New Normal การบริโภคแบบใหม่ที่ใส่ใจในสวัสดิภาพสัตว์
ข่าว
การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนทั้งโลก หรือ การใช้ชีวิตในแบบ New Normal ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะ การรักษาระยะห่างทางสังคม การทำงานจากที่บ้าน หรือแม้กระทั่ง เรื่องอุปโภคบริโภค ที่ผู้คนหันมาให้ความสนใจกันมากขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อควบคุมและลดความเสี่ยงของการระบาดที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
วิถีการบริโภคของหลายคนก็เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากคนหันมาใส่ใจที่มาของอาหารและเนื้อสัตว์ที่เราบริโภคมากขึ้นกว่าแต่ก่อน อย่างที่หลายคนทราบกันแล้วว่าโรคระบาดส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น เป็นโรคติดต่อที่มาจากสัตว์สู่คน (Zoonotic Disease)
ดังนั้นไม่เพียงแต่การคลุกคลี สัมผัสอย่างใกล้ชิด หรือการบริโภคสัตว์ป่าอย่างเดียวเท่านั้นที่อาจเป็นต้นเหตุ แต่สัตว์ในฟาร์มอุตสาหกรรมก็สามารถแพร่โรคระบาดมาสู่คนได้เช่นกัน เช่นไข้หวัดนก ที่คร่าชีวิตคนกว่าสองแสนคนทั่วโลก
ฟาร์มอุตสาหกรรมคือหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำมาสู่การระบาด
โรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คนส่งผลกระทบโดยตรงต่อมนุษย์ เพราะตราบใดที่มนุษย์ยังมีการคลุกคลีอยู่กับสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่าสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ในฟาร์มก็ตาม หากสัตว์เหล่านี้เกิดโรค ก็สามารถติดต่อมาสู่คนได้ไม่ว่าจะเป็นทางบาดแผล การหายใจ การสัมผัส หรือการกิน ดังเช่นโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้
การบริโภคอาหารในปัจจุบันคือหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำมาสู่การระบาดได้เนื่องมาจากการทำฟาร์มอุตสาหกรรมที่ไม่ได้คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์และสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันฟาร์มอุตสาหกรรมมีการเลี้ยงสัตว์ที่คำนึงถึงแต่ปริมาณการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สัตว์ในฟาร์มเหล่านี้มีชีวิตอยู่กันอย่างแออัดและไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น การดูแลหมูในอุตสาหกรรมฟาร์มเลี้ยงหมูขนาดใหญ่
ลูกหมูที่เกิดมาไม่ถึงอาทิตย์ต้องถูกนำไปตัดตอนอวัยวะอย่างเจ็บปวดเพื่อป้องกันการกัดกันเองในอนาคตที่เกิดจากความเครียดสั่งสมอันเนื่องมาจากขนาดพื้นที่ๆแออัดคับแคบ กรงที่มีขนาดเล็กพอดีตัว ส่งผลให้หมูไม่สามารขยับตัวได้อย่างอิสระ หรือแสดงออกทางพฤติกรรมธรรมชาติได้อย่างเหมาะสม สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำมาสู่การเกิดโรคระบาดและการนำมาสู่การใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มเลี้ยงหมูด้วย
มีงานวิจัยหลายชิ้นทั้งในและต่างประเทศยืนยันชัดเจนถึงความเชื่อมโยงระหว่าง การใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมหาศาลในฟาร์ม กับการเกิดของแบคทีเรียดื้อยา (Superbugs) ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคที่กินเนื้อสัตว์ คนงานในฟาร์ม ตลอดจนการเกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ซึ่งยากต่อการควบคุม
ถึงเวลาแล้วที่ผู้บริโภคจะต้องปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตแบบใหม่ ที่เราจะเลือกและใส่ใจถึงที่มาที่ไปของอาหารที่เราบริโภคเพิ่มมากขึ้น เพื่อสุขภาพที่ดี และ สวัสดิภาพสัตว์ที่ยั่งยืน
เมื่อผู้บริโภคต้องปรับตัวใช้ชีวิตในแบบ New Normal
การลด เลิก หรือเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่มาจากการเลี้ยงที่มีสวัสดิภาพที่ดีนั้น สามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงของการระบาดและยังเป็นการสนับสนุนให้ฟาร์มอุตสาหกรรมปรับเปลี่ยนวิธีการดูแลสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพและสวัสดิภาพมากขึ้นอีกด้วย เพื่อระบบการผลิตอาหารรูปแบบใหม่ที่ปลอดภัยและยั่งยืนต่อสัตว์ คน และโลกใบนี้
โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ทำงานเพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มในประเทศไทย กล่าวว่า “จากโรคระบาดที่เกิดขึ้น เราพบว่าผู้บริโภคในประเทศไทยและทั่วโลกตระหนักเรื่องความปลอดภัยทางอาหารเพิ่มมากขึ้น
สวัสดิภาพสัตว์เป็นหัวข้อที่ผู้บริโภคใช้ประกอบในการเลือกซื้อและบริโภคเนื้อสัตว์ ดังนั้นนี่จึงนับเป็นช่วงเวลาสำคัญที่อุตสาหกรรมอาหารจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการในการผลิตอาหารให้เป็นแบบที่มีมนุษยธรรม ปลอดภัยและยั่งยืน”
การได้ทราบถึงต้นทางของอาหาร และคัดเลือกวัตถุดิบจากฟาร์มที่ใส่ใจในสวัสดิภาพสัตว์ การจัดการฟาร์มที่ดี และใช้ยาปฏิชีวนะอย่างมีความรับผิดชอบ เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้เป็นอย่างดีว่า เมื่อต้นทางของอาหารได้ถูกจัดการอย่างดีแล้ว ปลายทางของเส้นทางอาหารเหล่านี้ก็จะส่งผลให้มีสุขภาพที่ดีต่อผู้บริโภคด้วย
เราจึงอยากให้สิ่งนี้กลายเป็นวิถีใหม่ หรือ new normal ของผู้บริโภคที่ใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องเจอกับภัยโรคระบาดอีกในอนาคต
ร่วมลงชื่อกับเราวันนี้ เพื่อเรียกร้องไปยังหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์ม เพื่อสัตว์ทุกตัว เพื่อเราทุกคน และเพื่อโลกใบนี้ที่ดีขึ้น
การลด เลิก หรือเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่มาจากการเลี้ยงที่มีสวัสดิภาพที่ดีนั้น สามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงของการระบาดและยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มให้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้