“สิรินทร์ฟาร์ม” ฟาร์มสุขของคนและสัตว์ ยึดหลักการเกษตรแบบยั่งยืน
ข่าว
จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่อยากให้ลูกๆ ได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย ไร้สารเคมี นักแสดงหญิงมากฝีมือคุณแหม่ม-คัทลียา แมคอินทอช และครอบครัว จึงมีแนวคิดในการทำฟาร์มออร์แกนิค ภายใต้แนวคิด “ฟาร์มที่อุทิศให้กับหลักการเกษตรแบบยั่งยืน” พร้อมเชื่อมั่นได้ว่าสัตว์ทุกชนิดที่เลี้ยงใน “สิรินฟาร์ม” นั้น ถูกเลี้ยงอย่างมีสวัสดิภาพ (Animal Welfare)
การันตีเรื่องความปลอดภัยและ Animal Welfare
ใครจะคาดคิดว่าพื้นที่สีเขียวแปลงใหญ่ที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ที่ครอบครัวของคุณแหม่ม ซื้อไว้ด้วยเหตุผลอยากให้ลูกๆ ทั้ง 3 คน ได้ใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ วันนี้ “สิรินทร์ฟาร์ม” กลายเป็นฟาร์มออร์แกนิคแบบครบวงจรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมตามความตั้งใจ...ฟาร์มซึ่งมีลำธารไหลผ่าน ถูกแบ่งพื้นที่เพื่อปลูกข้าว ปลูกพืชผักต่างๆ เลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ หมู และวัว ซึ่งทุกอย่างปราศจากการใช้ยาปฏิชีวนะ และสารเคมี โดยทรัพยากรต่างๆ สามารถนำกลับมาหมุนเวียนเพื่อใช้ในฟาร์ม อาทิ ข้าว ข้าวโพด พืชผักต่างๆ นำมาเป็นอาหารสัตว์ ในขณะที่มูลจากสัตว์ ก็นำลับมาเป็นปุ๋ยวนกลับมาใช้ปลูกพืชได้ จึงแทบไม่เกิดขยะหรือของเสียซึ่งเป็นผลดีต่อระบบนิเวศ
คุณแหม่ม ย้อนเล่าถึงจุดเริ่มต้นของสิรินทร์ฟาร์มซึ่งตั้งมาจากชื่อจริงของลูกสาวคนเล็ก (น้องเนซซี่-ด.ญ.สิรินทร์) ว่า
“ตอนนั้นบ้านเรายังไม่ค่อยมีอาหารที่ปลอดภัยหรือออร์แกนิค ที่จะเชื่อมั่นได้ว่าปลอดภัยจริงๆ แล้วยิ่งพอมีข่าวว่า ไก่มีฮอร์โมนเยอะ แล้วเราเองมีลูกสาว หลังปรึกษากับสามีก็คิดว่าไม่ได้ละ สามีบอกเราทำเองเลยดีกว่า เริ่มจากเลี้ยงไก่เนื้อ แล้วก็มาเป็นไก่ไข่ จากนั้นจึงเลี้ยงหมู ซึ่งสามีได้ทำการศึกษาข้อมูลอย่างมาก จนกระทั่งนำเข้าหมูเบิร์คเชียร์ (Berkshire) หรือหมูคุโรบูตะ สายพันธุ์แท้มาจากอังกฤษ แล้วก็ขยายพันธุ์เอง เลี้ยงตั้งแต่เป็นลูกหมู จนเป็นหมูขุน แล้วก็นำเนื้อหมูมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ คือเป็นวิธีเดียวที่เราจะบอกได้ว่า เราทำครบวงจรทั้งหมด เพราะฉะนั้นการันตีได้ทั้งเรื่องความปลอดภัย ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ และเรื่องของ Animal Welfare”
เลี้ยงสัตว์อย่างมีอิสระ
จากฟาร์มเพื่อครอบครัวเล็กๆ สิรินทร์ฟาร์มขยายความอร่อยและมอบความห่วงใยไปยังเพื่อนๆ และคนใกล้ชิด จนร้านอาหารชื่อดังและโรงแรมชั้นนำหลายแห่งเลือกใช้วัตถุดิบของฟาร์มแห่งนี้อย่างแพร่หลาย ยิ่งเมื่อได้รู้ถึงความเอาใจใส่ในการเลี้ยงดูแลสัตว์อย่างมีสวัสดิภาพแล้ว ผู้บริโภคยิ่งเชื่อมั่นในความปลอดภัย
สำหรับไก่เนื้อของที่นี่ เลี้ยงแบบปล่อย (Free-range Chicken) มีพื้นที่สำหรับปล่อยให้ไก่ได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ เช่น การคลุกฝุ่น การจิก การเขี่ย การหาอาหารตามธรรมชาติ ในขณะที่ภายในเล้าไก่ หรือโรงเรือนก็มีอากาศถ่ายเทสะดวก แสงแดดส่องถึง ส่วนหมูเบิร์คเชียซึ่งส่วนใหญ่เป็นพ่อแม่พันธุ์ ถูกเลี้ยงแบบหมูหลุม โดยใช้วัสดุจากธรรมชาติเป็นวัสดุรองพื้น ไม่ว่าจะเป็นฟางข้าว แกลบ และจุลินทรีย์ท้องถิ่น ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในขณะที่อาหารการกินของสัตว์ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติภายในฟาร์ม และผสมเองทั้งหมด ทั้งยังใช้สมุนไพรไทยแทนการใช้วัคซีนในการรักษาโรค ซึ่งกว่าจะลงตัวอย่างเช่นทุกวันนี้ไม่ง่ายเลย
“เราเรียนรู้ด้วยการลองผิดลองถูก ไม่มีใครมาสอนเรา ตอนทำสิรินทร์ฟาร์ม ประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว เราไม่รู้จะถามใคร ซึ่งสามีก็ทุ่มเทอย่างมากศึกษาลองด้วยตัวเอง ปัญหาตอนช่วงแรกคือ เชียงรายอากาศเย็น พอลูกไก่มาก็ต้องกก และคอยดูเรื่องอุณหภูมิต่างๆ หรือหมูเบิร์คเซีย ที่นำมาจากเมืองนอก ก็ต้องปรับตัวกับความร้อน ผสมพันธุ์ยาก คลอดได้น้อย ก็มีปัญหา”
คุณแหม่ม กล่าวพลางบอกว่า ปัญหาของการเลี้ยงสัตว์อีกอย่างคือ โรคที่เกิดขึ้นกับสัตว์ ซึ่งการทำเกษตรแบบอินทรีย์จะไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ
ทำงานกับเครือข่ายในพื้นที่ตามแนวทาง “สิรินฟาร์ม”
ปัญหาของเกษตรกร ยังมีอีกหลายปัจจัย แม้แต่สามีที่จบด้านเศรษฐศาสตร์มายังเปรยว่ายากจะเข้าใจ
“ใครที่เรียนเศรษฐศาสตร์มาจะรู้ว่า อะไรที่ความเสี่ยงสูง กำไรต้องสูง แต่คนที่ทำเกษตรจะรู้ว่า เรื่องนี้มันไม่จริง พอเป็นเกษตรกรจะรู้ว่า ความเสี่ยงสูงและกำไรต่ำ ตราบใดที่เป็นแบบนี้ เกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ก็จะแย่”
ด้วยเหตุนี้ ในฐานะผู้บริหาร คุณแหม่มและสามี จึงพยายามเพิ่มมูลค่าของสินค้าด้วยการสร้างสิรินฟาร์ม ให้เป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคยอมรับและเลือกซื้อ เพราะเชื่อมั่นในความปลอดภัยและมีคุณภาพ โดยปัจจุบันมีการทำงานกับเครือข่ายเกษตกรในพื้นที่ชุมชนใกล้เคียงและส่งเสริมให้ชาวบ้านสร้างรายได้ด้วยการนำไก่ และหมู ของสิรินทร์ฟาร์มไปเลี้ยงแล้วรับซื้อคืนในราคาที่เป็นธรรม รวมถึงการเปิดพื้นที่ให้ชุมชน ได้เข้ามาเรียนรู้และสามารถนำไปต่อยอดเองได้
“เราทำงานกับท้องถิ่น และสร้างอาชีพให้เขาด้วย คือ เรามีฟาร์มเครือข่ายสิรินทร์ฟาร์มเมอร์ เช่น ลุงบุญอยากเลี้ยงหมู เราก็เอาลูกหมูที่เกิดจากฟาร์มไปให้ลุงบุญ ลุงบุญก็จะขุนและเลี้ยงตามแนวทางวิถีอินทรีย์ที่เรากำหนด พอเขาเลี้ยงจนได้ที่ เราก็จะรับซื้อคืน โดยตอนนี้เราเริ่มจับมือกับเกษตรกรท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นไก่เนื้อ ไก่ไข่ และหมู แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูความเหมาะสมของแต่ละครัวเรือนด้วยว่า พื้นที่เขาเป็นยังไง บางคนเลี้ยงทั้งไก่ ทั้งหมู ซึ่งเราก็จะมีผู้เชี่ยวชาญเข้าไปดูแล และให้คำปรึกษาว่าเป็นยังไง มีปัญหาอะไรหรือเปล่า”
ถึงขนาดที่ว่ามีเกษตรกรจากพื้นที่อื่น ติดต่อขอนำหมูไปเลี้ยงบ้าง แต่ด้วยเกรงว่าจะดูแลไม่ทั่วถึง จึงจำกัดการเลี้ยงอยู่ในพื้นที่ จ.เชียงรายเท่านั้น
สำหรับการทำงานกับเกษตรกรที่คุ้นเคยกับวิถีเกษตรแบบที่ใช้ยาปฏิชีวนะหรือสารเคมีย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ทัศนคติจึงควรต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นแนวทางที่สิรินทร์ฟาร์ม พยายามออกแบบให้เหมาะสมจึงต้องอาศัยความเข้าใจจากเกษตรกรพอสมควร
“ไม่มีเกษตรกรคนไหนอยากใช้สารเคมี เพราะมันเป็นพิษต่อเขาและคนรอบข้าง ส่วนใหญ่เขาชินกับระบบสารเคมี เพราะมันตอบโจทย์เขาได้ทันที ผลผลิตงอกงาม และเพื่อนบ้านเขาก็ทำกันเต็มไปหมด การอธิบายให้เขาเข้าใจจึงยาก บางคนไม่เคยรู้ว่ามันจะเป็นไปได้หรือเปล่า พอมาเป็นอินทรีย์ผลผลิตต่อไร่ก็ต่ำกว่าเยอะ
สุดท้ายคือผู้บริโภค ถ้าผู้บริโภคไม่ซื้อ เพราะไม่อยากเสียเงินหาหมอตอนแก่ หรือให้ลูกสะสมสารพิษในตัว ก็จะดีมากเลย แล้วการเลี้ยงสัตว์แบบอินทรีย์มันไม่มีสารพิษลงไปในลำธาร และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ถ้าเราสามารถสื่อสารออกไปได้ ก็จะเป็นการช่วยเกษตรกรที่เขาเลี้ยงแบบวิถีธรรมชาติจริงๆ ได้”
เจ้าของสิรินทร์ฟาร์ม กล่าวย้ำถึงผู้บริโภค ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เกษตรกรรายย่อยอยู่ได้อย่างยั่งยืน
ตราบใดที่เขาอยู่กับเรา เราพยายามทำให้ชีวิตเขาดีมากที่สุด
เนื่องจากที่นี่เป็นฟาร์มที่ยึดมั่นในการทำเกษตรแบบยั่งยืนเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม และมุ่งมั่นในการผลิตสินค้าอินทรีย์คุณภาพสูงออกสู่ท้องตลาด ผลิตภัณฑ์ทุกชนิดทำมาจาก เนื้อไก่ เนื้อหมู และ ไข่ไก่ มาตรฐานออร์แกนิค ที่ได้รับการเลี้ยงแบบธรรมชาติ และคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ตลอดระยะเวลาการเลี้ยง โดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ไม่ใช้ฮอร์โมน และปลอดสารเคมีทุกชนิด ทั้งยังได้รับการรับรอง เนื้อหมูมาตรฐานออร์แกนิคแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ที่รับรองโดยกรมปศุสัตว์
ซึ่งประเด็นการคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ เป็นเรื่องที่สิรินทร์ฟาร์มให้ความสำคัญอย่างมาก แม้วันหนึ่งมันจะกลายเป็นอาหารของมนุษย์ก็ตาม
คุณสงกรานต์ สามีผู้คลุกคลีเรียนรู้และเติบโตมากับการทำสิรินทร์ฟาร์ม เสริมว่า
“ในฐานะที่มนุษย์ก็เป็นสัตว์เหมือนกัน เราก็รู้สึกได้ว่า ความเจ็บปวดหรือการทรมานเป็นยังไง ในช่วงที่เขายังมีชีวิตอยู่ ควรคำนึงถึงสวัสดิภาพเขาเหมือนกัน ตราบใดที่เขาอยู่กับเรา เราพยายามทำให้ชีวิตเขาดีมากที่สุด มีความสุขที่สุด แล้วคนเลี้ยงเองก็จะสบายใจด้วย หมูของเราต่างกับหมูโรงงานยังไง เราไม่ตัดหางหมู ไม่ตัดเขี้ยวหมู ปกติลูกหมูเกิดใหม่ที่เลี้ยงในฟาร์มอุตสาหกรรม เขาตัดเขี้ยวเพราะมันไปดูดนมแม่ ทำให้แม่เป็นแผล ซึ่งมันก็เจ็บพอสมควร แต่เราไม่ทำ หรือไก่ที่ตัดจะงอยปากเพื่อให้เขาเลือกกินอาหารไม่ได้ เราก็ไม่ทำอยู่แล้ว”
เลี้ยงสัตว์อย่างมีสวัสดิภาพ ไม่เอาเขามาทรมาน
ปัจจุบันสิรินฟาร์มจำหน่ายสินค้าหลากหลายรายการผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ และช่องทางออนไลน์ ได้แก่ www.sirinfarm.com , Fackbook Fanpage : sirinfarm และ IG: sirinfarm ทั้งที่ผลิตเองและรับมาจากกลุ่มเกษตรกรแหล่งต่างๆ ที่ยึดหลักการเดียวกัน เพื่อหวังว่าจะช่วยให้สินค้าคุณภาพดีและปลอดภัยส่งตรงถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น
“เราบอกเกษตรกรที่ทำงานกับเราตลอดว่า เราไม่ต้องการคะแนนสงสาร หรือมาสงสารฉันเถอะ ซื้อของๆ ฉัน สิ่งที่เราพยายามทำ คือเราต้องทำของให้ดี นี่คือโจทย์ ลูกค้าต้องเชื่อมั่นว่าของเราดีที่สุด เขาจะซื้อของๆ เรา ยอมจ่ายมากขึ้นเพราะมันปลอดภัย เราเลี้ยงสัตว์โดยคำนึงถึงสัตว์ที่เราเลี้ยง อย่างมีสวัสดิภาพ กินแล้วสบายใจว่าเราไม่เอาเขามาทรมาน เราจะบอกลูกฟาร์มตลอดว่า ให้คนต้องการซื้อเพราะเขาต้องการสิ่งที่ดีที่สุด”
ในฐานะผู้จุดประกายความหวังให้เกษตรกรในพื้นที่ เป้าหมายในอนาคตของสิรินฟาร์ม จึงอยากดูแลสมาชิกในเครือข่ายให้ดีที่สุด โดยนักแสดงหญิงที่สวมหมวกเกษตรกรอีกใบ ยอมรับว่า สิรินทร์ฟาร์มคือธุรกิจ มิใช่องค์กรการกุศล ดังนั้นทุกคนในชุมชนต้องอยู่ได้อย่างยั่งยืน “ถ้าคนซื้อเราเพราะคะแนนสงสาร มันจะไม่เวิร์ค เราจึงให้ลูกฟาร์มของเราบริหารจัดการเป็นแบบธุรกิจ ลูกค้าต้องการของๆ เรา เราจะทำให้คุณพอใจที่จะจ่ายราคานี้ให้ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรจะเป็น คือ เราอยู่ได้และผู้บริโภคก็พอใจที่จ่ายราคานี้ อันนี้เป็นสนธิสัญญากับผู้บริโภคของเรา” คุณแหม่ม เผยความมุ่งมั่นที่จะช่วยทำให้เกษตรกรสามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้า แม้สินค้าจะมีราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไปในตลาดก็ตาม
ของที่ถูกที่สุด บางครั้งไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด
เช่นนั้นก็ยังเป็นเรื่องยากสำหรับการทำตลาดในเมืองไทย ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่ค่อยให้ความสำคัญ หรือใส่ใจกับที่มาของวัตถุดิบมากนัก แตกต่างจากประเทศในแถบยุโรป ที่ในซูเปอร์มาร์เก็ตจะไม่ค่อยเห็นสินค้าหรือเนื้อสัตว์ที่เลี้ยงจากระบบอุตสาหกรรมแล้ว หรือแม้แต่ร้านอาหารเองก็เลือกใช้เนื้อสัตว์ที่ให้ความสำคัญกับการเลี้ยงอย่างมีสวัสดิภาพ
จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือ และช่วยกันสื่อสารไปยังผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยคุณแหม่ม ย้ำว่า
“ถ้าเราไม่ออกมาเตือนหรือประชาสัมพันธ์ ผู้บริโภคก็จะกลับไปซื้อของที่ถูกที่สุด ซึ่งบางครั้งมันไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด มันถูกแต่มันมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสวัสดิภาพของสัตว์เลี้ยง ต่อสุขภาพตัวเอง และอะไรหลายอย่าง เพราะฉะนั้นผู้บริโภคควรคิดถึงระยะยาวมากกว่าระยะสั้น”
ซึ่งแน่นอนนว่าหากผู้บริโภคที่รักสุขภาพและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมขยายวงกว้างมากขึ้น สวัสดิภาพของสัตว์ในฟาร์มก็จะถูกให้ความสำคัญมากขึ้นด้วยเช่นกัน!!