กลับจากการเดินทางที่ช้างชิลเมื่อปีที่ผ่านมา ผ่านคำถามที่หลากหลายจากลูกสาวตัวน้อย มาปีนี้แม่มีโอกาสพาพี่ๆ นักข่าว ที่สนใจลงพื้นที่ ไปแอบดูช้างบนผืนดินกว่า 140 ไร่
ชอุ่มเขียวไปด้วยป่าสวนปาล์ม ไกลออกไปมองเห็นแนวเขาปกคลุมด้วยพืชพรรณนานาชนิด หมอกห่อห่มผืนฟ้า ละอองฝนโปรยชุ่มช่ำs ช้างพัง 2 ตัว เดินย่ำดินโคลนตามกันออกมาจากแนวป่าเพื่อหากินตามวิถีช้าง เราเฝ้ามองอยู่ในมุมที่สูงกว่าห่างออกมา 300 เมตร รับรู้ได้ว่านี่คือความสุขสงบของเหล่าช้างในปางช้างแห่งนี้
Following Giants เป็นปางช้างที่เป็นมิตรกับช้างและเน้นเรื่องสวัสดิภาพสัตว์เป็นหลัก ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.เมือง จ.กระบี่ ที่นี่ปล่อยช้างอิสระ ไม่ล่ามโซ่่ตลอดเวลา โดยมีควาญช้างประจำแต่ละตัวเพื่อดูแลช้างอย่างใกล้ชิด ที่นี่ไม่มีการแสดงช้าง ไม่มีกิจกรรมช้างอาบน้ำ ไม่ป้อนอาหาร และไม่ขี่ช้าง โดยเป็นการท่องเที่ยวแบบศึกษาและสังเกตพฤติกรรมตามธรรมชาติของช้างอย่างแท้จริง
เช้านี้แม่ร่วมเดินไปพร้อมๆ กับควาญช้างที่ได้เดินนำลัดเลาะไปในสวนตามรอยช้างที่แหวกดงรกไว้เป็นทาง เดินประมาณ 10 นาที แม่เจอช้างตัวหนึ่งอยู่ในดงไม้ กำลังใช้งวงตวัดเกี่ยวหญ้าเนเปียร์เข้าปาก ท่าทีสงบสบาย ควาญช้างบอกให้ทุกคนรักษาระยะห่างเพื่อไม่ให้ช้างตื่นตกใจและเพื่อความปลอดภัยของทั้งคนและช้าง
‘พี่ชเร ทองสังข์’ เจ้าของปางช้าง Following Giants เล่าว่า ช้างตัวนี้ชื่อทองเอก อายุ 46 ปี เป็นช้างที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูร่างกายจากอาการมีแผลอักเสบเรื้อรัง และมีปัญหาบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นผลกระทบจากการทำงานลากไม้มาอย่างยาวนาน
“ทองเอกเพิ่งมาอยู่ได้ 4 เดือน เมื่อก่อนเป็นช้างที่ดุมาก เคยถูกล่ามโซ่ทั้ง 4 ขา ไม่สามารถเข้าใกล้ได้ เพราะเครียดจากการถูกใช้งานหนักมาก่อน แต่เมื่อย้ายมาที่ Following Giants ทองเอกได้หากินอิสระ ได้แสดงสัญชาตญาณตามธรรมชาติ ไม่ถูกบังคับให้ทำงานหนัก ได้รับอาหารที่หลากหลายและเพียงพอ ทำให้นิสัยเปลี่ยนเป็นช้างที่สงบมากขึ้น” พี่ชเร เล่าให้ฟัง
‘พี่ชเร’ เล่าให้ฟังอีกว่า Following Giants กระบี่ มีช้างทั้งหมด 6 ตัว ส่วนใหญ่เป็นช้างที่เคยทำงานหนักมาก่อน กลุ่มแรกคือช้างลากไม้ เพราะถูกใช้งานหนักที่สุด ทุกปีมีช้างลากไมัตายปีละ 4-5 ตัว อีกประเภทคือช้างขี่ ต้องทำงานรับนักท่องเที่ยววันละ 8 ชั่วโมง เหมือนรถแท๊กซี่วนรับผู้โดยสารแทบไม่ได้หยุดพัก ทั้งที่ช้างเหล่านี้จำเป็นต้องกินอาหารทุกชั่วโมง ทำให้ต้องอดอาหารและไม่ได้รับอาหารที่หลากหลาย ส่งผลให้มีอาการบาดเจ็บจากการทำงาน เจ็บหลัง กระดูกสันหลังผิดรูป กล้ามเนื้อถูกกดทับจนลีบ และมีผิวหนังบางมากจากการถูกกดทับเป็นเวลานาน
‘พี่ชเร’ เกิดในครอบครัวคนเลี้ยงช้าง ทำให้ผ่านประสบการณ์ร่วมกับช้างมากมาย ในอดีตครั้งหนึ่งมีช้างอายุมากนิสัยดีตัวหนึ่ง ทำงานรับนักท่องเที่ยวทั้งวันแทบไม่ได้พัก หลังจากส่งนักท่องเที่ยวชุดสุดท้ายลงจากหลังแล้ว มันได้ย่อขา หย่อนตัวลงพักอยู่ตรงนั้น จนเวลาผ่านไปนาน ปรากฎว่าช้างสิ้นใจอยู่ตรงนั้น แต่ไม่มีใครรู้ว่าช้างตัวนี้ตายแล้ว เรียกได้ว่าทำงานจนตาย เป็นเหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้พี่ชเรเปลี่ยนทัศนคติต่อช้าง และตัดสินใจปรับรูปแบบจากปางช้างทั่วไปเป็นปางช้างที่เป็นมิตรกับช้าง
ในปี 2562 ปางช้าง Following Giants ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (World Animal Protection) ในการเปลี่ยนเป็นปางช้างที่เป็นมิตรกับช้าง โดยริเริ่มแห่งแรกที่ศูนย์เกาะลันตา จนสามารถขยายศูนย์แห่งที่สอง ที่เมืองกระบี่แห่งนี้ นับได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกโมเดลปางช้างที่เป็นมิตร ในโซนภาคใต้ของประเทศไทย
สำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาที่ Following Giants ต่างให้ความสำคัญกับเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ ชื่นชอบการ “แอบดู” เฝ้าสังเกตพฤติกรรมช้างตามธรรมชาติมากกว่าการท่องเที่ยวกิจกรรมที่มีการใช้งานสัตว์เพื่อความบันเทิง
ที่ Following Giants ช้างเดินหากินอย่างอิสระ ควาญช้างจะตามอยู่ห่างๆ นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้วิถีตามธรรมชาติที่แท้จริงของช้าง อย่างไรก็ตามเนื่องจากพื้นที่ของปางช้างอยู่ติดกับชุมชนและพื้นที่เพาะปลูก ทำให้ไม่สามารถล้อมรั้วกั้นได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องมีมาตรการดูแลช้างเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของทั้งคนและช้าง เพื่อให้แน่ใจว่าช้างจะปลอดภัย ควาญช้างได้พักผ่อน และป้องกันไม่ให้ช้างรุกที่ของชาวบ้านจนเป็นเหตุที่นำไปสู่ความขัดแย้งกับชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง โดยช้างไม่ต้องถูกล่ามโซ่ในเวลากลางวัน ส่วนช่วงเวลากลางคืนที่จำเป็นต้องจำกัดพื้นที่ของช้าง จะใช้โซ่ที่มีความยาวอย่างน้อย 10 เมตร มากพอให้ช้างสามารถเคลื่อนไหว และมีปฏิสัมพันธุ์กับช้างตัวอื่นๆ ได้
พี่ชเร เล่าว่าช้างต้องกินอาหารวันละ 300-500 กิโลกรัม ช้างไม่ได้ชอบอาบน้ำหรือเล่นน้ำตลอดเวลา ที่ปางได้กำหนดรับนักท่องเที่ยววันละไม่เกิน 60 คน เพราะต้องการให้นักท่องเที่ยวมีเวลากับช้างมากขึ้น และช้างไม่ถูกรบกวนมากเกินไป
“ปางช้างทั่วไปรับนักท่องเที่ยว 200-300 คนต่อวัน ช้างไม่มีเวลาพัก แต่ช้างตัวหนึ่งหนัก 3-4 ตัน บางครั้งได้กินกล้วยเพียงวันละ 8 ตะกร้า ต้องถูกคนรุมอาบน้ำทั้งวัน แต่ปางช้างของเรามีช้าง 5-6 เชือก เรากำหนดให้รองรับนักท่องเที่ยวไม่เกิน 30-60 คน แยกกลุ่มเล็กๆ ไม่ต้องเดินเจอกัน รายได้ที่เข้ามาก็เพียงพอให้ธุรกิจไปได้ ช้างไม่ต้องทำงานหนัก มีความสุข อายุยืน เมื่อช้างไม่หงุดหงิดก็ไม่ต้องกังวลว่าช้างจะเสี่ยงทำอันตรายแก่นักท่องเที่ยว” พี่ชเร เล่าให้ฟังอีกด้วยว่า
“ขณะนี้มีปางช้างหลายแห่งให้ความสนใจและเข้ามาดูงานที่ Following Giants โดยถามเราว่าไม่มีการอาบน้ำช้าง ไม่ป้อนอาหาร ไม่ให้นักท่องเที่ยวขี่ช้าง แล้วนักท่องเที่ยวจะสนุกอย่างไง เราตอบว่าถ้านักท่องเที่ยวไม่ชอบคงไม่สามารถเปิดศูนย์แห่งใหม่ที่กระบี่ได้ และเมื่อเขาได้เข้ามาสัมผัสกิจกรรมต่างๆ ทำให้เจ้าของปางช้างเหล่านี้มีความมั่นใจมากขึ้นที่อยากจะปรับเปลี่ยน”
ที่ผ่านมา องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ทำงานร่วมกับปางช้างต่างๆ เพื่อส่งเสริมแนวคิดยกระดับสวัสดิภาพช้างในประเทศไทย จึงพยายามรณรงค์ให้ความรู้กับสังคม ผลักดันให้เกิดโมเดลปางช้างที่เป็นมิตรกับช้าง และหวังให้มีการขยายผลไปสู่ปางช้างอื่นๆ เพราะเชื่อว่าโมเดลนี้สามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการและสร้างรายได้สร้างอาชีพให้กับชุมชน และที่สำคัญที่สุดจะเป็นประโยชน์แก่ช้างและชุมชน
เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ตอนนี้ เราเห็นเทรนด์นักท่องเที่ยวเริ่มหันมาใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้น เห็นได้จากบริษัททัวร์ในหลายประเทศหันมาปรับโปรแกรมขายการท่องเที่ยวทีไม่มีการแสดงของสัตว์ อีกทั้งมีการออกกฎหมายควบคุมไม่สนับสนุนให้มีการใช้งานสัตว์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อป้องกันไม่ให้นักท่องเที่ยวจากประเทศของตัวเองสนับสนุนกิจกรรมที่ใช้งานสัตว์เพื่อความบันเทิง
ขอจบบันทึกการเดินทางตรงนี้ และหวังว่าทริปหน้าแม่กับหนูจะได้มา “แอบดู” ช้างด้วยกันนะคะ 😊