ยนของเราคือ ตอนไปเจอผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่เขาเคลมว่าสินค้าเป็นออร์แกนิก ซึ่งขณะนั้นเรายังไม่ใช่สายแข็ง เราก็โอเค เขามาก็ดี เราจะได้ไม่เหนื่อย จนมีอยู่วันนึงโมไปคุยกับเพื่อนที่รู้จัก เขาถามโมว่าโมเคยถามเขาไหมว่าผักมันมาจากไหน เราก็บอกไปว่าแครอทมาจากสระบุรี เขาบอกว่ามันสมเหตุสมผลหรือเปล่าเพราะแครอทมันควรจะมาจากพื้นที่อากาศหนาว ในขณะที่สระบุรีอากาศร้อนและส่วนใหญ่เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม มันเป็นความรู้สึกที่ไม่ดีเลยว่า เราไม่รู้ที่มาของสินค้าอย่างแท้จริง จนกระทั่งไปเจอเกษตรกรที่มีสวนของตัวเอง ไปเรียนรู้กับเกษตรกรจริงๆ ศึกษาว่าออร์แกนิกคืออะไร ปลูกยังไง และถ้าเราจะไปต่อ เราต้องมั่นใจได้ว่าสินค้าเราปลอดภัย โมจึงกลับมาดำเนินการทุกอย่างเอง ตอนแรกเราก็เอาง่าย แบบให้คนอื่นทำ แต่พอทำไปทำมา มันไม่ตอบโจทย์หลักการของเรา โมรู้สึกดีใจด้วยซ้ำที่เขาส่งของมา ไม่งั้นเราก็ไม่เกิดการเรียนรู้ เหมือนจุดประกายให้เราเดินทางนี้”
โม ย้อนประสบการณที่เป็นเสมือนบทเรียนครั้งสำคัญ
เครือข่ายเกษตรกรกว่า 100 ราย
ปัจจุบัน Happy Grocers ซูเปอร์มาร์เก็ตสายเขียว มีเครือข่ายเกษตรกรที่ทำงานด้วยกว่า 100 ราย ครอบคลุม 16 จังหวัดทั่วประเทศ และมีผลผลิตที่จำหน่ายหลากหลายถึง 400 รายการ อาทิ ผัก ผลไม้ โยเกิร์ต เครื่องปรุง ไข่ เนื้อสัตว์ นม เป็นต้น โดยมีลูกค้าร้อยละ 95 เป็นชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในย่านสุขุมวิท บางนา สาทร และอารีย์ ซึ่งแต่ละสัปดาห์รถบรรทุกคันเล็กๆ น่ารักๆ จะเข้ามาจอดส่งสินค้าตามคอนโดมิเนียมต่างๆ หมุนเวียนตามตารางเวลาที่กำหนด เพื่อให้ลูกค้าในละแวกนั้นได้มาเลือกซื้อสินค้าในราคายุติธรรม ส่งต่อผลิตภัณฑ์จากเกษตรกรเครือข่ายที่มั่นใจได้ว่าปลอดสารเคมีและปราศจากการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือแม้แต่เนื้อสัตว์ก็นำมาจากฟาร์มปศุสัตว์เครือข่าย รวมทั้งกลุ่มสหกรณ์จังหวัดต่างๆ ที่มีมาตรฐานเพื่อส่งถึงมือผู้บริโภคโดยตรง
“ปัญหาใหญ่ที่สุด คือเกษตรกรไม่สามารถขายสินค้าได้ในราคาที่สมเหตุสมผล เนื่องจากราคาถูกเซ็ตโดยกลไกของตลาด เกษตรกรก็เลยต้องเดินตามเพราะเขาไม่รู้จะไปขายที่ไหน อย่างเกษตรกรที่โมไปคุยด้วยเขาบอกว่าทำมา 30 ปีแล้วราคาสินค้าในท้องตลาดขึ้นทุกปีแต่กลับโดนกดราคารับซื้อมาตลอด เขาไม่มีอำนาจต่อรองที่มากพอ จึงต้องยอมขายราคาที่ถูกกว่า พอเราเข้าใจว่าเราต้องการตลาดใหม่นะ แต่การทำตลาดขึ้นมาใหม่ก็ยากเหมือนกัน บางคนอาจจะมองคนกลางไม่ดี แต่จริงๆ โมมองว่าคนกลางทำงานยังไงมากกว่า การมีคนกลางมันดีนะ เพราะได้สื่อสารกับคนทั้งสองฝ่าย โมรู้สึกว่าเกษตรกรเขาใช้เวลาไปกับการปลูกผัก ทำสวน จึงไม่มีเวลามานั่งดูด้านการตลาด คือไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้ครบวงจร”
โม กล่าวถึงการทำหน้าที่คนกลางที่เชื่อมโยงเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการ SME ให้เข้าถึงตลาดที่มีความต้องการบริโภคอาหารอินทรีย์ และใส่ใจสิ่งแวดล้อม ตลอดจนให้ผู้บริโภคได้มีทางเลือกในการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มาจากฟาร์มที่เลี้ยงสัตว์อย่างมีสวัสดิภาพ
“การที่เราดูแลสัตว์ซึ่งวันหนึ่งเขาจะเป็นอาหารของเราให้มีสวัสดิภาพที่ดี มันสำคัญมากๆ จากมุมมองลูกค้าของโม เรื่องความสะอาด ปลอดภัยก็ส่วนหนึ่ง แต่การที่เราจะสร้างผลกระทบให้น้อยที่สุดในชีวิตของสัตว์ การใส่ใจเรื่องสวัสดิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่างถ้าเราจะกินเนื้อสัตว์ สัตว์ฟาร์มเหล่านี้ก็ควรมีชีวิตที่ดีก่อนที่จะกลายเป็นอาหารของเรา”
ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์หรือสินค้าประเภทอื่นๆ สิ่งที่ Happy Grocers พยายามทำให้ดีที่สุดคือ การสื่อสารข้อมูลไปยังผู้บริโภคให้มากที่สุด เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจ
“ไม่ว่าคุณจะกิน Plants Based หรือ Vegan สุดท้ายขึ้นอยู่กับว่าคุณอยากจะสนับสนุนใครมากกว่า การตัดสินใจที่จะกินอะไรครั้งนึงขึ้นอยู่กับเขา”
โม กล่าวย้ำ
สิ่งที่มีความสุขและสร้างความสุข
นอกเหนือจากการนำสินค้าออกจำหน่ายตามชุมชนคนรักเกษตรอินทรีย์ด้วยรถบรรทุกสุดคูล และการจำหน่ายสินค้าผ่าน www.happygrocers.co ลูกค้าหัวใจสีเขียวยังสามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ต่างๆ ได้ด้วย พร้อมกันนี้ โม ยังวางแผนขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าไปยังต่างประเทศ ด้วยการส่งออกมะพร้าวไปยังประเทศแถบยุโรป และอังกฤษ ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการเปิดตลาดต่างประเทศในอนาคต
“เราจะทำยังไงให้ตลาดนี้อยู่ได้ ให้เขาเข้ามาในห่วงโซ่อุปทานของเราให้มากขึ้น จึงกลายเป็นที่มาของโปรเจ็กต์ส่งออก โดยใช้มะพร้าวเป็นตัวนำร่อง ซึ่งพอเรามาดูตลาด ในฐานะสตาร์ทอัพที่เล็กมากๆ เราจึงปักหมุดไปที่อังกฤษและยุโรปก่อน และหาโอกาสที่จะขยายไปยังผลิตภัณฑ์อื่นๆ ด้วย”
อย่างไรก็ดี โมย้ำว่า การสื่อสารให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือช่องทางในการสื่อสาร เพราะหาก Happy Grocers วางตัวเองเป็นร้านจำหน่ายผักและผลไม้อินทรีย์ ก็อาจจะต้องแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่หากบอกว่า Happy Grocers คือ สตาร์ทอัพสาย Grocery คนย่อมให้ความสนใจมากกว่า โดยเฉพาะลูกค้าชาวต่างชาติที่ตระหนักและให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาของอาหาร
“ลูกค้าส่วนใหญ่ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพของลูก เมื่ออยากอยู่กับลูกไปนานๆ ดังนั้นฉันต้องกินดีด้วย ลูกก็ต้องกินดีด้วย เรื่องสุขภาพเป็นอะไรที่กลุ่มชาวต่างชาติให้ความสำคัญมากๆ สิ่งแวดล้อมก็เช่นกัน เขาจะคิดว่า ผัก ผลไม้ออร์แกนิกมันดี แล้ววิธีที่จะเข้าถึงผลไม้เหล่านี้ก็ควรจะดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย”
สำหรับบางคน Happy Grocers อาจเป็นเพียงแพลตฟอร์มร้านขายของชำออนไลน์ที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ แต่หากได้สัมผัสเรื่องราวและรับรู้ถึงความตั้งใจของสองสาวผู้บุกเบิก โมและมุก ซึ่งทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจในการทำงาน Happy Grocers น่าจะเป็นพื้นที่ที่สร้างความสุขและส่งมอบความสุขให้กับคนทั้งห่วงโซ่อุปทานได้อย่างยั่งยืน...