สำเร็จ! ช้างป่วย 20 ชีวิตในอินเดียเป็นอิสระจากธุรกิจท่องเที่ยวแล้ว
ข่าว
ในที่สุดกรมป่าไม้ของอินเดียได้สั่งปลดเกษียณช้างป่วยหนักจำนวน 20 ตัว ให้เป็นอิสระแล้ว
เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ กรมป่าไม้ของอินเดียได้ประกาศให้ช้างป่วยจำนวน 20 ตัว ซึ่งถูกใช้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ป้อมอาเมร์ (Amber Fort) เตรียมตัวปลดเกษียณและเปลี่ยนไปใช้ชีวิตอย่างมีสวัสดิภาพที่ดี นับเป็นความสำเร็จจากการรณรงค์ขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกตลอดหลายปีที่ผ่านมา
การตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นหลังทีมสัตวแพทย์ได้ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพช้างเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 โดยพบว่าช้างกลุ่มนี้มีสุขภาพอยู่ในเกณฑ์น่าเป็นห่วง กรมป่าไม้อินเดียจึงประกาศห้ามไม่ให้นำสัตว์ที่มีอาการป่วยหรือมีสภาพร่างกายไม่เหมาะสมมาใช้งานเพื่อให้ความบันเทิง ซึ่งนับเป็นอีกก้าวสำคัญในการยกระดับสวัสดิภาพช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของอินเดีย ตลอดจนสามารถเป็นแบบอย่างให้กับประเทศอื่นๆ ต่อไป
ป้อมอาเมร์เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของอินเดีย และเป็นหนึ่งในจุดหมายที่ได้รับความนิยมสูงสุดในรัฐราชาสถาน สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้กว่าล้านคนต่อปี ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีช้างทำงานอยู่ที่ป้อมอาเมร์กว่า 100 ตัว ช้างแต่ละตัวต้องแบกนักท่องเที่ยวมากกว่าหนึ่งคน พาขึ้นและลงป้อมปราการวันละหลายครั้ง ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าว นอกจากนี้ พวกมันยังถูกควบคุมด้วยตะขอสับ และต้องอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมย่ำแย่
หลังพบหลักฐานการทารุณกรรมสัตว์และความจำเป็นในการรักษาพยาบาลช้างที่ทำงานที่ป้อมอาเมร์ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ประสานงานและเรียกร้องไปยังภาครัฐของอินเดียให้เข้าช่วยเหลือช้าง เพื่อให้พวกมันได้มีโอกาสใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างปราศจากความโหดร้ายทารุณ
สถิติสำคัญ:
- ช้าง 10 ตัวเป็นวัณโรค
- ช้าง 62 ตัวมีปัญหาเม็ดเลือด
- ช้าง 19 ตัวตาบอด
- ช้างส่วนมากขาดสารอาหาร
- ช้างทั้งหมด 102 ตัวมีปัญหาสุขภาพเท้า
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเชื่อว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญในการช่วยพลิกโฉมหน้ารูปแบบการท่องเที่ยวในได้ ผ่านการยุติการนำช้าง ซึ่งเป็นสัตว์ป่า มาใช้งานเพื่อความบันเทิง ตลอดจนนำทางเลือกอื่นมาปรับใช้แทนการขี่หลังช้าง เช่น ยานพาหนะไฟฟ้าหรือยานพาหนะขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ นอกจากนี้ เรายังส่งเสริมให้มีการดูแลช้างที่มีอยู่ในปัจจุบันในรูปแบบปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้างซึ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถสังเกตการณ์ช้างใช้ชีวิตในธรรมชาติได้โดยไม่มีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับช้าง
งานวิจัยของเราพบว่านักท่องเที่ยวทั่วโลกให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์ป่ามากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความทุกข์ทรมานต่อสัตว์ป่าได้รับการยอมรับน้อยลง
- ในปี 2562 เราพบว่า 41% ของนักท่องเที่ยวมองว่าการขี่ช้างเป็นพฤติกรรมที่ยอมรับได้ ซึ่งลดลงจาก 53% ในปี 2557
- 39 % ของนักท่องเที่ยวที่มาป้อมอาเมร์เชื่อว่าช้างถูกทารุณ
- 21% ของนักท่องเที่ยวได้แนะนำไม่ให้เพื่อนหรือครอบครัวขี่ช้าง
นายนิค สจ๊วต หัวหน้าแคมเปญสัตว์ป่าองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ร่วมแสดงความยินดีต่อข่าวปลดเกษียณของช้าง 20 ตัว โดยกล่าวว่า:
“ช้างกลุ่มนี้ต้องทนทุกข์มานาน ชีวิตของพวกมันเริ่มด้วยการถูกพรากจากแม่ตั้งแต่ยังเด็ก และถูกฝึกให้เชื่องด้วยวิธีการที่โหดร้ายทารุณเพื่อให้นักท่องเที่ยวขี่หลังได้ แต่ละวันต้องทำงานค่อนข้างหนัก เนื่องจากต้องเดินขึ้นลงป้อมปราการทุกวัน และแบกนักท่องเที่ยวไว้บนหลัง สภาพความเป็นอยู่ย่ำแย่ ไม่มีโอกาสได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ”
“เรารู้สึกยินดีที่ได้ทราบข่าวว่า ช้าง 20 ตัวจะได้ใช้ชีวิตหลังเกษียณ และหลุดพ้นจากวงจรชีวิตชั่วร้ายนี้ แต่เราจะยังทำงานต่อไปจนกว่ากิจกรรมขี่ช้างจะหมดไป เพราะช้างเป็นสัตว์ป่า ไม่ใช่ตัวสร้างความบันเทิงให้คน”
“องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกขอเรียกร้องให้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว หรือบริษัทนำเที่ยว ออกมาแสดงความรับผิดชอบ และช่วยกันยุติการเอารัดเอาเปรียบสัตว์ป่า เพราะเมื่อความต้องการลดลง ช้างก็จะไม่ต้องมีชีวิตที่ทรมานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีกต่อไป”
สถิติสำคัญ:
- อินเดียเป็นประเทศที่นำช้างมาใช้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับที่ 2 ของโลก (รองจากประเทศไทย) มีช้าง 509 ตัวถูกบังคับใช้งานในสถานที่ 21 แห่ง งานวิจัยพบว่า ช้าง 225 ตัว หรือ 45% ของช้างทั้งหมดอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมย่ำแย่
- มีช้างมากกว่า 3,000 ตัวถูกบังคับใช้งานอย่างทารุณในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วทวีปเอเชีย กว่า 2 ใน 3 ของจำนวนดังกล่าวเป้นช้างในประเทศไทย
- จากรายงานของเราพบว่า 3 ใน 4 ของช้างทั้งหมดต้องอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมย่ำแย่
- ช้างทั้งหมดถูกกักขังในสถานที่ที่ให้บริการขี่หลังช้าง
- หากสถานที่ท่องเที่ยวใดนำเสนอกิจกรรมโชว์ช้างหรือขี่ช้าง มีโอกาสเป็นไปได้ว่า 96% ของช้างจะถูกกักขังในสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่
- 100% ของช้างในทวีปเอเชียที่ไม่ต้องแสดงโชว์ ให้นักท่องเที่ยวขี่หลังหรืออาบน้ำ อาศัยอยู่ในสถานที่ที่มีมาตรฐานด้านสวัสดิภาพอยู่ในเกณฑ์ดี
“ช้างกลุ่มนี้ต้องทนทุกข์มานาน ชีวิตของพวกมันเริ่มด้วยการถูกพรากจากแม่ตั้งแต่ยังเด็ก และถูกฝึกให้เชื่องด้วยวิธีการที่โหดร้ายทารุณเพื่อให้นักท่องเที่ยวขี่หลังได้ แต่ละวันต้องทำงานค่อนข้างหนัก เนื่องจากต้องเดินขึ้นลงป้อมปราการทุกวัน และแบกนักท่องเที่ยวไว้บนหลัง สภาพความเป็นอยู่ย่ำแย่ ไม่มีโอกาสได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ