elephant high res

แถลงการณ์ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย

ข่าว

เรื่อง ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการพาดพิงองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ผ่านเพจ "เดอะพิซซ่าเมตตาดี" และสื่อออนไลน์ในการรณรงค์เรื่องสวัสดิภาพช้างและประเด็นการอาบน้ำช้าง

ด้วยปรากฏการณ์เผยแพร่ข้อความผ่านเพจ "เดอะพิซซ่าเมตตาดี" บนสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 และมีการโพสต์ซ้ำตั้งแต่หลังมหาวิกฤตอุทกภัยที่เชียงใหม่อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีลักษณะเป็นการโจมตีและบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการกระทำที่อาจล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่องค์กรฯ อันอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของบุคลากร

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทยมีช้างเลี้ยงกว่า 3,000 ตัวภายใต้การดูแลของมนุษย์ โดยส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำงานขององค์กรฯ ที่มุ่งส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ อาจส่งผลกระทบต่อความพยายามในการยกระดับมาตรฐานการดูแลช้างในประเทศไทย องค์กรฯ จึงมีความจำเป็น ที่จะต้องชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อป้องกันความเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้นต่อสาธารณชนต่อประเด็นการพาดพิงดังต่อไปนี้

 

1. กรณีการกล่าวอ้างเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติช้างไทย

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลว่า "องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย มีการเคลื่อนไหวเพื่อจะเสนอกฎหมายช้างไทย ตามแนวทางของแสงเดือน ช่วงเลือกตั้งใหญ่66 ถึงขนาดจัดเสวนาเพื่อจี้ถามนโยบายของแต่ละพรรคด้วยซ้ำ พร้อมยังมีการรณรงค์เคลื่อนไหว ล่ารายชื่อ ผลักร่างพรบ.เข้าสภา ร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และนักการเมืองพรรคก้าวไกล(อดีตพรรคประชาชน) แนวทางร่างกฎหมายที่ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทยกับเครือข่ายผลักดัน มีจุดยืนอยู่ตรงข้ามกับการเลี้ยงช้างวิถีไทย อย่างชัดเจน" นั้น

องค์กรฯ ขอเรียนชี้แจงว่าร่างพระราชบัญญัติช้างไทย (ฉบับภาคประชาสังคม) มิได้เป็นร่างกฎหมายตามแนวทางของผู้หนึ่งผู้ใด หากแต่เกิดจากการรวบรวมความคิดเห็นที่มุ่งเน้นต่อการดูแลสวัสดิภาพช้างในประเทศไทย โดยทางองค์กรฯ ได้จัดเวทีหารือหลายครั้งเพื่อรวบรวมความคิดเห็นจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตัวแทนกรมปศุสัตว์ ตัวแทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตัวแทนรัฐสภา องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสัตว์และสิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านช้างซึ่งมีความรู้และประสบการณ์เป็นที่ยอมรับในวงการช้างไทย โดยองค์กรฯ ทำหน้าที่ทั้งในฐานะผู้ให้ความเห็นและผู้ประสานงาน รวบรวม และเขียนร่างเนื้อหากฎหมายดังกล่าว

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากประชาชนไทยผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งกว่า 15,938 คน ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ทำให้ร่างดังกล่าวได้เข้าสู่กระบวนการของรัฐสภาอย่างถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ร่างดังกล่าวได้ตกไปโดยอัตโนมัติหลังการยุบสภาเมื่อต้นปี 2566 นอกจากนี้ หน่วยงานของรัฐอย่างกรมปศุสัตว์เองก็มีร่างกฎหมายเพื่อยกระดับสวัสดิภาพช้างไทยอีกฉบับเช่นกัน

ที่ผ่านมาองค์กรฯ ได้สนับสนุนการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการปกป้องสัตว์จากหลายภาคส่วน โดยมุ่งเน้นการรับฟังความคิดเห็นและสร้างความร่วมมือที่สร้างสรรค์ เช่น ในช่วงการเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 องค์กรฯ ได้จัดกิจกรรมเชิญพรรคการเมืองแสดงวิสัยทัศน์ด้านการปกป้องช้างและสัตว์ป่า โดยมีตัวแทนจาก 6 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนากล้า ทั้งนี้ กิจกรรมการแสดงวิสัยทัศน์ลักษณะดังกล่าวถือเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยปกติในช่วงการเลือกตั้ง ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนพรรคการเมืองใดเป็นพิเศษ โดยตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ มีสิทธิที่จะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวก็ได้

 

2. จุดยืนและการดำเนินงานขององค์กรต่อเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ปางช้าง ENP

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลว่าองค์กรฯ นิ่งเฉยต่อสวัสดิภาพของช้างและสัตว์อื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ Elephant Nature Park จังหวัดเชียงใหม่ นั้น

 องค์กรฯ ขอชี้แจงว่า เราให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์มาโดยตลอด และมีการทำงานร่วมกับปางช้างพันธมิตรที่ให้ความสำคัญเรื่องสวัสดิภาพของช้าง

ในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา องค์กรฯ ได้มีการลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องแก่ชุมชนช้างที่ได้รับผลกระทบ โดยองค์กรฯ ได้ประสานงานกับองค์การบริหารส่วนตำบลกึ๊ดช้างและแม่วิน เพื่อส่งต่อสิ่งบรรเทาทุกข์ ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นเร่งด่วน เช่น อาหารเม็ดสำหรับช้าง ข้าวสาร อาหารแห้ง ของใช้ และอุปกรณ์ทำความสะอาด ฯลฯ ความช่วยเหลือดังกล่าวครอบคลุมช้างกว่า 200 ตัว ในปางช้าง 17 แห่ง  และองค์กรฯ ได้ส่งมอบยา เวชภัณฑ์ และอาหารเม็ดสำหรับช้างให้กับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนการทำงานด้านการฟื้นฟูและดูแลสวัสดิภาพช้างที่ได้รับผลกระทบต่อไป 

บทเรียนจากเหตุการณ์ครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงปางช้างต่างๆ โดยเฉพาะปางช้าง Elephant Nature Park  จำเป็นต้องมีแผนรับมือภัยพิบัติที่ครอบคลุมทั้งการป้องกัน การรับมือ และการฟื้นฟู รวมทั้งองค์กรฯ เองก็จำเป็นต้องศึกษาบทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมหรือสนับสนุนแผนรับมือภัยพิบัติอย่างครอบคลุมในอนาคต ดังนั้น องค์กรฯ จึงขอชี้แจงว่าไม่ได้นิ่งเฉยต่อสวัสดิภาพของช้างและสัตว์อื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่จังหวัดเชียงใหม่แต่อย่างใด

 

3. จุดยืนขององค์กรที่ถูกกล่าวหาว่ามีแนวทางตรงข้ามกับ 'การเลี้ยงช้างวิถีไทย'

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลว่า "แนวทางร่างกฎหมายที่ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กับเครือข่ายผลักดัน มีจุดยืนอยู่ตรงข้ามกับการเลี้ยงช้างวิถีไทย อย่างชัดเจน" นั้น

ภายใต้คำชี้แจงเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติช้างไทยในคำชี้แจงข้อ 1 องค์กรฯ ขอชี้แจงว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดทอนวัฒนธรรมไทย แต่เน้นยกระดับสวัสดิภาพช้างในประเทศไทยเป็นสำคัญ โดยยึดมั่นในหลักวิทยาศาสตร์สากลที่ระบุว่าช้างทุกตัวเป็นสัตว์ป่า โดยช้างเลี้ยงในประเทศไทย คือสัตว์ป่าที่ถูกผสมพันธุ์ขึ้นเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์เท่านั้น ทั้งนี้ องค์กรฯ ทราบดีกว่าช้างที่ถูกผสมพันธุ์และเลี้ยงโดยมนุษย์มาทั้งชีวิตนั้นไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตในป่าได้อย่างสมบูรณ์

แนวทางการดำเนินงานขององค์กรฯ มุ่งให้ความสำคัญเรื่องสวัสดิภาพช้างเป็นที่ตั้ง โดยให้ช้างมีอิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ และไม่ถูกบังคับให้ทำกิจกรรมเพื่อความบันเทิงของมนุษย์ ในขณะเดียวกันองค์กรฯ ก็เข้าใจความสำคัญของการดูแลและบริหารจัดการการดูแลช้างอย่างเหมาะสม รวมถึงความจำเป็นในการใช้เครื่องมือ เช่น ตะขอหรือโซ่ ในสถานการณ์ที่จำเป็น เพื่อความปลอดภัยของช้าง ควาญช้าง นักท่องเที่ยว และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

จุดยืนขององค์กรฯ ข้างต้น อาจจะขัดแย้งกับแนวทางของบางธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ยังคงพึ่งพาการบังคับช้างให้แสดงพฤติกรรมที่ผิดธรรมชาติและทำกิจกรรมเพื่อความบันเทิงของมนุษย์

องค์กรฯ ทราบดีว่าช้างเคยมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในอดีตจนกลายเป็นสัตว์ประจำชาติ แต่การใช้งานช้างอย่างหนักได้หมดความจำเป็นหลังจากมีเทคโนโลยีและเครื่องจักรต่างๆ เข้ามาทดแทน ส่วนการใช้ช้างเพื่อความบันเทิงนั้นกลับเพิ่งเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลไทยประกาศให้การใช้ช้างลากซุงผิดกฎหมายเมื่อปี 2532 และไม่ได้มีรากฐานทางประวัติศาสตร์อันยาวนานดังที่มักกล่าวอ้างกัน

องค์กรฯ เห็นคุณค่าและให้ความสำคัญของการอนุรักษ์ช้างไทย และเชื่อว่าแนวทางการอนุรักษ์ที่แท้จริงควรมุ่งไปที่การฟื้นฟูและปกป้องผืนป่าซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของพวกเขา และขณะเดียวกัน ช้างที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอีกมากกว่า 3,000 ชีวิตที่ถูกเลี้ยงและใช้งานโดยมนุษย์ในปัจจุบันก็ควรได้รับปกป้องการดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีอิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ ลดการใช้งานในลักษณะที่ขัดกับพฤติกรรมตามธรรมชาติของช้าง พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายในการควบคุมและจำกัดจำนวนช้างในระยะยาว เพื่อให้มีความเหมาะสมกับทรัพยากรที่มีอยู่และเพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ช้างอย่างยั่งยืน

 

4. กรณีการกล่าวหาเกี่ยวกับการทำการตลาดให้ปางช้าง

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลว่า "เมื่อเข้าไปสำรวจเพจของทางองค์กร และบัญชี X ตลอดหลายปีที่ผ่านมา องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กลับทำตัวเหมือนทีม Marketing ให้กับปางช้างที่ชาวต่างชาติมาเปิดลงทุนและเป็นเครือข่ายเดียวกับ ENP เช่น Following Giants, Somboon Legacy Foundation, BEES Elephant Sanctuary และอื่นๆ" นั้น

องค์กรฯ ขอชี้แจงว่าข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง เราไม่ใช่ทีมการตลาดของบุคคลหรือกลุ่มใด และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในเชิงพาณิชย์กับใครทั้งสิ้น องค์กรฯ มีเพียงเป้าหมายเดียวคือการรณรงค์เพื่อยกระดับสวัสดิภาพช้างในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเท่านั้น และทางองค์กรฯ มีการทำงานร่วมกับปางช้างพันธมิตร รวมทั้งให้การสนับสนุนปางช้างที่มีความสนใจในการปรับเปลี่ยนแนวทางในการดำเนินงานมาเป็นปางช้างที่ให้ความสำคัญเรื่องสวัสดิภาพและเป็นมิตรต่อช้างเป็นสำคัญ และรวมถึงการตอบสนองต่อกระแสการท่องเที่ยวโลกที่ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบและจริยธรรม ไม่เพียงต่อสัตว์เท่านั้นแต่ยังรวมถึงสิ่งแวดล้อมและชุมชน ซึ่งแนวทางการท่องเที่ยวนี้ได้รับความสนใจและเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลดีต่อสวัสดิภาพช้างและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในบ้านเรา

ทั้งนี้ องค์กรฯ ไม่มีข้อจำกัดหรืออคติในด้านเชื้อชาติหรือกลุ่มบุคคลที่เป็นเจ้าของปางช้าง ที่ผ่านมาปางช้างที่องค์กรฯ ให้การสนับสนุนและร่วมงานด้วย อาทิเช่น Following Giants, Somboon Legacy Foundation, BEES Elephant Sanctuary และที่อื่นๆ ซึ่งมีทั้งปางช้างที่เจ้าของและผู้ดำเนินงานเป็นคนไทย ชาวต่างชาติ รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ โดยปางช้างเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในเครือข่ายของ Elephant Nature Park แต่อย่างใด

 

5. กรณีการกล่าวหาเรื่องกระบวนการให้รางวัล

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลว่า "มีกระบวนการให้รางวัล เพื่อจะได้เป็นจุดโปรโมทปางเหล่านั้น ไปยังเว็บไซต์รีวิวสถานที่ท่องเที่ยว" นั้น

องค์กรฯ ขอชี้แจงว่า ข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง เนื่องจากองค์กรฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีอิทธิพลใดๆ ต่อกระบวนการให้รางวัลของเว็บไซต์รีวิวสถานที่ท่องเที่ยว กระบวนการคัดเลือกและการให้รางวัลจากเว็บไซต์ที่ได้รับความเชื่อถือในหมู่นักท่องเที่ยวทั่วโลก เป็นการดำเนินงานของเว็บไซต์เหล่านั้นเอง มีกระบวนการและกฎเกณฑ์ที่เว็บไซต์เหล่านั้นยึดถือ อันเป็นเกณฑ์สากลที่พึงเคารพ ซึ่งองค์กรฯ เข้าใจว่าหลักเกณฑ์ส่วนหนึ่งมาจากการสำรวจความพึงพอใจจากนักท่องเที่ยวของทางเว็บไซต์เหล่านั้นเอง องค์กรฯ ยึดมั่นในนโยบายความโปร่งใสและไม่มีกระบวนการหรือแนวทางในการแทรกแซงการทำงานของเว็บไซต์นั้นแต่อย่างใด

ที่ผ่านมา หากมีปางช้างที่มีแนวทางสอดคล้องกับที่องค์กรฯ สนับสนุนได้รับรางวัลจากองค์กรอิสระหรือเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ องค์กรฯ จะแจ้งข่าวสารในลักษณะข้อเท็จจริงเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับภาคส่วนอื่นๆ โดยไม่มีเจตนาแฝงเร้นใดๆ

 

6. กรณีการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของทีมงาน

ตามที่การเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล ได้แก่ ชื่อ-สกุลและ Social media account ของทีมงาน โดยไม่ได้รับความยินยอมนั้น

ภายใต้หลักการแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต และพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 องค์กรฯ ขอแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่ ทีมงาน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรฯว่า ผู้ที่ถูกเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลไม่ได้แสดงความยินยอมให้มีการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งไม่ได้รับการติดต่อขอความยินยอมก่อนนำข้อมูลไปเผยแพร่ กรณีดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งอาจมีผลทำให้ผู้ที่เผยแพร่มีความรับผิดทางกฎหมายได้ องค์กรฯจึงขอเรียกร้องให้เพจ "เดอะพิซซ่าเมตตาดี" และผู้เกี่ยวข้อง แสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นที่จะมีขึ้นหลังจากนี้ควรอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายและเคารพความเป็นส่วนตัวไม่ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลโดยพลการ

องค์กรฯ ขอแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าไม่ประสงค์ให้บุคคลที่สามเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของทีมงานผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นชื่อ นามสกุล ตำแหน่ง บัญชีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียต่างๆ หรือข้อมูลส่วนบุคคลอื่นใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ทีมงานไม่ได้ให้ความยินยอม และไม่มีโอกาสตรวจสอบข้อความก่อนถูกนำไปเผยแพร่ ทั้งนี้ การวิพากษ์วิจารณ์หรือการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับการทำงานขององค์กรฯเป็นเสรีภาพที่สามารถทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่องค์กรฯ

เรามีความกังวลว่าการกระทำดังกล่าวอาจนำไปสู่การสร้างความเกลียดชัง การมุ่งร้าย และการล่าแม่มด อันเป็นพฤติกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ และอาจส่งผลกระทบต่อความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของทีมงาน องค์กรฯ ขอเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องยุติการกระทำในลักษณะดังกล่าวโดยทันที เราขอยืนยันว่าองค์กรฯ พร้อมเปิดรับการพูดคุยและหารือเพื่อแก้ไขปัญหาหรือข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นในลักษณะที่สร้างสรรค์ โดยยึดหลักการเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน

 

7. กรณีเกี่ยวกับการอาบน้ำช้าง

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 มีการเผยแพร่ข่าวผ่านเว็บไซต์ Manager Online เกี่ยวกับบทความขององค์กรฯ ที่เผยแพร่เมื่อ 22 มีนาคม 2564 เรื่อง ‘อาบน้ำช้าง’ เป็นการทำร้ายช้างยังไง?  โดยนายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทยได้พาดพิงถึงองค์กรฯ โดยแสดงความเคลือบแคลงสงสัยในบทความขององค์กรฯ ทั้งต่อบทความที่เขียน และต่อตัวองค์กรฯ และหากจริงใจ อยากให้อธิบายเพิ่มหรือเสวนาร่วมกันในเรื่องสวัสดิภาพสัตว์และการทำกิจการและแคมเปญขององค์กรฯ นั้น

ส่วนในประเด็นเกี่ยวกับบทความดังกล่าวข้างต้น ขอชี้แจงว่าองค์กรฯ ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของช้างโดยเฉพาะการส่งเสริมให้ช้างได้แสดงออกถึงพฤติกรรมตามธรรมชาติ องค์กรฯ ตระหนักดีว่าการอาบน้ำช้างภายใต้การดูแลของควาญช้างที่มีความเชี่ยวชาญและรู้จักช้างเป็นอย่างดีนั้น ถือเป็นโอกาสที่ดีในหลายแง่มุม เช่น การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างควาญช้างกับช้าง การตรวจสุขภาพทั่วไป และการดูแลผิวหนังของช้าง ซึ่งส่งผลดีต่อสวัสดิภาพของช้างโดยรวม

สำหรับปางช้างพันธมิตรที่องค์กรฯ มีการทำงานด้วย การอาบน้ำของช้างถือเป็นกิจวัตรประจำวันที่จะเกิดขึ้นโดยควาญช้างประจำตัว และนักท่องเที่ยวจะได้รับอนุญาตให้การสังเกตการณ์จากระยะปลอดภัยเท่านั้น ไม่มีการให้สัมผัสหรือเข้าร่วมอาบน้ำช้างโดยตรง เพื่อความปลอดภัยของทุกฝ่าย

ด้วยเหตุผลที่กล่าวไปในข้างต้น องค์กรฯ จึงมีความกังวลต่อกิจกรรมอาบน้ำช้าง ที่ช้างถูกนำมาให้นักท่องเที่ยวอาบน้ำหลายรอบต่อวัน โดยนักท่องเที่ยวเหล่านั้นอาจไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจและไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆ กับช้างตัวนั้นซึ่งอาจจะนำมาถึงความไม่ปลอดภัยต่อช้าง ต่อควาญและต่อนักท่องเที่ยวเอง ดังที่เคยมีการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับช้างทำร้ายนักท่องเที่ยวตอนมีกิจกรรมอาบน้ำช้าง ทั้งนี้ องค์กรฯ เห็นว่าการอาบน้ำช้าง ควรมีวัตถุประสงค์เพื่อสุขภาพของช้างเป็นสำคัญ มากกว่าจะเป็นกิจกรรมที่สร้างความบันเทิงให้นักท่องเที่ยว ดังนั้นองค์กรฯ เห็นว่าวัตถุประสงค์ของการอาบน้ำช้างที่แท้จริงคือการอาบน้ำช้างเพื่อสุขภาพของช้างและเป็นโอกาสของช้างที่ได้แสดงพฤติกรรมการเล่นน้ำตามธรรมชาติ รวมถึงการส่งเสริมและสร้างความสัมพันธ์ให้ดียิ่งขึ้นระหว่างควาญช้างและช้าง ซึ่งทางองค์กรฯ เห็นด้วยตามที่นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย รวมถึงนายสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้แสดงความเห็นไว้ในทำนองเดียวกันตามข่าวของเว็บไซต์ Manager Online ข้างต้น

 

บทสรุป

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ขอยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อยกระดับสวัสดิภาพของช้างในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยยึดมั่นในหลักการทำงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และคำนึงถึงประโยชน์ของสัตว์เป็นสำคัญ

พันธกิจขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกคือการรณรงค์เพื่อยกสวัสดิภาพสัตว์ทั้งในกลุ่มสัตว์ป่าและสัตว์ฟาร์ม ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน องค์กรฯ ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินและปกป้องสัตว์ในช่วงภัยพิบัติต่างๆ เช่น การจัดหาอาหารและที่พักพิงฉุกเฉิน ตลอดจนการดูแลรักษาทางสัตวแพทย์สำหรับสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ ที่ผ่านมา ไปจนถึงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ปางช้างในประเทศไทยทั้งปางช้างพันธมิตรและปางช้างอื่นที่ติดต่อขอรับทุนสนับสนุนและความช่วยเหลือตลอดช่วงระยะเวลา 3 ปี ในช่วงวิกฤตโควิด -19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทำให้ช้างและเจ้าของปางต้องเผชิญกับความยากลำบากทั้งในการดูแลช้างและการรักษาความอยู่รอดของธุรกิจ นอกจากนี้ องค์กรฯ มีการทำงานสนับสนุนการควบคุมโรคโดยการส่งมอบวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าให้กับกรมปศุสัตว์ในทุกๆ ปี เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยของคน สัตว์ และชุมชน การทำงานขององค์กรฯ จึงมุ่งเน้นที่การยกระดับสวัสดิภาพของสัตว์ และมุ่งมั่นช่วยเหลือสัตว์ในทุกสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

องค์กรฯ พร้อมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างและข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์ภายใต้หลักการแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต และยินดีที่จะร่วมหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันพัฒนาแนวทางการดูแลสวัสดิภาพช้างไทยและสวัสดิภาพสัตว์อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม องค์กรฯ จะไม่นิ่งเฉยต่อการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล การเสนอข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่มีลักษณะบิดเบือน รวมทั้งการเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวไม่อยู่ในขอบเขตของหลักการแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต

สำหรับผู้ที่สนใจติดตามการดำเนินงานขององค์กรฯ สามารถรับข้อมูลที่ถูกต้องได้ผ่านช่องทางการสื่อสารอย่างเป็นทางการขององค์กรฯ ดังนี้:

 

เว็บไซต์: www.worldanimalprotection.or.th 
อีเมล:
 info@worldanimalprotection.or.th 
Facebook: World Animal Protection Thailand
Twitter: @MoveTheWorldTH

จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย

10 ธันวาคม 2567

More about