“เป็นลาว” – “สยามฟาร์ม” แห่ง จ.นครราชสีมา
ข่าว
ยกระดับเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูง สร้าง Ecosystem ขยายเครือข่ายธุรกิจแบบยั่งยืน
“เป็นลาว” ต่อยอดเป็นผู้ผลิตไก่ครบวงจร สร้างเครือข่ายกระจายสู่ชุมชน
พันชนะ วัฒนเสถียร ผู้ก่อตั้งร้านอาหารชื่อดัง “เป็นลาว” แห่งเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา และ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นหนึ่งในผู้สนใจเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูง เนื่องจากธุรกิจร้านอาหารต้องใช้ไก่จำนวนมาก เขาจึงอยากเป็นผู้ผลิตและนำไก่มาแปรรูปเป็นวัตถุดิบให้กับลูกค้าแบบครบวงจร เพื่อให้มั่นใจว่าไก่ที่นำมาปรุงเป็นอาหาร ผ่านการคัดสรรและดูแลเป็นอย่างดี ที่สำคัญคือปลอดภัยแน่นอน
“ปัจจุบันเราเลี้ยงไก่ไข่ และไก่เนื้อประมาณ 50 ตัวที่หลังร้าน จึงสนใจและวางแผนว่าจะทำฟาร์มของเราเองในขนาดที่ใหญ่ขึ้น โดยไก่ที่ได้มาจากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ประมาณ 102 ตัว เราปล่อยให้อยู่อย่างอิสระ ทำโรงเรือนแยกจากไก่ที่เลี้ยงเดิม และมีพื้นที่สำหรับปล่อยให้เขาออกมาเดินเล่น มีที่ปีนป่าย และมีตัววัดอุณหภูมิ มีหลอดไฟให้ความอบอุ่น ตามมาตรฐานที่องค์กรกำหนด ซึ่งแต่ละวันเราจะให้อาหาร 3 เวลา และมีผักจากที่ร้านมาเป็นอาหารเสริม”
พันนะ เล่ากระบวนการเลี้ยงไก่ที่ได้รับจากโครงการ พลางบอกต่อถึงพฤติกรรมของลูกไก่ว่า ช่วงแรกๆ ตอนให้อาหารไก่จะเดินหนี แต่ตอนนี้ทุกตัวจะวิ่งกรูเข้ามาออกัน เหมือนรู้เวลา และไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าวหรือจิกตีกัน เรียกว่าเป็นไก่อารมณ์ดีก็คงไม่ผิดนัก
แม้จะไม่มีพื้นฐานการเลี้ยงไก่มาก่อน แต่หลังจากได้รับการอบรมและได้รับคำแนะนำจากเครือข่ายสมาชิกในโครงการ จึงสามารถเลี้ยงไก่ได้ตามมาตรฐาน โดยมีอัตราการตายเพียง 4 ตัว ด้วยสาเหตุของสภาพอากาศในช่วงฤดูฝนที่แปรปรวน
“จริงๆ โครงการนี้น่าสนใจมาก สำหรับคนที่ไม่มีความรู้เลย จะมีการฝึกอบรม มีเอกสาร และมีกลุ่มเครือข่ายให้คำปรึกษา สามารถทำในครอบครัวและทำเป็นอาชีพได้ ผมว่าเป้าหมายในอนาคต ไก่โคราชจะเป็นไก่ที่ตีตลาดบนได้เลย ด้วยคุณภาพของตัวไก่เอง เพราะไก่โคราชได้รับการวิจัยว่าค่ายูริกต่ำมาก ส่วนการดูแล ก็ไม่ยุ่งยากเลย เพียงแต่ช่วงแรกอาจจะต้องศึกษานิดนึง แต่เราสามารถขอคำแนะนำได้ว่าจะเลี้ยงยังไง เลือกวัสดุแบบไหน ปูพื้นรองให้ไก่ยังไง ซึ่งเป็นการเรียนรู้ไปด้วยกัน”
ไม่เพียงคุณภาพของไก่โคราชที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค ทว่าการเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูงยังเป็นสิ่งที่ผู้บริหาร “เป็นลาว” มองเห็นถึงโอกาสในการต่อยอดทางธุรกิจอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างเครือข่ายร่วมกับชุมชน รวมถึงพนักงานร้านที่อายุมากขึ้น แทนที่จะเลิกจ้างก็สามารถให้มาทำงานอยู่ที่ฟาร์มดูแลไก่ หรือพนักงานที่สนใจเลี้ยงไก่ ก็สามารถขอย้ายจากการทำงานในร้านอาหารมาเลี้ยงไก่ในฟาร์มได้เช่นกัน
“เราวางแผนเลี้ยงไก่ในหลายจังหวัด ทั้งไก่ไข่และไก่เนื้อ ราว 7,000 ตัว เริ่มต้นจากพื้นที่ที่เรามีอยู่ เช่น จ.ขอนแก่น จ.ชัยภูมิ รวมถึง สปป.ลาว ซึ่งเป็นฟาร์มเครือข่าย โดยจะทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ในชุมชนเพื่อให้เกษตรกรได้เข้ามาศึกษางาน และนำไปปฏิบัติงานจริง มีตัวแทนของเราเข้าไปตรวจสอบคุณภาพในแต่ละฟาร์ม เพื่อสร้างอาชีพให้กับชุมชนโดยรอบ รวมถึงคนที่สนใจแต่อาจจะมีพื้นที่ไม่เยอะ ถึงไม่ได้ทำเป็นอาชีพ แต่ก็สามารถเลี้ยงครอบครัวได้”
นับเป็นการส่งเสริมการเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูง ที่สร้างรายได้และอาชีพให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน
“สยามฟาร์ม” สร้างอีโคซิสเท็ม เน้นกลุ่มผู้บริโภคอาหารปลอดภัย
“ผมอยากเห็นไก่มีความสุข” เหตุผลตรงไปตรงมาของ สราวุฒิ แช่มเมืองปัก เจ้าของสยามฟาร์มแห่ง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฟาร์มแชมเปี้ยน โดยปัจจุบันสราวุฒิ เลี้ยงนกกระทามา 1 ปี และเลี้ยงไก่ที่ได้รับจากโครงการมากว่า 1 เดือน ซึ่งระยะเวลาเพียง 1 เดือนเศษ เขาได้เห็นถึงพฤติกรรมของไก่ที่มีความสุข ไม่เครียด ไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าว เหล่านี้ล้วนเกิดจากวิธีการเลี้ยงไก่อย่างมีสวัสดิภาพ และส่งเสริมให้ได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ เขาจึงตั้งใจจะนำมาประยุกต์ใช้กับการเลี้ยงนกกระทาในอนาคตด้วย
“ก่อนหน้านี้ ผมเคยดูแต่ในยูทูปที่เลี้ยงไก่แบบปล่อยตามธรรมชาติ แต่ยังไม่เคยเข้ามาศึกษาอย่างจริงจัง พอเข้าโครงการฯ แล้วได้ทำงานร่วมกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก และมทส. จึงมีการอัปเดทข้อมูลอย่างต่อเนื่อง มีการช่างน้ำหนัก ตรวจสอบ ซึ่งไม่ยากเลย อย่างกรณีที่ผมทำ จะทำพื้นที่เอียงให้ไก่ ปกติเล้าทั่วไปเขาจะเป็นพื้นที่ราบ แต่พอเราทำพื้นที่เอียงก็จะออกมาอีกรูปแบบนึง เพราะเวลาไก่ร้อนจัด เขาก็จะไปอยู่ริมน้ำได้ และพอตกกลางคืนเขาก็นอนอยู่ในพื้นที่สูง เพื่อให้ความรู้สึกปลอดภัยกว่า อาจจะเกิดแนวคิดใหม่กับระบบการเลี้ยงไก่”
สราวุฒิ อธิบายถึงการทำพื้นที่ให้ลาดเอียงเพื่อให้ไก่สามารถเดินลงมายังแหล่งน้ำธรรมชาติได้ ขณะเดียวกัน การมีรั้วรอบขอบชิดก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันลูกไก่ ไม่ให้เผชิญอันตรายจากสัตว์อื่นๆ
“ผมคิดว่า ถ้าเราเลี้ยงดีๆ แล้วทำการตลาดดีๆ ชาวบ้านสามารถทำเป็นอาชีพได้ คือไก่ที่เราเลี้ยงไม่ต้องไปเร่งเหลือ 29 วันเหมือนระบบอุตสาหกรรม เราก็เลี้ยงไปเรื่อยๆ พอถึงเวลามีออเดอร์ เราอาจจะชำแหละเป็นชิ้นส่วนไก่ ก็จำหน่ายได้อีกราคานึง เป็นนิชมาร์เก็ต (Niche Market) หรือเจาะกลุ่มผู้บริโภคเลยว่า เลี้ยงแบบนี้ ทำกรรมวิธีแบบนี้ ราคาก็จะสูงหน่อย ไม่ใช่เฉพาะไก่เนื้ออย่างเดียวไก่ไข่เราก็ทำได้ ถ้าเรานำแนวคิดนี้ไปใช้ ผู้บริโภคได้ไก่ที่ปลอดภัยแน่นอน”
สราวุฒิ เผยถึงโอกาสในอนาคตที่จะสามารถเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการอาหารมีคุณภาพและปลอดภัย
นอกจากนี้เขายังมองถึงเรื่องการตลาดที่สามารถต่อยอดในพื้นที่ได้ เนื่องจากใน อ.ปักธงชัย มีฟาร์มไก่จำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นระบบปิด หรือ Evap หากการเลี้ยงแบบส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ได้รับการขยายออกไปในวงกว้าง แล้วทำตลาดกรีนมาร์เก็ต ให้ชาวบ้านนำผลผลิตมาจำหน่ายได้ ชาวบ้านก็จะมีตลาดรองรับและมีรายได้เข้ามา
“เราอาจจะตั้งเป็นแบรนด์ หรือทำสตรอรี่ว่าไก่ที่เราเลี้ยงมีสวัสดิภาพสัตว์สูง รสชาติอร่อยและปลอดภัย ผมว่าคนที่เขายอมจ่ายเพิ่มนิดหน่อยยังมี ถ้าเราทำตรงนี้ได้ครบวงจร เราก็ไม่ต้องกลัวที่จะพึ่งพิงบริษัทใหญ่ ที่เราจะต้องทำงานแลกเงินแล้วไปซื้อไก่มาบริโภค แต่อันนี้เราสามารถทำเองได้ ถ้าคนในชุมชนคิดแบบผมได้สัก 2 คน คนหนึ่งเลี้ยงไก่ไข่ อีกคนเลี้ยงไก่เนื้อ ก็จะเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน ไม่ว่าเศรษฐกิจจะล่มสลายยังไง แต่เรายังมีอาหารรับประทานอยู่ มันเป็นความยั่งยืน”
จากแนวคิดการเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูง ปัจจุบันสราวุฒิ วางแผนและลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการขออนุญาตทำฟาร์ม การขออนุญาตขนย้ายสัตว์ และโดยเฉพาะการดูแลให้ไก่ได้รับสวัสดิภาพและมีความสุขกับช่วงหนึ่งของชีวิตให้มากที่สุด “ในมุมมองผม ช่วงชีวิตของเขาประมาณ 40-50 วัน เขาควรจะมีความสุขในการใช้ชีวิต ทำยังไงก็ได้ให้เขามีความสุข แค่นั้นพอ” สราวุฒิ กล่าวทิ้งท้ายถึงนิยามคำว่า สวัสดิภาพสัตว์ในความหมายที่เขารู้สึก...