กินอยู่แบบ “ยั่งยืน” ในภาวะวิกฤติ เทรนด์ที่ต้องรู้จักและเข้าใจ
ข่าว
ประเทศไทยถูกขนานนามให้เป็น “ครัวของโลก” อันเป็นแหล่งอู่ข้าว-อู่น้ำของคนไทยมาเนิ่นนาน มีการทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์ที่แวดล้อมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ และเป็นแหล่งวัตถุดิบชั้นดีที่สามารถนำไปปรุงอาหารได้อย่างล้ำเลิศ
นี่คือสิ่งที่เป็นมาหลายทศวรรษ จวบจนกระทั่งมีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิตทางอาหารเพื่อให้เพียงพอต่อจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
สิ่งเหล่านี้ถูกเรียกให้เป็นระบบการผลิตอาหารแบบยั่งยืน (Food Sustainability) ที่ประกอบไปด้วย ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และ ความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) แต่ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีแหล่งพื้นที่ทำมาหากินมากมาย รายงานจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)
ขณะที่ความปลอดภัยด้านอาหาร แม้จะมีการรับรองจากหลากหลายประเทศทั่วโลกในเรื่องมาตรฐานและคุณภาพอาหารในการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ แต่กระนั้นก็ยังมีข่าวเป็นระยะๆ ในเรื่องการพบเชื้อแบคทีเรียดื้อยา หรือสารตกค้างในอาหาร ยิ่งในสภาวะวิกฤตปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ก็ยิ่งส่งผลให้สังคมต้องตื่นตัวและตระหนักในเรื่องความปลอดภัยทางด้านอาหารมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการบริโภคเนื้อสัตว์
ปัจจุบันคนไทยมีการบริโภคเนื้อสัตว์มากขึ้นๆ ทุกปี เฉลี่ยอยู่ที่ 30 กิโลกรัม ต่อคนต่อปี อีกทั้งความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องผลักดันให้ฟาร์มอุตสาหกรรมเร่งผลิตเนื้อสัตว์ในปริมาณที่มากขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้น แต่ต้นทุนการผลิตยังคงเท่าเดิม สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้สัตว์ในฟาร์มอุตสาหกรรมที่มีจำนวนมากมีความเป็นอยู่ที่ไม่ดี ต้องอยู่อย่างแออัด ทำให้เกิดความเครียดและเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น จึงเป็นที่มาของการใช้ยาปฏิชีวนะที่มากเกินความจำเป็น
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้จัดทำรายงาน Fueling the pandemic crisis – factory farming and the rise of superbugs พบว่าในฟาร์มอุตสาหกรรมมีการใช้ยาฏิชีวนะมากถึง 3 ใน 4 ส่วนของยาปฏิชีวนะที่ผลิตขึ้นมาทั่วโลก ซึ่งเป็นเหตุที่นำไปสู่การเกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าซุปเปอร์บั๊กส์ (Superbugs)
จับตาความร้ายแรงของเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ
ซุปเปอร์บั๊กส์ เป็นผลพวงที่เกิดมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นในฟาร์มอุตสาหกรรม เพื่อให้พวกมันสามารถทนอยู่ในสภาพแวดล้อมและการถูกปฏิบัติที่เลวร้ายในนั้นได้ โดย รายงาน Suffering Behind Closed Doors ขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกที่เข้าไปสำรวจฟาร์มในประเทศไทย จากกลุ่มตัวอย่าง 8 ฟาร์มที่ทำการสำรวจ พบว่าทั้ง 8 ฟาร์มมีการตัดตอนอวัยวะลูกหมู เช่นการตัดหาง รวมถึงการจัดการสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี
นอกจากนี้ ในรายงานยังพบ การใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มเดียวกับโคลิสติน (Colistin) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มที่ “ส่งผลสูงสุดต่อสุขภาพมนุษย์” ในฟาร์มหมู 2 แห่งในประเทศไทย ในทางการแพทย์ถือเป็นยาอันตรายเนื่องจากเป็นตัวแพร่กระจายยีนดื้อยาสายพันธุ์ใหม่ “เอ็มซีอาร์-วัน” โดยจะทำการฉีดยาตั้งแต่ยังเป็นลูกหมูจนเติบโต เพื่อเป็นการป้องกันหมูป่วย ซึ่งส่วนใหญ่จะฉีดเกือบทุกเดือน สิ่งที่น่ากังวลคือ หากมีการตกค้างในเนื้อหมู ก็จะเป็นการนำเชื้อดื้อยานี้ส่งต่อให้กับผู้ซื้อ ซึ่งเมื่อเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายคนอาจเกิดเป็นพิษ และมีอาการไตวายได้
การปฏิวัติสู่วัฒนธรรมการกินเชิงสุขภาพที่ดี
ในช่วงระยะปี 2019-2020 เกิดกระแสการตื่นตัวของผู้บริโภคในการใส่ใจอาหารมากขึ้น โดยส่วนใหญ่มีการเลือกสรรอาหารที่ปลอดภัยและมีสุขภาพต่อผู้บริโภค อีกทั้งยังเริ่มหาวัตถุดิบแหล่งอาหารที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือผลิตและปลูกแบบธรรมชาติ
โดยไม่มีการใช้สารเคมีหรือยาปฏิชีวนะในเนื้อสัตว์ รวมไปถึงการหันมาเรียกร้องให้ฟาร์มสัตว์สร้างสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี เพื่อก่อให้เกิดระบบอาหารที่ยั่งยืน (Food Sustainability) แต่กระนั้นก็ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ฟาร์ม (หมู) จากองค์กรพิทักษ์สัตว์โลก ประเทศไทย ได้ย้ำถึงภัยอันตรายจากเชื้อซุปเปอร์บั๊กส์ที่มาจากหมูในฟาร์มอุตสาหกรรมว่า “การสร้างสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี เป็นรากฐานของการจัดการระบบอาหารที่ยั่งยืน ตั้งแต่การไม่ตัดตอนอวัยวะและ การไม่ขังคอกแม่หมู รวมไปถึงไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคให้หมูแบบยกคอก นอกจากเป็นไปเพื่อการรักษารายตัว เพราะการใช้ยาปฏิชีวนะแบบไร้ความผิดชอบนี้นี้จะเป็นภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ตลอดจนตกค้างในสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง”
ปัจจุบันทั่วโลกมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อที่ไม่สามารถรักษาด้วยยาต้านปฏิชีวนะถึง 700,000 รายต่อปี และเป็นที่คาดว่าจำนวนผู้เสียชีวิตอาจพุ่งสูงถึง 10 ล้านรายต่อปี ภายในปี ค.ศ. 2050 ส่วนในประเทศไทย มีจำนวนผู้ป่วยที่มีเชื้อดื้อยาสูงขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อซุปเปอร์บั๊กส์ประมาณ 100,000 คนต่อปี และในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณ 38,000 คนต่อปี ส่งผลให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมมากกว่า 40,000 ล้านบาท
นายแพทย์วัชระ พุ่มประดิษฐ์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ และเป็นผู้อำนวยการจากองค์กร CATALYST and Good Food Academy แนะนำทางเลือกที่ปลอดภัยจากเชื้อดื้อยาว่า “จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด -19 ที่เกิดขึ้นไปทั่วโลก เราได้เห็นความสามารถในการจัดการการควบคุมโรคระบาดนี้ได้ค่อนข้างดี"
"จึงคิดว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะให้สังคมเราได้หันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในเรื่องระบบอาหารยั่งยืน ซึ่งจะต้องคำนึงถึงชีวิตมนุษย์ รวมไปชีวิตสัตว์ ที่เป็นเพื่อนร่วมโลกของเราด้วย เพื่อให้เกิดความอยู่รอดของสิ่งแวดล้อม ถ้าทุกคนร่วมมือกัน เราก็จะมีวัฒนธรรมเชิงสุขภาพที่ดี ที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค สัตว์ก็มีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมไปถึงการไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อมอีกด้วย”
การสร้างสุขภาวะผ่านอาหารที่ดีและการกินที่ปลอดภัย คือการผลิตอาหารที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตสัตว์ การดูแลฟาร์มให้ถูกสุขอนามัย และมีความรับผิดชอบต่อการผลิตอาหารเพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้บริโภค ก็จะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถเป็น “ครัวของโลก” อย่างแน่นอน และนำไปสู่การสร้างระบอาหารที่ยั่งยืนในอนาคตได้อีกเช่นกัน
“การสร้างสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี เป็นรากฐานของการจัดการระบบอาหารที่ยั่งยืน ตั้งแต่การไม่ตัดตอนอวัยวะและ การไม่ขังคอกแม่หมู รวมไปถึงไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคให้หมูแบบยกคอก นอกจากเป็นไปเพื่อการรักษารายตัว เพราะการใช้ยาปฏิชีวนะแบบไร้ความผิดชอบนี้นี้จะเป็นภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ตลอดจนตกค้างในสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง