w.taweefarm

วานิชย์ วันทวี แห่ง ว.ทวีฟาร์ม ผู้พิทักษ์สวัสดิภาพสัตว์

ข่าว

“หมอฟิวส์” อดีตสัตวแพทย์แห่ง จ.ขอนแก่น ผู้กลายเป็นเกษตรกรนอกคอกที่ประกาศตัวว่า ทำปศุสัตว์แบบนอกกรอบ เขาฉีกตำราการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์แบบที่ร่ำเรียนมา และค้นคว้าหาความรู้แบบสุดโต่ง จนก่อกำเนิด ว.ทวีฟาร์ม ในฐานะผู้ผลิตอาหารปลอดภัย ด้วยการทำฟาร์มระบบไบโอไดนามิก ในขณะที่อีกภาคหนึ่งเขาคือผู้พิทักษ์สวัสดิภาพสัตว์ พร้อมตั้งคำถามกลับ “ถ้าผมไม่พิทักษ์…แล้วใครจะพิทักษ์”

 w.taweefarm

ทำเกษตรอินทรีย์ไม่เท่

หมอฟิวส์-วานิชย์ วันทวี เจ้าของและผู้ก่อตั้ง ว.ทวีฟาร์ม ฟาร์มไบโอไดนามิกแห่งแรกของเมืองไทย กล่าวอย่างอารมณ์ดีเมื่อถูกถามถึงจุดเริ่มต้นของการทำฟาร์มว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน เขาได้เห็นความเดือดร้อน ของเกษตรกรในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งมักได้รับข้อมูลการทำปศุสัตว์ที่บิดเบือนจากแหล่งต่างๆ ในยุคนั้น กอปรกับการได้มีโอกาสไปสัมผัสและเรียนรู้การทำฟาร์มจากประเทศเยอรมนี จึงอยากนำความรู้มาปรับใช้กับบ้านเกิดเพื่อให้อาชีพเกษตรกรสามารถลืมตาอ้าปากได้และมีคุณค่าอย่างที่ควรจะเป็น

จากหมอรักษาสัตว์ในฟาร์มปศุสัตว์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และคอยช่วยเหลือชาวบ้านกรณีฉุกเฉิน
ทั้งทำคลอด ผ่าตัด และสารพัดโรคที่เกี่ยวกับสัตว์ตลอด 24 ชม. หมอฟิวส์หันมาทำฟาร์มของตัวเอง โดยเริ่มต้นจากการเลี้ยงหมู 60 ตัว ซึ่งเลี้ยงตามแบบฟาร์มอุตสาหกรรมและปฏิเสธการทำเกษตรอินทรีย์ด้วยอคติที่มีมาตั้งแต่สมัยเรียน

“ผมเป็นคนไม่ชอบเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่เรียนแล้ว เพราะเกษตรกรที่เป็นอินทรีย์ มันไม่เท่เลย จะไปอวดใครก็ไม่ได้ เราก็ทำตามแบบของเราไป จนกระทั่งวันหนึ่งพาแม่ไป โรงพยาบาล ก็เห็นโรคดื้อยาเยอะแยะ พอได้คุยกับอาจารย์หมอ ก็รู้ว่าการกินทุกวันนี้ทำให้เกิดโรคดื้อยา ซึ่งมาจากอาหารที่เราบริโภค จึงคิดเยอะเลยว่า เราผสมยาให้สัตว์กินทุกวัน เพราะเขาบอกว่าป้องกันโรค เราเองก็ทำเหมือนกันที่ฟาร์มเล็กๆ ของเรา ครูสอนยังไงเราก็จัดการอย่างนั้นเลย คือเหมือนเราทำบาปมาทั้งชีวิต ทำบาปทั้งกับสัตว์และกับคน เลี้ยงในที่แคบๆ แต่มันเท่ เป็นระบบการจัดการที่ง่ายสำหรับคน แต่มันลำบากสำหรับสัตว์ เราก็อยู่อย่างนั้นมาตลอด”

หมอฟิวส์ เล่าประสบการณ์ครั้งอดีตด้วยความรู้สึกผิด

 w.taweefarm

เลี้ยงสัตว์แบบไบโอไดนามิกต้องเข้าใจธรรมชาติ

จนวันที่เกิดโรคระบาดในฟาร์มต่อเนื่อง ยาปฏิชีวนะ และวัคซีนที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาอย่างแท้จริง สุดท้ายเงินลงทุนและชีวิตสัตว์ในฟาร์มแทบไม่เหลือ ความฝันในการทำฟาร์มปศุสัตว์พังทลายอย่างไม่เป็นท่า ทางรอดสุดท้ายคือการหันไปพึ่งพาเกษตรอินทรีย์ โดยภรรยาเป็นผู้จุดประกายความฝันใหม่ให้เขาอีกครั้ง หมอฟิวส์จึงเริ่มต้นเปิดโอกาสและเปิดใจด้วยการเสาะหาองค์ความรู้จากการศึกษาค้นคว้า ทั้งจากตำราและผู้เชี่ยวชาญ กระทั่งพบแนวทางการเลี้ยงสัตว์แบบไบโอไดนามิก  (Biodynamic) ซึ่งผู้คิดค้นคือคนเดียวกับผู้ก่อตั้งแนวทางการศึกษาแบบวอลดอร์ฟ (Waldorf) ที่เน้นการเรียนรู้แบบธรรมชาติ และนั่นก็คือจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งในชีวิตของเขา

“พอได้อ่านหลักการแล้ว ทำไมประเทศไทยไม่ทำ มันดีมากเลยนะ หรือมีทำอยู่แล้วเล็กๆ แต่ไม่เคยมีใครทำเป็นระบบฟาร์มมาก่อน ชาวบ้านที่ทำ เขาก็ไม่รู้ว่านี่คือไบโอไดนามิก คือต่อให้เราเชี่ยวชาญหรือเก่งขนาดไหน เราก็ไม่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ มันต้องเชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้ง ทั้งเรื่องพืช ดิน ต้องเข้าใจสัตว์  ลม ฟ้า อากาศ เข้าใจการกักเก็บน้ำ เข้าใจธรรมชาติ เขาอยากให้เราสร้างสมดุลให้กับโลก มีแค่ไหนผลิตแค่นั้น มนุษย์ไม่ควรเอาอะไรจากโลกใบนี้จนขาดสมดุล”

มีความสุขกับการเรียนรู้จนถึงขั้นรู้สึกว่าการนอนเป็นอุปสรรคในการขัดเกลาองค์ความรู้ หมอฟิวส์เล่าน้ำเสียงสนุกว่า

“ผมไปนั่ง ไปนอนกับสัตว์ ศึกษาพฤติกรรมของเขาว่านอนยังไง อยู่ยังไง เกษตรกรชอบบอกกับผมว่า ใช่ซิ คุณมีความรู้เรื่องนี้ คุณก็เลยทำแบบนี้ ผมอยากบอกกับเขาว่า แล้วคุณเคยไปนอนกับสัตว์ไหม คุณเคยทุ่มเทแบบสุดชีวิตหรือเปล่า คุณชอบหาข้อด้อยให้ตัวเอง ตัดปัญหาทุกอย่างแล้วให้นักวิชาการไปทำงานแทนคุณ ซึ่งเขาก็ทำในเรื่องที่เขาทำ ไม่ใช่ทำในเรื่องที่คุณอยากรู้ พอเขาสรุปเป็นงานวิจัยมา ก็บอกว่าใช้ไม่ได้ ทำไมคุณไม่ทำเองล่ะ คุณมีสัตว์อยู่แล้ว นั่นจึงทำให้ผมตื่นเต้นกับสิ่งที่ผมทำ มันแก้ปมทุกอย่างที่เราสงสัย”

 w.taweefarm

เกษตรกรนอกคอก

สิ่งที่เขาเคลือบแคลงได้รับคำตอบจากการทำความเข้าใจระบบนิเวศ และเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติแบบเบียดเบียนให้น้อยที่สุด เช่นนั้นพื้นที่ 34 ไร่ ท่ามกลางผืนนากลางป่าอันอุดมสมบูรณ์ใน ต.บ้านเม็ง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น จึงรายล้อมด้วยธรรมชาติ ต้นสนนับพันต้นถูกปลูกขึ้นเพื่อเป็นแนวรั้วและกำแพงแนวกันลม ภายในฟาร์มมีสัตว์หลากหลาย ทั้งหมู วัว เป็ด ไก่ ห่าน ไก่งวง และยังมีพืชพรรณอีกหลายชนิดที่ปลูกเพื่อเป็นอาหารของสัตว์โดยปราศจากการใช้สารเคมี อาทิ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วลิสง แค หม่อน เบอร์รี่ ตะขบ มันเทศ มันสำปะหลัง ข้าวฟ่าง กระถิน กล้วย รวมถึงผลไม้ที่เปรียบเสมือนยาให้สัตว์ได้กินอย่าง มะเดื่อ เป็นต้น

“ถ้าเลี้ยงแบบออร์แกนิคที่ได้รับการรับรอง เราจะเลี้ยงหมูกับวัว ไม่ได้ เพราะมันอาจมีโรคระบาดถึงกัน หรือจะเลี้ยงหมูกับไก่ไม่ได้ เพราะไก่เป็นพาหะของหมู หรือหมูก็เป็นพาหะของไก่  แล้วก็เวลาสัตว์ป่วยก็ให้แยก แต่ที่ฟาร์มของผมสัตว์ป่วยไม่แยก ปศุสัตว์ก็เลยไม่ยอมรับผม  เพราะผมทำปศุสัตว์แบบขบถ เขาบอก…คุณมันนอกคอกจริงๆ ผมก็เลยคิดว่า ถ้านอกคอกแล้วมันดีต่อสัตว์ ผมก็จะทำ ผมฉีกทุกตำราที่เคยเรียน ซึ่งไม่ได้ง่ายเลย”

หมอฟิวส์กล่าว พลางอธิบาย ถึงเหตุผลของการไม่แยกสัตว์ป่วยออกจากสัตว์ที่ปกติว่า สัตว์จะมีวิธีเยียวยาถ่ายเทภูมิซึ่งกันและกัน ทั้งเรื่องจิตใจและอาหาร โดยที่ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะใดๆ เลย

 w.taweefarm

ความรู้ไม่สำคัญเท่าลงมือทำ หมอฟิวส์ ถึงกับไปศึกษาพฤติกรรมสัตว์ป่าบนภูเขา หมูป่าอยู่กันยังไง ทำไมจึงไม่เกิดโรคระบาดในหมูป่า คำตอบคือเพราะระบบของธรรมชาติที่เกื้อกูลกัน การเลี้ยงแบบไบโอไดนามิก จึงสอดคล้องและตอบโจทย์ตามแนวทาง ว.ทวีฟาร์ม โดยสัตว์แต่ละชนิดต่างได้ใช้ชีวิตอย่างเป็นอิสระในพื้นที่โล่งกว้างขวาง มีบ่อโคลนให้แช่ตัว มีทุ่งหญ้าให้เดินเล่น มีลานให้อาบแดดตอนกลางวัน หรือหากอยากออกมารับวิตามินจากพระจันทร์ท่ามกลางธรรมชาติในยามค่ำคืนก็สามารถทำได้

นอกจากนี้สัตว์แต่ละชนิดต่างมีหน้าที่ของกันและกัน อย่างเช่น หมูจะดุนดินให้ดินร่วนซุย แล้วถ่ายมูลลงดิน ไก่ก็จะคอยไปเขี่ยให้มูลแตกทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็น และเมื่อมีหนอน ไก่ก็จะมากินหนอน รวมถึงเป็ดก็จะมากินพยาธิที่ออกจากมูลของหมู เนื่องจากเป็ดเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่น้ำย่อยมีอุณหภูมิสูง เมื่อกินพยาธิแล้วพยาธิจะตายในท้อง ส่วนห่านจะทำหน้าที่เป็น รปภ.ป้องกันงู  ในขณะที่ไก่งวงจะทำหน้าที่เล็มหญ้า และกินแมลง ช่วยลดศัตรูพืช  ซึ่งทุกอย่างล้วนเกื้อกูลกัน พอดินอุดมสมบูรณ์ ก็จะมีจุลินทรีย์โปรไบโอติกในดิน เมื่อสัตว์กินเข้าไป จึง ช่วยระบบการย่อยอาหาร เป็นต้น

 w.taweefarm

หน้าที่พิทักษ์สวัสดิภาพสัตว์

“ผมเชื่อเสมอว่า สุขภาพดีมาจากดินที่ดี ระบบไบโอไดนามิก มันตอบโจทย์ทั้งหมด ร่างที่ผมทำคือคนผลิตอาหาร แน่นอนผมก็ทำอาหารที่ปลอดภัย ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ส่วนอีกภาคคือ คนที่รักษาสวัสดิภาพของสัตว์ ถ้าผมไม่พิทักษ์แล้วใครจะพิทักษ์ ถ้าเราเห็นว่ามันมีค่า มันจะให้แรงบันดาลใจแก่ผู้คนอีกมาก ซึ่งมันเป็นแบบนั้นจริงๆ เพราะเราได้พิสูจน์มาแล้ว 10 ปี ในการทำแบบนี้”

แล้วหน้าที่พิทักษ์สวัสดิภาพสัตว์ คืออะไรนั้น หมอฟิวส์ตอบน้ำเสียงจริงจังว่า

“อุตสาหกรรมเขาเลี้ยงสัตว์แบบหุ่นยนต์  เขาไม่เคยจัดการความรู้สึกของสัตว์ได้เลย ผมมาพิทักษ์จุดนี้ คือ อุตสาหกรรมทำให้สัตว์เครียด แต่ไม่สามารถจัดการความเครียดของสัตว์ได้ ต่อให้ทำดีแค่ไหน แต่ผมนำสัตว์มาอยู่กับธรรมชาติ ได้ใช้ชีวิต ได้มีพฤติกรรมเหมือนที่เขาควรจะเป็น โดยไม่ต้องมีมาตรฐานอะไรมารับรอง ให้เขาได้อยู่ร่วมกัน ได้ใช้พฤติกรรมอย่างที่ควรจะเป็น ได้เล่นโคลน สนุกสนาน ได้มีฝูง มีสังคม เหมือนกับเราที่มีครอบครัว ผมไม่ได้แยกสัตว์ที่ขุน หรือไม่ขุน เด็กไม่เด็ก นี่เป็นวาระสุดท้ายที่เขาไม่ต้องเครียด นี่คือการพิทักษ์สำหรับผม ให้เขาได้อยู่แบบนั้น”

แน่นอนว่าการใส่ใจและเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มอย่างมีสวัสดิภาพย่อมส่งผลให้ผลผลิตที่ได้ที่มีคุณภาพดีและปลอดภัย  เนื้อหมูของ ว.ทวีฟาร์ม จึงเป็นฮีโร่โปรดักส์ แม้ราคาจะสูงกว่าเนื้อหมูทั่วไป แต่ก็ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั้งโรงแรมระดับ 5 ดาว ร้านอาหารชื่อดัง และลูกค้าทั่วไปที่ใส่ใจในสุขภาพ โดยตลอดระยะเวลานับ 10 ปีที่เขาลงทุ่มเทกับการทำฟาร์มที่ดีต่อสวัสดิภาพของคนและสัตว์อย่างยั่งยืน จึงนับเป็นเครื่องพิสูจน์ความตั้งใจได้เป็นอย่างดี

“เงินทุกบาทที่ผู้บริโภคสนับสนุนเรา ไม่ใช่แค่การเลี้ยงสัตว์ให้ดีอีกต่อไป แต่มันคือการทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น อย่างน้อย ว.ทวีฟาร์ม ก็ปลูกป่าเพิ่มโดยไม่ต้องทำ CSR (Corporate Social Responsibility) แน่นอนเมื่อธุรกิจดี ผู้คนก็จะเข้ามาทำมากขึ้น แล้วประเทศนี้ก็จะได้ป่าเพิ่มมากขึ้นโดยอัตโนมัติ  เมื่อป่าได้ พฤติกรรมสัตว์ได้ ทุกคนจะได้มาปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ได้ จริงๆ มันเป็นระบบใหม่ที่ครบองค์ทั้งคนและสัตว์ แน่นอนว่า รพ.ก็จะมีผู้ป่วยน้อยลง คือเราช่วยสังคมได้เลย ป่าที่เคยแห้งแล้ง ก็จะมีต้นไม้ ดูดซับน้ำ ดูดซับคาร์บอนให้โลกได้มากขึ้น แม้กระทั่งเกษตรกรเองก็จะไม่ใช้เคมี ดินเราดีด้วยปุ๋ยทุกๆ วันอยู่แล้ว และจุลินทรีย์ที่หายไปก็จะกลับมา พืชพรรณหลากหลายทางธรรมชาติก็จะกลับคืนมา เราจะมีพื้นที่ป่าธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นโดยอัตโนมัติ   

ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องสัตว์ที่เราต้องใส่ใจ ถ้าเราเข้าใจว่า เราควรมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้เพื่อทำสิ่งดีๆ เราก็จะคัดสรรอาหารที่ดี เพื่อกินเป็นยาให้กับตัวเอง”

เหล่านี้คือความเข้าใจในธรรมชาติของอาหารและเห็นคุณค่าในวัตถุดิบของอาหารที่จะสามารถส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คนทั้งทางตรงและทางอ้อม