Chickens during transport. Credit: World Animal Protection.

สัปดาห์รู้รักษ์: ลดเชื้อดื้อยาผ่านการเลี้ยงสัตว์อย่างมีจริยธรรม

บล็อก

By

“สัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ (WAAW)” เป็นโอกาสที่ดีในการสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างมีความรับผิดชอบในฟาร์มอุตสาหกรรม

ความสำคัญของสัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ (WAAW)

ทุก ๆ สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปีจะตรงกับ “สัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ (WAAW)” เป็นโอกาสที่ดีในการสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งมีผลโดยตรงทั้งต่อสุขภาพมนุษย์และสวัสดิภาพของสัตว์ในฟาร์มอุตสาหกรรม การลดการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ไม่เพียงแต่ช่วยลดปัญหาการดื้อยา แต่ยังเป็นการส่งเสริมการดูแลสัตว์อย่างมีจริยธรรม และยั่งยืนในระยะยาว

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ย้ำเตือนถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อการรักษาโรคที่สามารถรักษาได้ในปัจจุบัน หากไม่สามารถควบคุมการดื้อยาได้ เราอาจจะต้องเผชิญกับยุคที่การรักษาโรคที่เคยง่ายกลับกลายเป็นเรื่องยากขึ้น และเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตมากขึ้นในอนาคต WHO จึงเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในมนุษย์และสัตว์ รวมถึงการเสริมสร้างมาตรการในการควบคุมและป้องกันการดื้อยาผ่านการวิจัย การศึกษา และการปรับปรุงระบบการดูแลสุขภาพ

หากเราทุกคนร่วมมือกันตระหนักถึงปัญหานี้และทำการเปลี่ยนแปลงในการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างมีสติ เราคงสามารถลดการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาและสร้างสังคมที่มีสุขภาพดีและยั่งยืนได้ในที่สุด

ฟาร์มอุตสาหกรรมคือต้นตอของ "เชื้อดื้อยา"

ภาคปศุสัตว์เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิด “เชื้อดื้อยา” จากการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินความจำเป็นในสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อไก่ซึ่งเป็นเนื้อสัตว์ที่คนบริโภคกันอย่างแพร่หลายที่สุด แต่เบื้องหลังการผลิตนั้น เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานของสัตว์

ไก่ในระบบอุตสาหกรรมปัจจุบันเป็นไก่สายพันธุ์เร่งโต หรือไก่ที่ได้รับการผสมข้ามสายพันธุ์จนมีขนาดที่ใหญ่และอัตราการเจริญเติบโตผิดธรรมชาติ ใช้เวลาเลี้ยงเพียง 30-40 กว่าวันเท่านั้น ไก่เหล่านี้มีเนื้อมาก ขาเล็ก และแทบจะแบกน้ำหนักตัวเองไม่ไหว ไก่ที่เดินหรือลุกยืนไม่ได้จึงเป็นภาพปกติที่จะเห็นได้ในไก่อุตสาหกรรม นอกจากนี้ การเลี้ยงไก่ยังเลี้ยงอย่างแออัดในโรงเรือนที่มีพื้นที่จำกัดเฉลี่ยเท่าขนาดกระดาษ A4 เท่านั้น เรียกได้ว่า เป็นระบบที่ไร้มนุษยธรรมถึงที่สุด

ด้วยปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมา จึงไม่แปลกเลยที่ไก่เหล่านี้จะเจ็บป่วยได้ง่าย มีปัญหาสุขภาพตั้งแต่เล็ก ทางออกของฟาร์มอุตสาหกรรมทั่วไปจึงจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ อย่างไรก็ตาม ฟาร์มที่เลี้ยงไก่เรือนหมื่นเรือนแสนคงไม่สามารถจับไก่ป่วยมาป้อนยาทีละตัวได้ จึงกลายเป็นการให้ยาปฏิชีวนะผสมในอาหารและน้ำแทน เพราะ “ง่ายและสะดวก”  ซึ่งจุดนี้ เป็นการแก้ปัญหาที่มักง่ายและนับเป็นอันตรายอย่างยิ่งยวดต่อมนุษย์ผู้บริโภคเนื้อไก่และส่งผลเสียมหาศาลต่อสิ่งแวดล้อมจากการถ่ายของเสียของฟาร์ม

ยาปฏิชีวนะที่ไก่ได้รับเป็นจำนวนมากตลอดอายุขัย อาจส่งถ่ายมาถึงผู้บริโภค และอาจแพร่กระจายลงสู่แหล่งน้ำหรือพื้นดินโดยรอบฟาร์มอุตสาหกรรม การกินยาปฏิชีวนะมากเกินไปทำให้เกิด “เชื้อดื้อยา”ภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนมานับไม่ถ้วน โดยสถิติบ่งชี้ว่าคนไทย 1 คนตายเพราะเชื้อดื้อยาทุก ๆ 15 นาที เรียกได้ว่า “เนื้อสัตว์ถูก แต่ค่ายาแพง”

ใส่ใจในที่มาของอาหารคือทางออก

ปัจจุบัน ความรู้ความเข้าใจเรื่องเชื้อดื้อยาในระบบอาหารนั้นยังไม่แพร่หลายในประเทศไทยเท่าที่ควร เมื่อ demand น้อย supply ก็ต่ำตาม ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงสินค้าเนื้อสัตว์ที่ปลอดยาปฏิชีวนะได้

ทางออกของปัญหาร้ายแรงนี้ยังมีอยู่ เพียงแค่คนหันมาใส่ใจแหล่งที่มาของอาหารมากขึ้น และเลิกหรือลดการบริโภคเนื้อสัตว์จากระบบฟาร์มอุตสาหกรรม โดยองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก สนับสนุนการทำฟาร์มที่ปราศจากการใช้ยาปฏิขีวนะ

โครงการฟาร์มแชมเปี้ยน เป็นโครงการที่สนับสนุนเกษตรกรรายย่อยให้ผันมาเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูง ปัจจุบัน มีฟาร์มจำนวน 11 ฟาร์ม จาก 6 จังหวัดที่เข้าร่วม โดยแต่ละฟาร์มให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์เป็นอันดับแรก ซึ่งผลที่ตามมาน่าทึ่งมาก เพราะฟาร์มทั้งหมดสามารถทำให้ปลอดยาปฏิชีวนะได้ 100%

การทำฟาร์มในโครงการนี้ ใช้ไก่โคราชซึ่งเป็นไก่สายพันธุ์โตช้าและเป็นลูกผสมไก่พื้นเมือง ทำให้ไก่มีความทนทานต่ออุณหภูมิ และเติบโตในอัตราปกติ ไม่มีขนาดใหญ่เกินไป ไก่ถูกเลี้ยงแบบอิสระ มีทางเลือกในการหาอาหารที่เขาชอบ มีของเล่นและอุปกรณ์เสริมการแสดงออกพฤติกรรมตามธรรมชาติ ทั้งหมดนี้ทำให้ไก่แข็งแรงเป็นพื้นฐานและไม่เครียด  ซึ่งเป็นตัวแปรหลักที่สัมพันธ์กับสุขภาพของไก่

เมื่อไก่ไม่ป่วย การใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อจึงไม่ใช่เรื่องจำเป็น การปรับเปลี่ยนมุมมองของเกษตรกรและการปรับปรุงรูปแบบการเลี้ยงโดยเอาสวัสดิภาพสัตว์เป็นศูนย์กลางนี่เอง ที่ทำให้เราแน่ใจได้ถึงที่มาของอาหารปลอดภัย และเนื่องในโอกาสสัปดาห์รู้รักษ์ในปีนี้ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกหวังว่าเราจะช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันภาคปศุสัตว์และระบบอาหารที่ปลอดภัยและยั่งยืน เราหวังอย่างยิ่งว่าโครงการฟาร์มแชมเปี้ยนเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่มีผลยิ่งใหญ่ มีศักยภาพในการสร้างความตระหนักรู้และปฏิวัติระบบอาหารให้ปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่จำเป็น เรียกได้ว่าการทำให้ไก่แข็งแรงมีความสุข คือการทำให้มนุษย์สุขภาพดีตามไปด้วย

 

More about