“พันธมิตรผลิตอาหารปลอดภัย” เปลี่ยนโลกด้วยการเลือกอาหารใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์
ข่าว
ทราบหรือไม่ว่าทุกวันนี้การผลิตเนื้อสัตว์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่าตัว ภายใน 50 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในแถบประเทศเอเชียและแอฟริกา
โดยสัตว์ในฟาร์มอุตสาหกรรมกว่า 8 หมื่นล้านตัวทั่วโลก ถูกนำมาเป็นอาหารตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค แต่ราว 2 ใน 3 ของสัตว์เหล่านั้นต้องอยู่ใสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่และทุกข์ทรมานจากกระบวนการเลี้ยงในระบบอุตสาหกรรม ซึ่งจัดว่าเป็น “การทารุณกรรมสัตว์” ประเภทหนึ่ง องค์กรพิทักษ์สัตว์โลก (World Animal Protection) จึงมุ่งมั่นที่จะสร้างความตระหนัก กระตุ้นเตือนให้กับผู้ผลิต และผู้บริโภค เห็นถึงความสำคัญของการทำฟาร์มอุตสาหกรรมโดยคำนึงถึง “สวัสดิภาพสัตว์” (Animal Welfare) แม้สุดท้ายเขาเหล่านั้นจะกลายมาเป็นอาหารของเราก็ตาม
หนึ่งในกิจกรรมไฮไลท์ที่องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย จัดขึ้นในงาน Happy Meat Happy Me สัตว์อยู่ดี คนอยู่ได้ ระหว่างวันที่ 20-23 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมาได้แก่การเสวนา “พันธมิตรผลิตอาหารปลอดภัย” โดยได้รับเกียรติจากเครือข่ายผู้เลี้ยงไก่ และสุกร ได้แก่ หมอฟิวส์-วานิชย์ วันทวี เจ้าของ ว.ทวีฟาร์ม ปศุสัตว์แบบไบโอไดนามิก พันชนะ วัฒนเสถียร ผู้ก่อตั้งโครงการ Food for Fighters และ โจ สโลน ผู้ก่อตั้ง Sloane's เครือข่ายแบรนด์ที่รับซื้อผลิตภัณฑ์ที่ใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์
หมอฟิวส์-วานิชย์ วันทวี เริ่มต้นเล่าถึงที่มา กว่าจะมาเป็นเจ้าของ ว.ทวีฟาร์ม ว่า ตนเองเคยเป็นหมอรักษาสัตว์มาก่อน ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่อยู่ในวงการปศุสัตว์แบบอุตสาหกรรม ได้เห็นความเชื่อแบบผิดๆ ในวงการเลี้ยงสัตว์ที่ส่งต่อกันมา อาทิ การจำกัดพื้นที่สัตว์ให้อยู่ในคอกแคบๆ หรือ การให้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น โดยไม่ได้คำนึงถึงสุขภาพจิตและสุขภาพกายของสัตว์ จนเมื่อเขาหันมาเปลี่ยนแนวทางการเลี้ยงสัตว์เป็นระบบไบโอไดนามิก (Biodynamic) ที่ยึดหลักทุกอย่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน สัตว์แต่ละชนิดในฟาร์ม ไม่ว่าจะเป็น หมู วัว ไก่ เป็ด ห่าน ต่างได้ใช้ชีวิตอย่างเป็นอิสระในพื้นที่โล่งกว้างขวาง และสามารถแสดงพฤติกรรมสัตว์ได้อย่างเต็มที่ เป็นระบบที่ธรรมชาติเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
“สัตว์ที่อยู่ในฟาร์มอุตสาหกรรม จะมีความหวาดระแวงและเครียด แม่พันธุ์จะถูกแยกออกมาอยู่ในกรง หรือในคอกขนาดเท่านั้นเท่านี้เพื่อให้เหมาะสมกับรุ่นนั้นๆ ตามที่เขาบอกกัน แต่พอเราเลี้ยงแบบไบโอไดนามิก สัตว์จะไม่เครียดและมีความสุขมาก ได้อยู่ในที่กว้างๆ เห็นต้นไม้ใบหญ้า เจอแสงแดด ดูพระจันทร์ เห็นฝน เล่นโคลน ได้อยู่กับธรรมชาติจริงๆ และแสดงออกตามพฤติกรรมตามที่ควรจะเป็น เช่น ตอนเช้า แม่หมูจะพาลูกออกมารับวิตามินดี หรือคืนพระจันทร์เต็มดวง ก็จะเห็นไก่ วัว หมู ออกมาดูแสงจันทร์ บอกเลยว่าคุณจะไม่เคยได้ความรู้สึกนี้จากฟาร์มอุตสาหกรรม ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่เราได้รับคือ สัตว์มีสุขภาพดี ความเจ็บป่วยของสัตว์ น้อยลง หรือถ้าเจ็บจริงก็จะไม่หนักหนา สุดท้ายมันคือการเกื้อกูลกันของสัตว์ทุกชนิด และผมเชื่อว่าสุขภาพที่ดี เกิดจากดินที่ดี เพราะถ้าดินดี เราจะปลูกพืชอะไรก็ได้ มันจะดี เนื่องจากผมมีปุ๋ยในธรรมชาติอยู่แล้ว มีความหลากหลายของสัตว์ที่เลี้ยง มูลไก่ มูลเป็ด มูลห่าน มันจะมีแร่ธาตุของมันอยู่ หมูพอเข้าไปในแปลงก็จะดุนให้ดินร่วนขึ้น มีการถ่ายมูล พอไก่มาก็จะเขี่ยให้แห้ง ทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็น มันจะเกิดการพลิกหน้าดินโดยธรรมชาติ และเมื่อมีหนอน หรือแมลงวัน ไก่ กับนกก็จะมากิน รวมถึงเป็ดซึ่งเป็นสัตว์ที่มีธาตุในร่างกายที่สูง เขาสามารถกินและฆ่าพยาธิได้ ทุกอย่างล้วนเกื้อกูลกัน พอดินมีความอุดมสมบูรณ์ ก็จะมีจุลินทรีย์โปรไบโอติกในดิน เมื่อสัตว์กินเข้าไปก็จะช่วยเรื่องระบบย่อยอาหาร เป็นต้น”
ทั้งนี้การผลิตอาหารที่ปลอดภัยและใส่ใจในสวัสดิภาพสัตว์ ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้บริโภคได้อาหารที่ดี มีคุณภาพ แต่ยังทำให้เกิดความยั่งยืนในธุรกิจอาหาร โดยเจ้าของ ว.ทวีฟาร์ม กล่าวว่า
“ทุกคนสามารถลงมือทำในบริบทของตัวเองได้ ในฐานะผู้ผลิตผมก็ทำให้ดีที่สุด ผู้บริโภคก็เช่นเดียวกัน เขาจะสนับสนุนในพื้นที่ไหนก็ได้ ในแบบที่เขาเชื่อว่ามันเติบโตได้จริงๆ ทุกคนมีสิทธิ์เลือกด้วยตัวของคุณเอง เพราะเราเชื่อว่าคนทุกคนคือคนเดียวกัน เป้าหมายของ ว.ทวีฟาร์ม เราจะผลิตอาหารแบบที่เรากินเองให้กับคนอื่น ผมจึงภาคภูมิใจเมื่อผลิตภัณฑ์ที่เราทำแล้วมีคนอยากได้ ถ้าเราเชื่อและลงมือทำ มันจะเกิดอิมแพคหรือแรงกระเพื่อมให้กับสังคม และเกิดแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนอีกมาก”
ด้าน โจ สโลน เชฟชื่อดังชาวอังกฤษ ผู้มีประสบการณ์การทำงานในโรงแรมชั้นนำและร้านอาหารระดับมิชิลินสตาร์ของโลก ย้อนไปเมื่ออดีตราว 10 ก่อน ที่มาเมืองไทย ตอนนั้นเขารู้สึกว่าวัตถุดิบที่นำมาปรุงอาหาร ไม่สามารถรู้ถึงแหล่งที่มาได้เลย จนกระทั่งได้เจอกับเพื่อนเชฟที่มีแนวคิดเดียวกัน จึงได้มีโอกาสไปดูการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มต่างๆ จนเมื่อไปเจอฟาร์มที่เลี้ยงสัตว์อย่างมีสวัสดิภาพ ไม่ถูกทรมาน มีอิสระ และกินอาหารที่ดี จึงได้ทำงานร่วมกับฟาร์มที่มีแนวคิดเกษตรธรรมชาติ เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่ดี
“นอกจากสวัสดิภาพสัตว์ที่ดีแล้ว มันคือสิ่งที่เราบริโภค ถ้าเราบริโภคสิ่งที่ดี มันก็ดีกับสุขภาพของเราอย่างแน่นอน การรู้จักแหล่งผลิตของอาหาร และการได้ร่วมแรงร่วมใจ สนับสนุนเกษตรกรรายย่อยที่ร่วมอุดมการณ์กับเรา ผมคิดว่ามันคือคำตอบ ของการพัฒนาเรื่องความยั่งยืนทางอาหาร ระบบสภาพแวดล้อมที่สอดคล้องตามกลไกของธรรมชาติ คือหลักประกันของคุณภาพของอาหารและการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี”
ในขณะที่ พันชนะ วัฒนเสถียร นอกเหนือจากการเป็นผู้ก่อตั้งโครงการ Food for Fighters แล้ว เธอยังเป็นเจ้าของร้านอาหารรสชาติอีสาน “เป็นลาว” ที่เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา และยังพ่วงตำแหน่ง นายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ อีกด้วย โดยเธอร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะว่า
“เราทำร้านอาหารเป็นลาวมา 12 ปี และใช้ไก่แบบ free range คือเลี้ยงแบบอิสระ ยิ่งขายดีมากก็ยิ่งรู้สึกบาป และด้วยความที่เราทำงานร่วมกับมูลนิธิและชุมชน เราคือ Community Restaurant จึงกำหนดสัดส่วนว่าเราจะใช้ผลิตภัณฑ์ในชุมชนมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ โดยพยายามใช้แบรนด์ที่เรามั่นใจ และมีที่มาที่ไป เพราะเราไม่ควรเสิร์ฟลูกค้าด้วยอาหารที่มีสารพิษ ซึ่งเรื่องนี้คือความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม”
ตลอดเวลา 20 ปีในการทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ผนวกกับการเป็นนายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ พันชนะ มองเห็นช่องทางและโอกาสที่จะเชื่อมโยงเครือข่ายร้านอาหารกับฟาร์มของเกษตรกร โดยใช้บิสซิเนสโมเดลแบบอีโคซิสเท็ม (Ecosystems) ด้วยการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวของในการพัฒนาด้านต่างๆ อาทิ ผลักดันให้อาหารเช้าของโรงแรมในเขาใหญ่ทั้งหมดใช้ไข่ไก่อารมณ์ดี ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็น่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นจริงได้
“สิ่งที่เราได้จากไข่ไก่อารมณ์ดี คือความไม่เท่ากันของขนาด ดังนั้นผู้บริโภคต้องเปลี่ยนความคิด อันดับแรกคือยอมรับในธรรมชาติของมันก่อน เพราะนั่นคือความไม่สม่ำเสมอของไข่ เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดว่า มันเป็นธรรมชาติ แน่นอนว่าพอเราได้ทำงานกับเกษตรกรโดยตรง เขาก็มีรายได้ มีความสุข ในเมื่อผู้ผลิตอาหารมีความสุข คนกินก็มีความสุข แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ยุติธรรมเลยคือ ทำไมสังคมเราซึ่งมีปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงอยู่แล้ว คนมีเงินกว่าถึงได้กินของที่ดีกว่า และถ้าเราจนหรือมีรายได้น้อย เราต้องกินผักที่มีสารเคมีเหรอ เราต้องผลักดันให้สิ่งเหล่านี้ และคนทั่วไปหรือคนส่วนใหญ่ในประเทศ สามารถบริโภควัตถุดิบที่มีคุณภาพและปลอดภัยได้นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง”
อย่างไรก็ดี ผู้ก่อตั้งโครงการ Food for Fighters ยังกล่าวเสริมอีกว่า นอกเหนือจากของคนตัวเล็กที่จะเปลี่ยนแปลงโลกแล้ว นโยบายของภาครัฐก็มีส่วนสำคัญอย่างมากในการทำให้ธุรกิจในระบบอาหารที่ส่งเสริมสวัสดิภาพเกิดความยั่งยืน
“ถ้าครัวของโรงพยาบาล และครัวโรงเรียน เปลี่ยนแปลงมาใช้ผลิตภัณฑ์จากฟาร์มที่ส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ ลองคิดดูว่าความยั่งยืนของการเลี้ยงฟาร์มปศุสัตว์ และการปลูกผักในวงจรจะเป็นอย่างไร ทุกวันนี้เราพูดถึงคาร์บอนฟุตปริ้นท์ หรือสิ่งแวดล้อมอะไรก็ตาม แต่หากภาครัฐทำเรื่องนี้ มันจะเปลี่ยนแปลงได้จริง เราเชื่อในแง่ของนโยบายอย่างหนึ่ง ส่วนเรื่องของปัจเจก หากเราชอบ เราก็ช่วยและใช้จะช่วยให้ธุรกิจในวงจรยั่งยืนได้อย่างแน่นอน ไม่ว่าเราจะอยู่ในเซ็กเมนต์ไหนก็ตาม”