Pluto chicken

2 เกษตรกรนำร่อง โครงการฟาร์มแชมเปี้ยน พลูโตฟาร์ม จ.สุรินทร์ และเทพศิริฟาร์ม จ. อุบลราชธานี

ข่าว

เพียง 1 เดือนเศษหลังการเข้าร่วมโครงการฟาร์มแชมเปี้ยน ได้เล็งเห็นแนวโน้มความต้องการของตลาดผู้บริโภคที่มีมากขึ้น รวมถึงความตระหนักรู้เรื่องสวัสดิภาพสัตว์

เพียง 1 เดือนเศษหลังการเข้าร่วมโครงการฟาร์มแชมเปี้ยน โดยความร่วมมือขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  ที่มอบลูกไก่สายพันธุ์โคราชกว่า  1,000 ตัว ให้แก่เกษตรกรรวม 6 จังหวัด เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยหันมาสนใจสวัสดิภาพของไก่ในฟาร์มภายใต้แนวคิด Good Life Standards หรือมาตรฐานการเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูง ธวัชชัย พวงจันทร์ เกษตรกรเจ้าของพลูโตฟาร์ม จาก อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ และ สุเทพ ศิริมูล เกษตรกรเจ้าของเทพศิริ ฟาร์ม จาก อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี เริ่มตระหนักถึงการเลี้ยงไก่อย่างมีสวัสดิภาพ และเล็งเห็นแนวโน้มความต้องการของตลาดผู้บริโภคที่มีมากขึ้น

พลูโตฟาร์ม ปรับวิธีการเลี้ยงไก่แบบให้อิสระทั้งฟาร์มร้อยเปอร์เซ็นต์

เจ้าของพลูโตฟาร์ม ฟาร์มไก่ขุน แห่ง จ.สุรินทร์ ผู้เลี้ยงไก่โคราชราว 1,000-1,400 ตัว โดยธวัชชัยสมัครเข้าร่วมโครงการฟาร์มแชมเปี้ยน ด้วยเหตุผลเริ่มต้นที่อยากทดลองเลี้ยงไก่แบบมีอิสระและอยู่แบบธรรมชาติ อีกทั้งมองเห็นผลลัพธ์อันยั่งยืนของการเลี้ยงไก่อย่างมีสวัสดิภาพ

ลูกไก่จำนวน 100 ตัวที่ได้รับจากโครงการถูกเลี้ยงโดยแยกพื้นที่จากไก่ขุนเดิม โดยเขาส่งเสริมสวัสดิภาพไก่ ด้วยการปล่อยให้ไก่ได้มีอิสระอย่างเป็นธรรมชาติบนพื้นที่ 100 ตร.ม. มีคอนให้เกาะ ให้ปีนป่าย มีพื้นที่ให้เดินเล่น และคุ้ยเขี่ยหาอาหาร ในขณะเดียวกันก็จัดทำรั้วรอบขอบชิดเพื่อความปลอดภัยและป้องกันอันตรายจากสัตว์ร้าย

“1 เดือนที่ผ่านมา ผมเห็นพฤติกรรมของไก่ เขาได้แสดงออกหลายอย่าง โดยเขาไม่จิกกัดกันเลย การเลี้ยงแบบไก่มีสวัสดิภาพสูงจะช่วยเราได้หลายทาง อย่างแรกคือเรื่องอาหาร ทำให้เราประหยัดต้นทุน และสองคือไม่ต้องกังวลว่าไก่จะจิกกัน เพราะการเลี้ยงแบบจำกัดพื้นที่ บางคนต้องนั่งเฝ้าไก่ตลอดเวลา กังวลว่าไก่จะจิกตีกันแล้วเกิดบาดแผล ที่ผ่านมาเราต้องตัดจะงอยปากไก่เพื่อป้องกันไม่ให้เขาใช้เป็นอาวุธทำร้ายกัน หลายคนที่เข้ามาเยี่ยมชมการเลี้ยงของฟาร์มเราก็เริ่มสนใจปรับเปลี่ยน เนื่องจากคนก็ไม่ต้องกังวล ไก่ก็ไม่เครียด มันเป็นผลลัพธ์ในเชิงบวก” ธวัชชัย เล่าถึงพฤติกรรมที่เขาสังเกตหลังเลี้ยงไก่โคราชที่ได้รับจากโครงการ 

ในฐานะหัวหน้าวิสาหกิจกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ในพื้นที่ จ.สุรินทร์ ธวัชชัย บอกว่า มีเกษตรกรหลายคนที่สนใจ แต่อาจมีความกังวลอยู่ เช่น การให้ไก่เดินเยอะ จะขาดสารอาหารไหม ซึ่งเขาบอกว่า อาหารไก่คือให้ตามปกติ แต่ต้องมาพิจารณาว่า ในด้านพลังงานจะเพิ่มอาหารในรูปแบบไหน หรือให้ไก่กินอะไรทดแทนได้ ยกตัวอย่างไก่ขุนที่เขาเลี้ยงมากว่าหนึ่งพันตัว เขาให้อาหารตามปกติ แต่สิ่งที่ปรับคือการปล่อยให้ไก่ออกมาเดินเล่น ไม่กักขังพื้นที่ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นชัดเจนคือ พฤติกรรมของไก่ไม่ก้าวร้าว ไม่ทำร้ายกัน มีความสุขและสุขภาพดี

“หากมองในเชิงธุรกิจ ไก่ที่เลี้ยงแบบมี Story จะสามารถทำรายได้อีกระดับนึง แต่ถ้าไม่มี ก็ขายได้แบบที่เคยขาย เราสามารถเลือกตลาดได้ อย่างผมก็เริ่มเขาไปในตลาดของคนที่กินคลีน ใส่ใจสุขภาพ ใส่ใจที่มาของอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนสูงอายุและตระหนักเรื่องของสุขภาพ เขาไม่ได้เกี่ยงเรื่องราคาที่ต้องจ่าย แต่เขาจะดูเรื่องความคุ้มค่า สะอาด ปลอดภัย ไม่เหมือนกลุ่มวัยรุ่น หรือวัยทำงาน ที่จะต้องแลกมาด้วยปริมาณ รู้แค่ว่าถ้าแพงก็จะต้องได้เยอะ สำหรับโครงการฟาร์มแชมเปี้ยน หลายคนตั้งตารออยู่เพราะใน จ.สุรินทร์ ยังไม่มีใครทำชัดเจน ส่วนมากจะเป็นการเลี้ยงแบบในฟาร์มจำกัดพื้นที่ ดังนั้นเราจึงเป็นผู้นำการเลี้ยงไก่มีสวัสดิภาพสูง ซึ่งอาจจะทำราคาสูงกว่าไก่บ้านเสียอีก”

แน่นอนว่าในเชิงธุรกิจ ต้นทุนการเลี้ยงไก่ลดลง เกษตรกรมีกำไรเพิ่มขึ้น ย่อมถือเป็นแนวโน้มที่ดีในการทำธุรกิจเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูง  แต่หากมองในรูปแบบของอาหารปลอดภัย และจริยธรรม การส่งเสริมให้สัตว์ได้อยู่อย่างเป็นอิสระและได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ ลดความทุกข์ทรมาน ไก่จะมีสุขภาพดี อารมณ์ก็ดี อาหารที่คนบริโภคก็ปลอดภัย จึงนับเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ได้อย่างแท้จริง!!

เทพศิริฟาร์ม เพิ่มมูลค่าไก่ด้วยการเลี้ยงอย่างมีสวัสดิภาพสูง

ด้าน สุเทพ ศิริมูล เกษตรกรต้นแบบเจ้าของเทพศิริฟาร์ม จาก อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการแชมเปี้ยนและทำงานร่วมกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ซึ่งการเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูงครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นในการต่อยอดในเชิงธุรกิจแบบที่เรียกว่า “เพิ่มคุณค่าและมูลค่า”

ที่ผ่านมาสุเทพทำฟาร์มไก่ในแบบจำกัดพื้นที่จำนวน 400-500 ตัว และเมื่อได้ไก่จากโครงการมา 100 ตัว เขาจึงแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนชัดเจนประมาณ 80 ตร.ม. โดยปล่อยให้ไก่มีอิสระ และได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติมากที่สุด มีคอนให้เกาะ มีฟาง มีหญ้าให้ไก่ได้จิกเล่น

“ไก่โคราชลักษณะประจำพันธุ์เขาจะค่อนข้างแข็งแรงและโตเร็ว การเลี้ยงไก่แบบเดิม กับเลี้ยงแบบสวัสดิภาพสูง โปรแกรมการให้อาหารเหมือนกัน แตกต่างกันที่วิธีการจัดการ เลี้ยงแบบเดิมจะจำกัดพื้นที่  1 ตร.ม.ต่อไก่ 12 ตัว แต่สำหรับการเลี้ยงแบบมีสวัสดิภาพสูงยิ่งพื้นที่มากยิ่งดี เพราะไก่จะได้มีพื้นที่ในการเดิน  และได้ใช้ชีวิตอย่างมีอิสระมากขึ้น โดยทุกสัปดาห์จะมีการอัปเดทข้อมูลและพฤติกรรมของไก่ อาทิ กินอาหารหมดไหม มีการจิกกัน และป่วยหรือเปล่า ซึ่งองค์กรจะมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง” สุเทพ เปรียบเทียบความแตกต่างของการเลี้ยงไก่แบบเดิม และไก่ที่เลี้ยงแบบมีสวัสดิภาพ ซึ่งผลลัพธ์สำคัญที่ชัดเจนมาก คือ ไก่ที่เลี้ยงอย่างมีสวัสดิภาพสูงจะมีพฤติกรรมที่ร่าเริง กระพือปีก บิน และไม่จิกกัดไก่ด้วยกัน

“ผมทำงานในอุตสาหกรรมปศุสัตว์มาเกือบ 40 ปี เพิ่งเห็นโครงการนี้ ถ้าเป็นการเลี้ยงไก่ในรูปแบบของบริษัท เขาจะไม่มองเรื่องสวัสดิภาพไก่ แต่จะทำเพื่อกำไรสูงสุด ลงทุนเท่านี้ ต้องได้มากกว่าเท่าตัว แต่เราเป็นเกษตรกรธรรมดา มีพื้นที่เลี้ยงถึง 10 ไร่ จึงใช้จุดนี้มาเป็นจุดแข็งเพื่อก้าวสู่ความมั่นคงทางอาหาร มั่นคงทางชีวิต รวมทั้งตัวเราและสัตว์ด้วย” สุเทพ เผยถึงความยั่งยืนที่กำลังจะเกิดขึ้น

การได้เข้าร่วมโครงการฟาร์มแชมเปี้ยน นอกเหนือจากองค์ความรู้ที่แลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก และเกษตรกรเครือข่ายแล้ว ผลพลอยได้ที่เกษตรกรวิสัยทัศน์ไกลได้รับ คือเครดิตและความน่าเชื่อถือ ที่สามารถนำไปใช้สำหรับการสื่อสารในอนาคตด้วย 

“หากเป็นไก่ธรรมดา ยังไงก็เป็นไก่ธรรมดา แต่ถ้าเป็นไก่ในโครงการ ยังไงก็เป็นไก่พรีเมียม การสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายจะต่างกัน และอย่างน้อยก็จะเป็นจุดยืนของเราว่า เราจะเลี้ยงไก่ 5,000 ตัวหรือจะเลี้ยงไก่ 500 ตัว สมมุติเราเลี้ยงไก่ 5,000 ตัว ได้เงิน 10,000 บาท เลี้ยง 500 ตัว ก็ได้เงิน 10,000 บาทเท่ากัน แต่ขั้นตอนการเลี้ยงแตกต่างกันทั้งอาหารและคุณภาพ หากเลี้ยงไก่แบบมีสวัสดิภาพสูง ไก่ก็อารมณ์ดี มีสุขภาพดี และปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งแน่นอนว่าปลายทางนั้นมีตลาดรองรับอยู่”  สุเทพ กล่าวถึงแนวทางการทำธุรกิจฟาร์มเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูง ที่ไม่เพียงจะช่วยเพิ่มรายได้และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ยังเป็นตัวอย่างนำร่องของการเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูงให้กับกลุ่มเกษตรกรอื่นๆ ในพื้นที่ต่อไป  

More about