พ.ร.บ.ช้างไทย ภาคประชาชน
ข่าว
ติดตามเส้นทางการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย ฉบับภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นกฎหมายที่มุ่งมั่นพัฒนาเพื่อคุ้มครองและยกระดับสวัสดิภาพของช้างเลี้ยงในประเทศไทย ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของแนวคิดจนถึงการรวบรวมเสียงสนับสนุนจากประชาชน ไปจนถึงภาพในอนาคต นี่คือการเดินทางของร่างกฎหมายที่สะท้อนถึงความพยายามของสังคมในการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการดูแลและปกป้องช้างในประเทศไทย
ที่มาของ ‘ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย’ ฉบับภาคประชาสังคม
ประเทศไทยมีกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลช้างอย่างน้อย 27 ฉบับ และเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีช้างอยู่ในสถานะของ ‘ช้างป่า’ และ ‘ช้างเลี้ยง’ โดยกฎหมายสำคัญอย่าง พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ให้ความคุ้มครองเฉพาะช้างป่า สำหรับช้างเลี้ยง ยังไม่มีกฏหมายเฉพาะ แต่ได้รับการกำหนดให้ขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ. สัตว์ยานพาหนะ เหมือน โค กระบือ และได้รับคุ้มครองร่วมกับสัตว์เลี้ยง อย่างสุนัขและแมว ภายใต้ พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์
แม้จะมีความพยายามจัดการด้านสวัสดิภาพ ด้วยการวางมาตรฐานการจัดกิจกรรมปางช้างเพื่อการท่องเที่ยว หรือการยกระดับวิชาชีพควาญช้าง ฯลฯ แต่ทั้งหมดมีฐานแนวคิดที่ต้องการใช้ประโยชน์จากช้างอย่างไม่รู้จบ เป็นผลให้เมื่อปี พ.ศ. 2565 องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญและองค์กรภาคี อาทิ ตัวแทนกรมปศุสัตว์และกรมอุทยาน อ.ประสพ ทิพย์ประเสริฐ คุณหาญณรงค์ เยาวเลิศ คุณแสงเดือน ชัยเชิศ ฯลฯ จัดทำ ‘ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย’ ฉบับภาคประชาสังคม และได้รับการสนับสนุน จากประชาชนชาวไทยผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งกว่า 15,938 คน ร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายไปยังรัฐสภา
Timeline
- สิงหาคม 2565: รัฐสภาได้เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ และเนื่องจาก ร่างพ.ร.บ.ช้างไทย มีหมวดที่ว่าด้วย กองทุนช้างไทย เพื่อการจัดสรรงบประมาณสําหรับการจัดสวัสดิภาพแก่ช้างและแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับช้าง ร่างพ.ร.บ.ฯ จึงถูกจัดว่าเป็นพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ซึ่งต้องนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณารับรอง ก่อนที่จะถูกบรรจุเพื่อพิจารณาในรัฐสภาต่อไป
- กุมภาพันธ์ 2566: เกือบครบหนึ่งปีหลังจากรอการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกและภาคีเครือข่ายได้รวมตัวยื่นหนังสือที่สำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อติดตามสอบถามถึงความคืบหน้าในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ช้างไทย ที่ยังไม่ได้รับคำตอบ
- มีนาคม 2566: ภายหลังจากการยื่นหนังสือทวงถามได้ไม่นาน นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันโอชา ได้ไประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย มีสถานะ ‘อยู่ระหว่างการพิจารณา’ โดยนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
- มีนาคม 2566: องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจัดกิจกรรมฉายโฮโลแกรม ณ สถานที่สำคัญ 4 แห่งที่เป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ ได้แก่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เสาชิงช้า ภูเขาทอง และสะพานพระราม 8 ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวในการปกป้องช้างของรัฐบาลที่ผ่านมาแล้ว และส่งข้อความฝากไปถึงรัฐบาลใหม่ให้ใส่ใจคุณภาพชีวิตช้างอย่างจริงจังและเร่งยุติความทารุณโหดร้ายต่อช้างไทย
- สิงหาคม 2566: นายเศรษฐา ทวีสิน รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 โดยประกาศสร้าง “4 ปีแห่งความเปลี่ยนแปลง”
- กันยายน 2566: จากการติดตามขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก รัฐสภาได้มีหนังสือเรียนไปยังสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อสอบถามเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาให้คำรับรองของนายกรัฐมนตรี ซึ่งจากการติดตามกับสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ก็ทำให้ทราบว่าเรื่องอยู่ที่ห้องของนายกเศรษฐา โดยไม่ยังทราบว่าจะได้รับการพิจารณาเมื่อไหร่
- ตุลาคม 2566: จากการเข้าร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็นด้านการแก้ไขกฎหมายต่อคณะกรรมาธิเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ทำให้ทราบว่าขณะนี้ทางสำนักกฎหมาย กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังจัดทำร่างพ.ร.บ. ช้าง เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ซึ่งขั้นตอนต่อไป หากร่างของกรมปศุสัตว์แล้วเสร็จ ก็จะสามารถนำ ร่างพ.ร.บ.ช้างไทย ที่เสนอโดยภาคประชาชน เข้าร่วมพิจารณาได้ไปพร้อมๆ กัน
- ตุลาคม 2566: องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกร่วมหารือกับกองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์ เกี่ยวกับความร่วมมือในการยกระดับสวัสดิภาพช้างเลี้ยงในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และแนวทางในแก้กฎหมาย โดยเฉพาะในประเด็นของร่างพ.ร.บ.ช้างไทย ที่องค์กรฯ และภาคีเครือข่าย รวมถึงประชาชนอีกจำนวนมากต้องการจะผลักดัน
- พฤษภาคม 2567: องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก พร้อมอาสาสมัครฮีโร่พิทักษ์สัตว์ ตัวแทนภาคประชาชน และนางสาวมารีญา พูลเลิศลาภ ทูตองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ร่วมเป็นตัวแทนยื่นกว่า 172,000 รายชื่อ จาก 26 ประเทศทั่วโลก ต่อสำนักนายกรัฐมนตรี กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ เร่งทวงถามความคืบหน้า ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย ฉบับภาคประชาสังคม
- มิถุนายน 2567: มีหนังสือแจ้งจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรถึงองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ว่านายกรัฐมนตรีไม่ให้คำรับรองร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย ภาคประชาชน ในประเด็นเดียวกันนี้ ทางองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้รับแจ้งว่าร่าง พ.ร.บ.ช้าง ที่มีความเป็นไปได้ที่จะได้ไปต่อคือร่างที่จัดทำโดยกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- กรกฎาคม 2567: องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกร่วมกับภาคีเครือข่ายองค์กรด้านสวัสดิภาพสัตว์ ยื่นหนังสือต่อรัฐบาล เรียกร้องให้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะด้านเพื่อแก้ปัญหาสวัสดิภาพสัตว์ในไทย และติดตามความเป็นอยู่ของช้างไทยในต่างแดน
- สิงหาคม 2567: น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ประกาศ พร้อมพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า
[อ่านต่อร่างพ.ร.บ.ช้างไทย ภาคประชาชน]
กว่าสองปีของความเคลื่อนไหวที่จะผลักดันร่าง พ.ร.บ.ช้างไทยได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนชาวไทยผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง เป็นความพยายามที่จะจัดการสวัสดิภาพช้างเลี้ยง รวมทั้งควบคุมจำนวนประชากรช้างที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากมุมมองของประชาชน มิติทางสังคม และเทรนด์โลกที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับการแสวงหาประโยชน์จากสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์ส้ตว์แห่งโลกขอขอบคุณทุกเสียงเสียงสนับสนุนทั้งจากคนไทยและและทั่วโลกที่ร่วมกันจับตา ทุกเสียง ทุกคอมเมนท์มีความหมาย และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วันนี้
ที่ผ่านมา
- เราเห็นตัวแทนฝ่ายการเมืองที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในทิศทางเดียวกัน
- เราเห็นการแสดงพลังจากกลุ่มคนรักสัตว์ที่เอาผลประโยชน์ของช้างเป็นที่ตั้ง
- เราเห็นการปรับตัวของภาคธุรกิจเพื่อปรับตัวเข้ากับแนวโน้มของการทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและความรับผิดชอบ
- เราเห็นความเคลื่อนไหวของทั้งกลุ่มคนที่เห็นด้วย และเห็นต่าง
- และท้ายสุด แม้ร่างพ.ร.บ.ช้างไทย ภาคประชาชน จะไม่ได้ไปต่อ เราได้เห็นภาครัฐ นำโดยกรมปศุสัตว์ รับไม้ต่ออย่างการเป็นเจ้าภาพ จัดทำร่างกฎหมายเพื่อจัดการและคุ้มครองช้างเลี้ยงอย่างเป็นระบบ ซึ่งในเนื้อหาอาจมีความเข้มข้นน้อยกว่าร่างกฎหมายของภาคประชาชน แต่หากร่างฯ นี้ผ่าน จะถือเป็นครั้งแรกของไทยที่จะมีกฎหมายที่เกี่ยวกับช้างเลี้ยงเป็นการเฉพาะ
จากนี้ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจะยังคงติดตาม ผลักดัน ยกระดับสวัสดิภาพช้างเลี้ยงไทยผ่าน พ.ร.บ.ช้าง ของกรมปศุสัตว์ และช่องทางกฎหมายอื่นๆ ที่เป็นไปได้ พร้อมกับการทำงานเพื่อเปลี่ยนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวช้างด้วยความตั้งใจที่จะเห็นช้างทุกเชือกมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว