ร่วมช่วยเหลือหมีสามตัวสุดท้ายจากเมือง Lang Son ประเทศเวียดนาม
ข่าว
หมีสายพันธุ์เอเชียจำนวนสามตัวได้รับการช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานจากฟาร์มดีหมีที่เมือง Lang Son ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม จากการแสวงหาประโยชน์โดยการนำหมีมากักขังเพื่อรีดเอาน้ำดี เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เลวร้ายที่สุดของการทรมานสัตว์ในโลกปัจจุบันของเรา
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก และองค์กรภาคี Education for Nature Vietnam (ENV) และ Animal Asia Foundation ร่วมกับหน่วยงานราชการในท้องถิ่นในภารกิจเข้าให้การช่วยเหลือ เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันว่าหมีทั้งสามตัวจะได้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในศูนย์อนุรักษ์ ซึ่งดำเนินการโดย Animal Asia Foundation ในเมือง Vinh Phuc ซึ่งตั้งอยู่ประมาณ 60 กม. ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงฮานอย
หมีทั้งสามตัวนี้ถูกค้นพบระหว่างการเข้าพื้นที่เพื่อฝังไมโครชิฟทื่เมือง Lang Son เมื่อปี 2019
สู่อิสระภาพ
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ร่วมมือกับหน่วยงานราชการของประเทศเวียดนามในการขึ้นทะเบียนและฝังไมโครชิพให้กับหมีทุกตัวที่อยู่ในฟาร์มทั่วประเทศ และเฝ้าติดตามหมีเหล่านี้โดยการเข้าตรวจสอบ เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีหมีตัวใหม่ถูกนำมากักขังเพื่อแสวงหาประโยชน์จากอุตสาหกรรมดีหมี และหากมีหมีถูกพบว่าไม่มีเอกสารขึ้นทะเบียนหรือไมโครชิพ จะถูกยึดและนำส่งให้กับศูนย์พิทักษ์สัตว์ของทางราชการ หรือศูนย์อนุรักษ์สัตว์ป่าของหน่วยงานเอกชน
หมีทั้งสามตัวนี้ถูกตรวจพบครั้งแรกในภารกิจตรวจสอบไมโครชิพในเดือนพฤศจิกายน 2019 หมีเพศเมียหนึ่งตัวถูกพบว่ามีการครอบครองโดยผิดกฎหมายเนื่องจากไม่มีไมโครชิพ หน่วยงานราชการจึงมีคำสั่งให้ตรวจยึด หลังจากที่ได้รับการเกลี้ยกล่อมโดยทีมตรวจสอบ เจ้าของหมีจึงเลือกที่จะส่งมอบหมีที่เหลืออีกสองตัวให้กับศูนย์อนุรักษ์โดยความสมัครใจ
หมีเหล่านี้ถูกเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ กรงเหล็กคับแคบที่แทบไม่มีแสงจากธรรมชาติ กรงขังมีขนาดกว้างเพียง 1.5 เมตร และสูง 1.8 เมตร
การช่วยเหลือ
การเข้าช่วยเหลือได้ดำเนินการในวันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน หมีทั้งสามถูกนำตัวขึ้นรถบรรทุกเพื่อออกเดินทางไปยังศูนย์อนุรักษ์ การเดินทางเป็นไปด้วยความราบรื่น และหมีกำลังปรับตัวเข้าสู่สภาพแวดล้อมใหม่ ที่พวกมันจะสามารถใช้ชีวิตได้โดยปราศจากความเจ็บปวดและการทรมาน
ข่าวดีนี้มาถึงหลังจากการช่วยเหลือหมีชื่อ Cam จากฟาร์มดีหมีในเมือง Hai Phong ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ยุติฟาร์มดีหมี
เป็นเวลากว่า 15 ปีแล้วที่องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก และภาคีภาคประชาสังคม ได้ร่วมกับรัฐบาลเวียดนามในการต่อสู้เพื่อยุติความโหดร้ายในการทำฟาร์มดีหมี และปกป้องประชากรหมีที่ยังคงเหลืออยู่ในธรรมชาติอีกไม่มากนัก ความพยายามที่ผ่านมาได้ส่งผลให้จำนวนหมีในฟาร์มลดลงกว่า 90% จากที่เคยบันทึกไว้ได้ประมาณ 4,300 ตัวในปี 2005 เหลือเพียง 346 ตัวในปัจจุบัน
การทำฟาร์มดีหมีไม่เพียงสร้างโหดร้ายและเป็นสาเหตุของความเครียดและความทุกข์ทรมานที่น่ากลัวต่อสัตว์เท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านลบต่อชื่อเสียงของประเทศเวียดนามอีกด้วย แม้ว่าจะมีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญทั่วประเทศ แต่ กรุงฮานอยก็ยังล้าหลังและยังคงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์หมีน้ำดีอันดับหนึ่งของประเทศ โดยมีหมี 162 ตัว คิดเป็น 44% ของหมีน้ำดีทั้งหมดในเวียดนาม เจ้าหน้าที่ในฮานอยต้องเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายและโน้มน้าวอย่างจริงจังให้ชาวบ้านเลิกเลี้ยงหมี
Maya Pastakia, ผู้จัดการแคมเปญ สัตว์ป่า ไม่ใช่ยา จากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า:
"ฟาร์มดีหมีเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในประเทศเวียดนาม แต่มันก็ไม่สามารถหยุดยั้งความทุกข์ของหมีที่เหลืออยู่อีกหลายร้อยตัวที่ยังคงถูกทรมานกักขังเพื่อรีดเอาน้ำดี"
"หมีเหล่านี้ถูกขังอยู่ในกรงแคบๆ ที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มากไปกว่าตู้โทรศัพท์ เป็นเวลานานถึง 21 ปี แม้ว่ามันจะเป็น ‘ผู้โชคดี’ ที่ได้หลุดพ้นจากความโหดร้าย แต่บาดแผลรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจจะยังคงอยู่ตราบชั่วชีวิตของพวกมัน"
"รัฐบาลเวียดนามควรปิดช่องว่างทางกฎหมายเพื่อยุติการทำฟาร์มดีหมีที่โหดร้ายให้หมดไปโดยเด็ดขาด"
Ha Bui รองผู้อำนวยการของ Education for Nature Vietnam กล่าวว่า:
“เมือง Lang Son ได้เป็นเมืองลำดับที่ 40 ของเวียดนามที่ปราศจากฟาร์มดีหมี และยังเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายควรตัดสินใจดำเนินการด้วยความเด็ดขาดเพื่อยุติการทำฟาร์มดีหมีในพื้นที่รับผิดชอบของตน ENV ขอสนับสนุนอีก 23 เมืองที่ยังคงมีการทำฟาร์มดีหมี ให้ดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อยุติอุตสาหกรรมที่ล้าหลังนี้ และที่สำคัญ ENV ขอเรียกร้องไปยังกรุงฮานอย ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศเวียดนาม และยังถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของการทำฟาร์มดีหมีของประเทศ ให้วางตัวเป็นแบบอย่างที่มีความจำเป็น เพื่อลบล้างการทำฟาร์มดีหมีในประเทศเวียดนามให้หมดสิ้นไปอย่างถาวร”
ฟาร์มดีหมีเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในประเทศเวียดนาม แต่มันก็ไม่สามารถหยุดยั้งความทุกข์ของหมีที่เหลืออยู่อีกหลายร้อยตัวที่ยังคงถูกทรมานกักขังเพื่อรีดเอาน้ำดี