มูลนิธิสมบูรณ์เลกาซี่ (Somboon Legacy Foundation)

รักษ์ช้างต้องปล่อยให้ช้างเป็นตัวเอง

ข่าว

ปางช้างทางเลือกจากลุ่มน้ำแควน้อย ยืนยันการดูแลช้างดีที่สุดต้องเลี้ยงปล่อยให้มีอิสระภายในพื้นที่ของปางช้างภายใต้การดูแลของควาญช้าง ถอยห่างทุกกิจกรรมที่ต้องสัมผัสกับมนุษย์คนอื่น เพื่อฟื้น “ความเป็นช้าง” กลับมาอีกครั้ง พร้อมหวังกระจายความรู้ความเข้าใจใหม่ในชีวิตช้างสู่สาธารณะ

ช้างก็เหมือนสัตว์ป่าทั่วไป (wildlife) ที่มักเลี่ยงการเผชิญหน้ากับผู้คน ธรรมชาติของพวกมัน แน่นอน ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงหรือพาหนะของมนุษย์ ไม่ใช่สัตว์ที่อยากอยู่ร่วมกับพวกเรา มิพักต้องพูดถึงจำอวดนักแสดงกายกรรม ศิลปินสีน้ำ หรือนักฟุตบอลตามสวนสัตว์หลายแห่งซึ่งพวกมันต้องถูกบังคับให้ฝึกฝนท่าทางแปลก ๆ และทักษะสารพัดที่ผิดธรรมชาติ

มูลนิธิสมบูรณ์เลกาซี่ (Somboon Legacy Foundation)

ฟื้นฟูพฤติกรรมช้างป่า

คุณแอกเนส ทามเมนก้า (Agnes Tammenga) หนึ่งในผู้ก่อตั้งมูลนิธิสมบูรณ์เลกาซี่ (Somboon Legacy Foundation) บริเวณชายฝั่งแม่น้ำแควน้อย จ.กาญจนบุรี เมื่อกว่าสามปีก่อน ได้เท้าความก่อนวันแรกตั้งมูลนิธิ (13 มีนาคม 2562) ให้ฟังว่า การเลี้ยงช้างที่พบเห็นทั่วไปในปางช้างเป็นการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมกับพฤติกรรมตามธรรมชาติของช้าง เช่น การปล่อยให้นักท่องเที่ยวได้แตะต้องตัว การให้อาหารช้าง การอาบน้ำช้าง ซึ่งกิจกรรมสันทนาการเหล่านี้ ล้วนเป็นเพียงความบันเทิงของผู้คนโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกนึกคิดของช้างแต่อย่างใด

“จากประสบการณ์ความรู้ของเรานับสิบปีในเรื่องนี้ เราได้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสัตว์ตามแหล่งท่องเที่ยวหรือตามปางช้างที่มีการป้อนอาหารสัตว์ มีบริการให้นักท่องเที่ยวสัมผัสตัวช้าง ซึ่งนี่ไม่ใช่ศูนย์พักพิงช้างที่แท้จริง (animal sanctuary) ความหมายที่ถูกต้องของศูนย์พักพิง สัตว์ต้องมาก่อน (animal comes first) สถานที่เลี้ยงต้อง ปล่อยให้ช้างได้เป็นช้าง ไม่ถูกใช้เป็นนักแสดงเพื่อบันเทิงนักท่องเที่ยว และนี่ก็เป็นที่มาของมูลนิธิสมบูรณ์เลกาซี่”

คุณแอกเนส กล่าว

ศูนย์พักพิงช้างแห่งนี้จะรับเลี้ยงเฉพาะช้างที่ถูกทอดทิ้ง ช้างชรา เจ็บป่วยหรือพิการ ชื่อมูลนิธิ “สมบูรณ์” ก็ตั้งชื่อตามช้างเชือกแรกที่ได้รับการดูแลจากมูลนิธิ (ตายเมื่อปี 2559) ปัจจุบัน เหลือเพียงช้างพังวัยชราสองเชือก ได้แก่ “คำมูน” อดีตช้างขอทาน และ “มาลี” ที่ขาหลังซ้ายพิการจากการลากซุง

“ช้างเป็นสัตว์สังคม ปกติ แต่ละตัวจะมีครอบครัวที่อยู่ด้วยกัน หากจะพบตัวแปลกหน้าก็เฉพาะช่วงเช้า เวลาที่เหลือแต่ละวัน พวกมันก็จะออกหากินอย่างอิสระในป่าธรรมชาติ ได้รับอาหารที่หลากหลายต่างกันไปตามฤดูกาลซึ่งก็จะส่งผลดีต่อสุขภาพของพวกมัน ขณะที่สองเชือกในความรับผิดชอบของมูลนิธิ แม้จะไม่มีครอบครัวแล้ว แต่มีควาญช้างคู่กายคอยติดตามการหาอาหารและระวังไม่ให้พวกมันออกนอกผืนป่าธรรมชาติในพื้นที่ปางช้างร่วมร้อยไร่”

คุณมานุก แมส (Manouk Maas) ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสมบูรณ์ฯ กล่าวถึงพฤติกรรมช้างตามธรรมชาติ

“ระยะแรกของการฟื้นฟูพฤติกรรมช้างคืนสู่สภาวะปกติ จำเป็นต้องเริ่มจากการปฏิเสธทุกกิจกรรมความสัมพันธ์กับผู้คน ยกเว้นควาญช้างที่คอยดูแลช้างตัวนั้น ๆ เป็นเวลา 4-5 เดือน เมื่อถึงเวลานั้น พฤติกรรมช้างจะเปลี่ยนไป พวกมันเรียนรู้แล้วว่าไม่มีอาหารป้อนจากกลุ่มนักท่องเที่ยว ช้างก็จะไม่เดินเข้าไปหาเพื่อขออาหารเหมือนพฤติกรรมตอนแรกเข้ามา”

คุณแอกเนส กล่าวเสริม

มูลนิธิสมบูรณ์เลกาซี่ (Somboon Legacy Foundation)

ศูนย์เรียนรู้เรื่องช้างเบื้องต้น

ลำพังการเที่ยวปางช้างทั่วไปที่ส่วนใหญ่มักอนุญาตให้คนแปลกหน้ามีโอกาสป้อนอาหารช้าง สัมผัสและอาบน้ำให้ช้าง ซึ่งจากแนวทางของมูลนิธิฯ กิจกรรมสัมพันธ์เหล่านี้ย่อมไม่อาจช่วยให้มนุษย์เราเข้าใจชีวิตและความเป็นอยู่ของสัตว์ใหญ่ตัวนี้ ด้วยเหตุนี้ ทางมูลนิธิฯ จึงได้จัดสรรพื้นที่บางส่วนเป็นมิวเซียม (museum) เพื่อการเรียนรู้เรื่องช้างโดยเฉพาะ พร้อมนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ในการออกแบบส่วนจัดแสดงที่จะทำให้ผู้เยี่ยมชมมีส่วนร่วม (interactive) เพลิดเพลินกับการเรียนรู้ที่ได้ทั้งสาระและความสนุก

“เป้าหมายสำคัญข้อหนึ่งของมูลนิธิฯ คือการให้การศึกษาแก่สาธารณะในเรื่องประวัติความเป็นมาของช้างในสังคมมนุษย์ ชีววิทยาและความเป็นอยู่ของพวกมันในระบบนิเวศ ตลอดจนวิธีการเลี้ยงดูช้างที่ถูกต้องและเหมาะสมกับเหตุปัจจัยในแต่ละพื้นที่

ที่สำคัญ เราไม่ต้องการนำเสนอเพียงภาพความเป็นอยู่อย่างมีความสุขของช้างในพื้นที่มูลนิธิ สิ่งที่เราต้องการพูดถึงคือ การเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องในการดูแลสัตว์ใหญ่ชนิดนี้ เพื่อทุกคนจะได้รู้จักช้างจริง ๆ และประจักษ์ในความปราดเปรื่องของพวกมัน รวมทั้งลักษณะที่คล้ายกันอีกมากมายระหว่างช้างกับมนุษย์”

คุณแอกเนส กล่าวถึงอีกบทบาทสำคัญของมูลนิธิฯ

มูลนิธิสมบูรณ์เลกาซี่ (Somboon Legacy Foundation)

ทัศนะใหม่ในการเที่ยวปางช้าง

ภาพโฆษณาประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวปางช้างในประเทศไทยขนาดใหญ่ที่ปรากฏตั้งแต่สนามบินยังคงส่งผลกระทบไม่น้อยต่อ “ภาพจำ” และความคาดหวังของนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างประเทศ ซึ่งสองผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิฯ สะท้อนว่าหลายฝ่ายยังขาดความเข้าใจในการสื่อสารเรื่องนี้อย่างที่ควรจะเป็นทั้งนักท่องเที่ยวบางส่วนก็ยังยึดมั่นในทัศนะเดิมที่มองการให้อาหารช้างก็ดี หรือการได้สัมผัสตัวช้างก็ดี ไม่ถือเป็นเรื่องผิดวิสัยแต่อย่างใด ซ้ำยังเชื่อว่าเป็นกิจกรรมที่เสริมภาพลักษณ์ของตนด้วย

“เราเคยเจอปัญหาว่านักท่องเที่ยวบางรายยังไม่เปิดใจเรียนรู้ในแนวทางใหม่ที่ว่านี้ ยังคงมองว่าช้างชอบที่ตนให้อาหาร เป็นภาพดี ๆ ที่คนกับสัตว์เชื่อมสัมพันธ์กัน ซึ่งทัศนะทำนองนี้ในสังคมยังคงเป็นอุปสรรคต่อการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในการดูแลช้างที่ถูกต้อง”

คุณมานุก ฝากทิ้งท้าย

แน่นอน ความเปลี่ยนแปลงเชิงทัศนะหรือวัฒนธรรม จำต้องอาศัยระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่าน พร้อมแรงสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย  (World Animal Protection) ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิสมบูรณ์เลกาซี่ เพื่อให้ปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้างแห่งนี้ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้แก่ปางช้างแห่งอื่น ๆ ได้เรียนรู้ รวมทั้งเผยแพร่รสนิยมใหม่ของการท่องเที่ยวปางช้างที่นักท่องเที่ยวก็น่าจะรู้สึกเพลิดเพลินกับการเป็นผู้เฝ้ามองช้างอยู่ห่าง ๆ ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติอย่างแท้จริง 

***************************************

มูลนิธิสมบูรณ์เลกาซี่ (Somboon Legacy Foundation) สำนักงานใหญ่

เลขที่ 129 หมู่ที่ 2 ต.กลอนโด อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี

โทรศัพท์ 06-1572-8761

www.somboonlegacy.org