G-pork farm

“เรื่องหมูๆ” ฟาร์มหมูหลุมบ้านดอนแร่ แหล่งผลิตเนื้อหมูปลอดภัยและใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์

ข่าว

นอกเหนือจากการเป็นเกษตรกรเจ้าของฟาร์มหมูหลุมบ้านดอนแร่ แห่ง จ.ราชบุรี ที่เป็นต้นแบบการเลี้ยงหมูหลุมให้เกษตรกรกว่า 30 ครัวเรือนในจังหวัดแล้ว คุณสุพจน์ สิงโตศรี ประธานหมูหลุมแห่งประเทศไทย ยังเป็นทั้งครูและผู้เชี่ยวชาญในการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้ต้องการเลี้ยงหมูหลุมที่เข้ามาศึกษาดูงานกว่า 50 จังหวัดทั่วประเทศ โดยใช้พื้นที่ที่ฟาร์มทำเป็นศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงหมูหลุม เพื่อเป็นตัวอย่างศึกษาการเลี้ยงหมูหลุมด้วยวิถีธรรมชาติภายใต้แนวคิด “ดูแลตามความต้องการของหมู ไม่ใช่ตามความต้องการของคนเลี้ยง”

G-pork farm

เลี้ยงหมูไม่เป็นระบบอุตสาหกรรม แต่ผลิตได้แบบอุตสาหกรรม

คุณสุพจน์ เกษตรกรผู้บุกเบิกการเลี้ยงหมูด้วยวิถีธรรมชาติ หรือการเลี้ยงหมูหลุมจนประสบความสำเร็จ โดยผสานองค์ความรู้ด้านสัตวบาลที่มีประสบการณ์มากว่า 20 ปีในฟาร์มหมูขนาดใหญ่ พร้อมพัฒนาการเลี้ยงให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ และส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ ให้มีสุขภาพดี มีความสุข รวมถึงต่อยอดด้วยการบริหารจัดการฟาร์มอย่างเป็นระบบโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญยังเพิ่มมูลค่าของเสียให้กลายเป็นปุ๋ยคุณภาพดี นำรายได้กลับคืนสู่เกษตรกร

เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาเลี้ยงสัตว์ พ.ศ.2558  และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น พ.ศ.2565 เล่าย้อนถึงที่มาของการเลี้ยงหมูหลุมว่า จากอดีตสัตวบาลที่เคยดูแลหมูในฟาร์มแบบอุตสาหกรรม ต้องคอยฉีดวัคซีน ฉีดยารักษาโรคทุกวัน ส่งผลให้เขามีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ ไอ จาม จนบางครั้งไอเป็นเลือด จึงต้องขอย้ายไปอยู่แผนกอื่น ก่อนจะหันมาทำฟาร์มหมูหลุมของตัวเอง     

“ประมาณปี 2548 ชาวบ้านเขาตามภรรยาผมไปทำคลอดหมู ผมจึงตามไปด้วย พอเข้าไปถึงก็พบว่าฟาร์มหมูที่ชาวบ้านเลี้ยงไม่มีกลิ่นเลย ผมก็ถามว่าเขาเรียนรู้จากที่ไหน เขาบอกเรียนกับอ.โชคชัย สารากิจ ที่ศูนย์การเรียนรู้การพัฒนายั่งยืน จ.เชียงราย ผมก็ตามไปดูเพื่อเรียนรู้เรื่องการเลี้ยงหมูที่ไม่มีกลิ่นก่อน จากนั้นจึงนำแนวคิดการเลี้ยงหมูโดยไม่มีกลิ่น และลดต้นทุนโดยใช้หยวกหมักเป็นอาหารมาพัฒนาต่อ เพื่อพิสูจน์ว่าถ้าเราเลี้ยงหมูโดยไม่เป็นระบบอุตสาหกรรม แต่ผลิตได้แบบระบบอุตสาหกรรม โดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเลยจะสามารถเลี้ยงได้หรือเปล่า เราก็เลยทดลองโดยนำลูกหมูของเราเอง แล้วสร้างฟาร์มที่มีวัสดุรองพื้นโดยใช้แกลบซึ่งหาได้ง่าย แล้วนำจุลินทรีย์ท้องถิ่นมาราด ปรากฏว่า หมูอยู่ได้ โดยไม่มีกลิ่นเหม็นและไม่มีน้ำเสียเลย”

ประธานหมูหลุมแห่งประเทศไทย เผยถึงจุดพลิกผันที่หันมาทำฟาร์มหมูชีวภาพ

G-pork farm

ระบบจัดการฟาร์มแบบ Zero Waste

คุณสุพจน์เริ่มต้นทดลองนำหมูมาเลี้ยง 100 ตัว เมื่อได้ผลดี จึงขยายผลด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงมาเลี้ยงหมูหลุมอย่างเป็นระบบ  ด้วยการคัดสายพันธุ์หมู ได้แก่ ลาร์จไวท์ และ แลนด์เรซ ให้กับกลุ่มเกษตรกรซึ่งมีประมาณ 12 ครัวเรือน จากนั้นทำทะเบียนเพื่อให้รู้ว่ามีแม่หมูกี่ตัว ท้องกี่ตัว มีลูกกี่ตัว หมูรุ่นกี่ตัว หมูพร้อมจำหน่ายกี่ตัว ถัดมาจึงเป็นเรื่องของอาหาร ซึ่งใช้สูตรอาหารหมักที่ใช้ต้นกล้วย 100 กก. ผสมกับน้ำตาลทรายแดง 4 กก. เกลือ 1 กก. หมักอย่างน้อย 7 วัน จากนั้นจึงผสมกับอาหารข้นที่นำมาจากวัตถุดิบท้องถิ่น อาทิ ปลายข้าว ข้าวโพดป่น รำละเอียด น้ำมันมะพร้าว กากถั่ว เป็นต้น   

สำหรับระบบการจัดการฟาร์ม สิ่งสำคัญคือวัสดุรองพื้น ซึ่งจะใช้แกลบ ก้อนเชื้อเห็ดที่ทิ้งแล้ว เศษใบไม้ ฯลฯ รองให้หนา 60 ซม. แต่ระยะหลังมีการนำเปลือกมะพร้าวมาใช้มากขึ้น โดยคุณสุพจน์ทำงานร่วมกับล้งของบริษัทผู้ผลิตส่งออกน้ำมะพร้าวรายใหญ่ เพื่อประสานประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย  

“เปลือกมะพร้าวน้ำหอม ถ้านำไปทิ้งจะเกิดมลภาวะมาก เราจึงคุยกับล้งมะพร้าวว่า เปลือกมะพร้าวอ่อน นำไปตากแห้งสักหน่อย แล้วนำมาขายให้เรา ตันละ 550 บาท แล้วก็เอาปุ๋ยคอกที่ได้จากฟาร์มเราไปใช้ ซึ่งเขาสามารถนำไปปรับปรุงเป็นสวนมะพร้าวอินทรีย์ได้เลย หลายๆ ล้งที่ต้องการยกระดับ เขาก็จะส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจว่าปุ๋ยของเราหมักแบบสมบูรณ์ไหม เนื่องจาก ปุ๋ยจากหมูหลุม จะมีแกลบ เปลือกมะพร้าวน้ำหอม ก้อนเชื้อเห็ดที่ทำมาจากขี้เลื่อย ปรากฏว่า ปุ๋ยเราผ่านการรับรอง สามารถให้สมาชิกชาวสวนมะพร้าวน้ำหอมใช้ได้ โดยสวนมะพร้าวก็ทำข้อตกลงกับล้งว่า ถ้าคุณซื้อปุ๋ยหมูหลุมที่เราผลิต เขาก็จะซื้อมะพร้าวจากล้งนั้น ทำให้การขายปุ๋ยเราไปได้ดี และไม่พอขาย เป็นการเชื่อมกิจกรรมทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และทำให้มีการพึ่งพากับระบบอื่นได้ด้วย”

คุณสุพจน์ กล่าวถึงระบบจัดการฟาร์มที่ถือเป็น Zero Waste หรือลดขยะให้เป็นศูนย์ ที่สำคัญยังได้ประโยชน์จากเปลือกมะพร้าวที่มีสารแทนนิน ซึ่งทำให้หมูลดอาการติดเชื้อโรคทางเดินอาหาร และยังสามารถฆ่าเชื้ออีโคไลน์ ในคอกได้อีกด้วย

G-pork farm

หางหมู วัดพฤติกรรมความเครียด

นอกเหนือจากวัสดุรองพื้นจากธรรมชาติที่สามารถดูดซับน้ำที่ใช้กับหมู 3-5 ลิตรต่อตัวต่อวัน ซึ่งทำให้ไม่เกิดน้ำเสียปล่อยออกจากฟาร์มแล้ว ความนุ่มและยืดหยุ่นของวัสดุ ยังทำให้หมูสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข กีบเท้าไม่แตกหรือเป็นแผล ส่งผลให้หมูอารมณ์ดี และไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรค ขณะเดียวกันจุลินทรีย์หมักที่ใช้สำหรับพ่นในคอกทุกสัปดาห์ ยังช่วยขจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ แมลงวัน และป้องกันโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหมู โดยเฉพาะโรคผิวหนังได้เป็นอย่างดี

“หมูมีอาวุธอยู่ 2 อย่างคือ จะงอยปาก กับ กีบ ซึ่งในระบบฟาร์ม มันจะไม่สามารถแสดงออกพฤติกรรมทางธรรมชาติได้เลย เพราะระบบฟาร์มคือเป็นพื้นปูน ปัญหาคือ เขาไม่สามารถขุดพื้นปูนได้ ที่สำคัญคือ หมูมีปัญหาเรื่องกีบ ข้อบวม ระบบฟาร์มต้องการให้หมูโตเร็ว แต่ขามันรับน้ำหนักไม่ไหว ดังนั้น สารที่ผสมในสูตรอาหาร เขาจะใช้ฟอสฟอรัสผสมในอาหาร และฉีดยาเพื่อรักษาอาการอักเสบ แต่สำหรับหมูหลุมไม่ต้อง เพราะเขายืนได้ เมื่อมันยืนในพื้นที่นิ่มได้ เขาไม่จำเป็นต้องสร้างกล้ามเนื้อที่เหนียว ขาก็ไม่อักเสบ กีบไม่แตก และไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ 

นอกจากนี้หมูหลุมไม่จำเป็นต้องตัดหาง หางจะเป็นตัววัดพฤติกรรมความเครียด ในระบบฟาร์ม ถ้าไม่ตัดหาง เขาจะวิ่งไล่กัดหางกัน ทำให้เกิดบาดแผล และทำให้ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แต่สำรับหมูหลุมที่อยู่ในพื้นที่นุ่ม เขาไม่มีความเครียด ส่วนเขี้ยวข้างล่างและบน เขาจะตัดนิดนึงเพื่อให้กินนมแม่หมูได้สะดวก อันนี้คือส่วนหนี่งของการจัดการฟาร์ม ที่สำคัญหมูของเราไม่มีการใช้เข็มฉีดยาเลย เรามีคอนเซ็ปต์ว่า คอหมูต้องไม่เจอเข็ม”

ไม่เพียงคอหมูที่ไม่เจอเข็ม การดูแลหมูให้อยู่ในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 2 ตร.ม.ต่อตัว และแม่พันธุ์ที่มีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 6 ตร.ม. ยังเป็นหนึ่งในการคำนึงถึงสวัสดิภาพในการเลี้ยงสัตว์ ให้สามารถแสดงพฤติกรรมอย่างเป็นธรรมชาติได้ หรือแม้แต่ตอนเจ็บป่วยก็มีวิธีรักษาแบบธรรมชาติ โดยคุณสุพจน์ อธิบายว่า การเลี้ยงหมูสำคัญตั้งแต่การออกแบบคอก หากไม่มีพื้นที่รับลมหรือกันลม ก็อาจทำให้หมูป่วยได้ ส่วนเรื่องการกินอาหาร ต้องหมั่นสังเกต หากหมูไม่ลุกมากินอาหารย่อมหมายถึงมีสัญญาณของการเจ็บป่วย และเมื่อมีหมูป่วย ควรต้องแยกออกจากคอก และอาจจะให้ยาสมุนไพรอาทิ ฟ้าทะลายโจร หญ้าแห้วหมู กล้วยดิบ แล้วแต่ลักษณะของอาการที่เกิดขึ้น

“โรคของหมูมี 2 เรื่องคือระบบทางเดินหายใจ กับระบบทางเดินอาหาร  สำหรับระบบทางเดินหายใจ ตัดไปได้เลย เพราะระบบการเลี้ยงหมูหลุมจะไม่มีกลิ่นแก๊ส หมูจะไม่ไอเลย ส่วนโรคระบบทางเดินอาหาร เราต้องดูในเรื่องของอาหาร เนื่องจากเราไม่ใช้ปลาป่นเลย เพราะอาจมีการปนเปื้อนเชื้อที่ทำให้เกิดท้องเสียได้ เมื่อหมูกินอาหารที่ส่วนหนี่งเป็นอาหารหมัก จะทำให้ระบบขับถ่ายเขาดีขึ้น”

G-pork farm

PGS ระบบการวางแผนที่ดี ไม่ต้องมีตรารับรองจากใคร

เมื่อบริหารจัดการระบบการเลี้ยงได้แล้ว ปัญหาใหญ่ที่เกษตรกรเผชิญคือ เรื่องการตลาด ในฐานะหัวเรือใหญ่ คุณสุพจน์จึงสร้างเครือข่ายเขียงหมูชุมชน ออกจำหน่ายทุกวันเสาร์ โดยนำความแตกต่างของหมูหลุมมาเป็นจุดขายเพื่อสร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น คุณภาพของเนื้อหมูที่ดีกว่าหมูในระบบอุตสาหกรรมทั่วไป เนื้อมีความนุ่ม ไม่เหม็นคาว และปราศจากการใช้ยาปฏิชีวนะ พร้อมกับจัดทำพรีออเดอร์ให้กับลูกค้าที่ต้องการ รวมทั้งยังรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองและไม่ให้ถูกกดราคาหน้าเขียง นอกจากนี้ยังเผยแพร่การทำฟาร์มหมูหลุมให้แก่ผู้สนใจ โดยสามารถเข้าชมและแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อนำไปทำฟาร์มหมูหลุมของตนเองได้  

“เราไม่มีตรารับรองจากใคร แต่เราเรียกว่า PGS (Plan Good System) คือระบบการวางแผนที่ดีในการผลิต ในระบบนี้ คือการรับรองแบบมีส่วนร่วม เราทุกคนจะมาตกลงกันว่า เราจะไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า ไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะฉีดให้สัตว์ แล้วให้ทุกคนปฏิบัติตามนั้น เรามีการไปตรวจในกลุ่มสมาชิกที่จะมาขาย ว่าคุณทำตามนั้นจริงหรือเปล่า เมื่อผู้บริโภคเห็นกลุ่มเกษตรกรมาขาย ผู้บริโภคก็จะซื้อ ซึ่งปีหนึ่งมีมูลค่าการขายอยู่ประมาณ 10 กว่าล้านบาท  ทำให้เกษตรกรมีรายได้ มีช่องทางการขาย และยังสามารถจัดเป็นท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้ ลูกค้าอยากมาดูแหล่งผลิตของเรา เราก็ยินดี ไปของกลุ่มนั้น กลุ่มนี้ แล้วก็ทำเป็นมายแมป ทำให้เขาบอกต่อๆ กันในกลุ่มคนเมือง คนเมืองก็เชื่อมั่นมากขี้น”

G-pork farm

ส่งต่อความมั่นใจไปยังผู้บริโภค โดยเฉพาะสวัสดิภาพสัตว์

ปัจจุบันไม่เพียงตลาดชุมชน และตลาดในจังหวัดราชบุรี กลุ่มสมาชิกเครือข่ายผู้เลี้ยงหมูหลุม ยังจำหน่ายเนื้อหมูคุณภาพ ไปยังร้านอาหาร ร้านเลม่อนฟาร์ม และโรงแรมระดับ 5 ดาวทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมถึงผ่าน Facebook: G-Pork Farm หมูหลุมดอนแร่ฟาร์ม โดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือผู้รักสุขภาพ ซึ่งคุณสุพจน์ กล่าวย้ำว่า อยากให้ผู้บริโภคใส่ใจในเรื่องของกระบวนการผลิตและที่มาของแหล่งผลิตวัตถุดิบที่ดี

“เราอยากให้ผู้บริโภคดูในเรื่องของกระบวนการผลิต ในระบบผลิตของเกษตรกร กิจการไหนบ้างที่ผลิตแบบปลอดภัย ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เราผลิตสายพันธุ์หมูเอง ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถบริหารจัดการให้เป็น zero waste และที่สำคัญมากๆ คือ การดูแลรักษาสวัสดิภาพสัตว์ สัตว์ที่เลี้ยง อารมณ์ดีไหม มีความปลอดภัยไหม ไม่ทรมาน ไม่กักขังสัตว์ มีพื้นที่เลี้ยงอย่างเพียงพอ เราต้องส่งต่อความมั่นใจให้ผู้บริโภคในเรื่องการผลิตก่อน”

เพราะหากคนไม่เลี้ยงสัตว์อย่างมีสวัสดิภาพ ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพของสัตว์ตามมา ซึ่งที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า หมูที่ถูกเลี้ยงในฟาร์มใหญ่ๆ แล้วเกิดความเครียด เมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้นย่อมเกิดความเสียหายจนถึงขั้นปิดฟาร์ม 

“นั่นเพราะเขาไม่รู้จักความเป็นอยู่ของหมูว่า หมูต้องการอะไร หมูระบบฟาร์มเครียด เมื่อโรคเข้ามา มันก็ตายหมดยกฟาร์ม ซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่า หมูหลุม มันไม่เครียด พอไม่เครียดก็อยู่ได้ เราดูแลให้เป็นไปตามความต้องการของหมู ไม่ใช่ตามความต้องการของคนเลี้ยง”

คุณสุพจน์ อรรถาธิบายถึงเหตุผลที่ต้องดูแลเอาใจใส่ในชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์อย่างมีสวัสดิภาพ แม้มันจะต้องกลายเป็นอาหารในอนาคตก็ตาม