Korat_Chicken

ทำไมต้องเป็นไก่โคราช?

ข่าว

หลังเปิดตัวโครงการฟาร์มแชมเปี้ยน โดยความร่วมมือระหว่างองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หรือ มทส. มอบลูกไก่สายพันธุ์โคราชกว่า 1,000 ตัว ให้แก่เกษตรกรรวม 11 ฟาร์มจาก 6 จังหวัด

เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยหันมาสนใจสวัสดิภาพของไก่ในฟาร์มภายใต้แนวคิด Good Life Standards หรือมาตรฐานการเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูงโดยในฟาร์มลักษณะนี้ ไก่จะมีโอกาสได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ และรับรู้ได้ถึง “ความสุข” มากกว่า “ความทุกข์ทรมาน” ตลอดอายุขัย  

หลายคนคงสงสัยว่าทำไมถึงต้องเป็นไก่โคราช แล้วไก่โคราชแตกต่างจากไก่ทั่วไปอย่างไร?

ผศ.ดร.วิทธวัช โมฬี อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางสัตว์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในฐานะหัวหน้างานวิจัยของโครงการฟาร์มแชมเปี้ยน ได้อธิบายรายละเอียดว่า ไก่โคราช มาจากพ่อพันธุ์ไก่พื้นเมืองที่เรียกว่า เหลืองหางขาว ส่วนแม่ เป็นไก่ มทส. ซึ่งถือเป็นผลงานวิจัยที่พัฒนาเป็นแม่พันธุ์

ข้อดีของไก่โคราช คือ มีความแข็งแรง เลี้ยงง่าย ทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี และให้ผลผลิตไก่ดกกว่าพันธุ์พื้นเมือง ส่วนระยะเวลาการเลี้ยงประมาณ 3 เดือน ได้น้ำหนักราว 1.5 กิโลกรัม จึงทำให้ต้นทุนลูกไก่มีความเป็นไปได้ที่เกษตรกรจะนำมาทำเป็นธุรกิจ ที่สำคัญระบบการจัดการเลี้ยงง่าย เหมาะกับเกษตรกรรายย่อยที่ไม่ต้องใช้เงินทุนไม่มากนัก  

“ไก่โคราช ถือเป็นลูกผสม ระหว่างแม่พันธุ์ มทส. ที่เราพัฒนาขึ้นจากงานวิจัย กับพ่อพันธุ์เหลืองหางขาว ลูกที่ออกมาจึงเป็นลูกครึ่ง ทำไมจึงใช้เหลืองหางขาว เพราะตอนแรกที่ทำพันธุ์ขึ้นมา คนโคราชชอบกินไก่แข้งเหลือง หนังเหลือง ซึ่งได้มาจากพ่อพันธุ์ คือไก่โคราช ถึงแม้รสชาติจะออกไปทางไก่พื้นเมือง แต่ก็มีเนื้อที่มากกว่าไก่พื้นเมือง” ผศ.ดร.วิทธวัช เผยถึงความแตกต่างของไก่โคราชกับไก่พื้นเมือง

ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ไก่โคราชถูกพัฒนาสายพันธุ์โดย มทส. และสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรรายย่อยไม่ต่ำกว่า 10 ปี มีเกษตรกรเลี้ยงไก่โคราชไม่ต่ำกว่า 100 ราย ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะแถบภาคอีสาน ซึ่งสามารถตอบโจทย์ทั้งต้นทุนและระบบบริหารจัดการการเลี้ยง เนื่องจากไก่โคราช มีความทนทานต่อภูมิอากาศและสภาพแวดล้อม ขณะเดียวกันก็ให้ผลผลิตดี มีรสชาติอร่อย

โครงการฟาร์มแชมเปี้ยน ที่เกิดจากความร่วมมือ ระหว่างองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทยกับ มทส. จึงถือเป็นการยกระดับการเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูงที่จะช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน

“ที่ผ่านมาเราทำงานร่วมกับองค์กรฯ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ไปเยี่ยมฟาร์ม คัดเลือกเกษตรกร วางแผนทำการเลี้ยงไก่ตามมาตรฐานสวัสดิภาพสูง ซึ่งทาง มทส.จะช่วยในเรื่องเก็บข้อมูล โดยเฉพาะการเจริญเติบโตของไก่ เกษตรกรสามารถสื่อสารผ่านไลน์กันทุกสัปดาห์ และติดตามผลอย่างใกล้ชิด ตลอดจนทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ที่จะมีการประเมินในเรื่องของสวัสดิภาพไก่ในช่วงท้ายของการเลี้ยง เรามีผลเพื่อการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แชร์ประสบการณ์กัน พัฒนาไปด้วยกันโดยที่เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

การเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูง ถือเป็นแนวทางใหม่ และเป็นทางเลือกของเกษตรกร ที่คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ ส่งเสริมให้ไก่มีความสุข ได้มีอิสระและแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติอย่างเต็มที่ แม้สุดท้ายจะกลายเป็นอาหารก็ตาม แต่ระหว่างที่มีชีวิตอยู่ หากไก่ได้มีความสุขก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี

“การเลี้ยงไก่โดยคำนึงถึงหลักสวัสดิภาพสูง เป็นอีกแนวทางหนึ่งของผู้บริโภคและผู้ผลิต ที่มาเจอกัน เกษตรกรเองจะได้รับประโยชน์ในมุมที่ได้ขายสินค้าในราคาที่สูงขึ้น ส่วนผู้บริโภคทที่ห่วงใยสุขภาพ และพร้อมที่จะจ่าย ก็จะมีแหล่งอาหารที่มีคุณภาพดีตอบสนองความต้องการ ขณะเดียวกันตัวสัตว์เองก็มีความสุข ได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น มั่นใจได้ว่าเนื้อไก่ที่ได้ มีความปลอดภัยต่อผู้เลี้ยง ผู้บริโภค แล้วก็ตัวไก่เอง”

More about