ไม่ใช้ฮอร์โมน ใช่ว่าเนื้อไก่จะปลอดภัย
ข่าว
คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าเนื้อไก่ที่คุณบริโภคนั้นปลอดภัยจริง?
ถึงแม้ประเทศไทยจะมีมาตรการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มไก่เนื้อ ซึ่งถูกกำหนดโดยกรมปศุสัตว์ และต้องปฏิบัติตามกฎหมายห้ามการใช้ยาปฏิชีวนะเร่งการเจริญเติบโตในไก่เนื้อเพื่อการบริโภคของประเทศคู่ค้ารายใหญ่อย่างสหภาพยุโรป แต่ข้อมูลตัวเลขที่แท้จริงเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะในเนื้อไก่ที่วางขายในประเทศไทยยังมีให้เห็นน้อยมาก
ในปี พ.ศ. 2561 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตรวจพบการตกค้างของยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ในร้อยละ 40 ของอกไก่และตับไก่ที่วางขายในห้างสรรพสินค้า ตลาดสด และผ่านร้านค้าออนไลน์ นั้นหมายความว่า เกือบครึ่งนึงของผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ที่เรากินกันในปัจจุบันมาจากไก่ที่ได้รับยาปฏิชีวนะระหว่างการเลี้ยงดู
อาการเชื้อดื้อยาของคนไทยทุกวันนี้
ในแต่ละปี มีคนไทย 88,000 รายติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา และเสียชีวิตลงปีละ 38,000 ราย คิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมสูงถึง 4.2 หมื่นล้านบาท การลดและควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์อย่างเกินขนาดจึงเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ภาครัฐต้องดำเนินการเพื่อรักษาประสิทธิภาพของยาไว้ให้กับการรักษาสุขภาวะมนุษย์ และเพื่อรักษาโรคร้ายที่จำเป็นจริง ๆ
จากการสำรวจขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกพบว่า 3 ใน 4 ของยาปฏิชีวนะทั้งหมดที่ใช้ในโลกถูกใช้ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โดยประมาณ 40-80% ของการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ถูกจำแนกว่า เป็นการใช้โดยไม่มีความจำเป็น หรือเป็นการใช้อย่างไร้ความรับผิดชอบ สอดคล้องกับรายงานขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า การรณรงค์สวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากสุขภาพปศุสัตว์นั้น เชื่อมโยงกับสุขภาพของผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“สุขอนามัยของสัตว์ในฟาร์มสำคัญมาก เพราะระบบเลี้ยงสัตว์แบบแออัดไม่ถูกสุขลักษณะจะทำให้ฟาร์มกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค ทำให้ไก่เครียดและอ่อนแอ พอไก่ไม่สบาย ก็มีการใช้ยาปฏิชีวนะเข้ามาช่วย หรืออาจมีการให้ยาหลายชนิด ในลักษณะป้องกันโดยการผสมยาในน้ำ หรืออาหารให้ไก่กินทั้งฝูง ซึ่งยาปฏิชีวนะควรใช้เพื่อการรักษาโรคเท่านั้น” ผศ.ภญ.ดร.นิยดากล่าว
กรีนพีซ ยังออกมาสนับสนุนให้ภาครัฐติดฉลากที่แสดงข้อมูลการเลี้ยงสัตว์และการใช้ยาปฏิชีวนะตลอดช่วงอายุสัตว์บนผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจน รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณะ และการเปิดโอกาสให้หน่วยงานอิสระเข้าไปตรวจสอบสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์ม เก็บตัวอย่างเนื้อสัตว์ในฟาร์ม หรือผลิตภัณฑ์ที่วางขายไปตรวจสอบได้อยู่เป็นระยะ เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังมากยิ่งขึ้น
ผู้บริโภคช่วยหยุดวงจรการเกิดเชื้อดื้อยาได้
ในขณะที่เหมือนดาว คงวรรณรัตน์ ผู้จัดการโครงการ Change for Chickens แห่งองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกมองว่า ผู้บริโภคสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มเลี้ยงสัตว์เชิงพาณิชย์ได้
เพียงแค่หันมารับประทานเนื้อสัตว์แต่พอควร และหันมาสนใจแหล่งที่มาของอาหาร มีงานรณรงค์ ทั้งในต่างประเทศและในไทยที่เรียกร้องให้ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ร้านอาหารทั่วไป ห้างสรรพสินค้า และฟาร์มเลี้ยงสัตว์ออกมาเปิดเผยข้อมูลการจัดการเนื้อสัตว์ การใช้ยาปฏิชีวนะภายในฟาร์ม
และสวัสดิภาพสัตว์ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำกันมากขึ้น เพราะฟาร์มที่มีการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี ย่อมส่งผลให้ไก่ไม่เครียดและมีสุขภาพแข็งแรง ช่วยลดปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคในไก่ได้
“ความต้องการผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ของคนทั่วโลกและการบริโภคเนื้อสัตว์เกินความจำเป็น คือ ปัจจัยเร่งให้เกิดการผลิตเนื้อสัตว์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศของโลกใบนี้” เหมือนดาวกล่าว
ทุกวันนี้ ยังมีไก่อีกหลายตัวที่ต้องใช้ชีวิตอย่างทุกข์ทรมานก่อนถูกนำมาผลิตเป็นอาหารให้เรากิน มาร่วมกันสร้างระบบผลิตเนื้อไก่ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้ทางด้านล่าง
“ความต้องการผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ของคนทั่วโลกและการบริโภคเนื้อสัตว์เกินความจำเป็น คือ ปัจจัยเร่งให้เกิดการผลิตเนื้อสัตว์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศของโลกใบนี้