WB1

ไทยร่วมกับกว่า 270 องค์กรทั่วโลก เรียกร้องธนาคารโลกหยุดสนับสนุนฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรม

ข่าว

เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2568 นักรณรงค์จากซิเนอร์เจีย แอนิมอล และองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย พร้อมพันธมิตรกว่า 270 องค์กรทั่วโลก ร่วมรณรงค์ระดับโลก เรียกร้องให้ธนาคารโลกและ IFC ยุติการสนับสนุนฟาร์มปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม

โดยนักรณรงค์ได้ร่วมกันยื่นจดหมายต่อตัวแทนสำนักงานธนาคารโลก กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้ยุติการลงทุนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับระบบการทำฟาร์มเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม คุกคามต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ รวมทั้งบ่อนทำลายเป้าหมายความยั่งยืนในระดับโลก

 

กลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group) ซึ่งรวมถึงบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ หรือ IFC เป็นสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ให้สินเชื่อและเงินทุนแก่โครงการต่างๆ ในประเทศกำลังพัฒนา โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความยากจนและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม งานวิจัยล่าสุดกลับชี้ให้เห็นว่าการสนับสนุนฟาร์มปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมของธนาคารโลกที่ยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบันนั้น กลับขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ดังกล่าวอย่างชัดเจน เนื่องจากมีส่วนทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทำให้สถานการณ์สุขภาพของประชาชนแย่ลง

 

แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีการลงทุนของธนาคารโลกในฟาร์มปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมภายในประเทศไทยก็ตาม แต่ประเทศก็ยังคงได้รับผลกระทบจากการลงทุนในระดับโลกเหล่านี้ รัฐบาลไทยถือหุ้นและมีสิทธิออกเสียงในธนาคารโลกอยู่ที่ร้อยละ 0.51 ซึ่งหมายความว่าเงินสาธารณะของไทยได้เข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนโครงการฟาร์มปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมที่ส่งผลเสียหายในประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

 

คุณศนีกานต์ รศมนตรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยขององค์กรซิเนอร์เจีย แอนิมอล ประเทศไทย กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นผู้ถือหุ้นในธนาคารโลก นั่นหมายความว่ารัฐบาลของเรามีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าจะนำเงินไปลงทุนในโครงการใด เราไม่ต้องการให้เงินสาธารณะของไทยถูกนำไปสนับสนุนการทำฟาร์มปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม ที่สร้างความเสียหายต่อชุมชน สัตว์ และโลกของเรา”

 

 “นี่คือช่วงเวลาสำคัญที่ธนาคารโลกต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบอาหารที่มีความยั่งยืนและเป็นธรรม ซึ่งจะช่วยปกป้องประชาชน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม เราจึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยใช้สิทธิออกเสียงในธนาคารโลกที่เรามี เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้” คุณศนีกานต์ รศมนตรี กล่าวเสริม

 

แม้ว่าประเทศไทยจะมีความตระหนักเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่ผลกระทบจากการลงทุนในฟาร์มปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมระดับโลกนั้นก็เริ่มส่งผลต่อประเทศไทยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงขึ้น การตัดไม้ทำลายป่า ปัญหาเชื้อดื้อยา (antimicrobial resistance) ความไม่มั่นคงทางอาหาร รวมถึงเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วต่างๆ

 

รายงานวิจัยล่าสุดจากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) เผยให้เห็นช่องโหว่ที่สำคัญในนโยบายปัจจุบันของธนาคารโลกและ IFC ได้แก่ การขาดความโปร่งใส ความล้มเหลวในการดำเนินงานให้สอดคล้องกับกรอบระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ และการปกป้องสิทธิในที่ดินของชุมชนและมาตรฐานแรงงานอย่างไม่เพียงพอ ตัวอย่างเช่น:

 

  • ผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ:

    ธนาคารโลกยังละเลยการจัดการผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศจากการผลิตปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม โดยไม่มีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับความตกลงปารีส (Paris Agreement) ขาดการรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซอย่างเพียงพอ และไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าในห่วงโซ่อุปทานด้านการเกษตร
  • ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน:

    ไม่มีการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะอย่างต่อเนื่องในสัตว์ ไม่มีข้อจำกัดที่ชัดเจนต่อสารเคมีอันตราย และไม่มีมาตรการที่เพียงพอในการจัดการมลพิษจากของเสียจากสัตว์ในฟาร์มอุตสาหกรรม
  • ความยั่งยืนของระบบอาหาร:

    ทั้งสองหน่วยงานยังคงให้ความสำคัญกับการผลิตเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรม โดยขาดกลยุทธ์สนับสนุนระบบอาหารจากพืชหรือระบบอาหารในท้องถิ่น การส่งเสริมโปรตีนทางเลือก รวมถึงไม่ได้แก้ไขปัญหาความอยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในภาคเกษตรกรรม

 

“การทำฟาร์มปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมกำลังเร่งให้เกิดวิกฤตระดับโลก และประเทศไทยก็กำลังได้รับผลกระทบโดยตรง เราเผชิญกับน้ำท่วมที่เกิดบ่อยครั้งขึ้น คลื่นความร้อนที่รุนแรงขึ้น และมลพิษทางอากาศในระดับอันตรายที่คุกคามสุขภาพของผู้คนนับล้าน ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่กำลังเกิดขึ้นตรงหน้า และเลวร้ายลงเรื่อย ๆ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยคุกคามต่อสุขภาพสาธารณะ และความเปราะบางของระบบอาหาร ไม่ได้หยุดอยู่แค่พรมแดนของประเทศใดประเทศหนึ่ง นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมประเทศไทยจำเป็นต้องแสดงจุดยืน เพื่อปกป้องประชาชน สิ่งแวดล้อม และอนาคตของพวกเราทุกคน” คุณโชคดี สมิทธิ์กิตติผล หัวหน้าฝ่ายโครงการ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าว

 

ในการตอบสนองต่อสถานการณ์นี้ องค์กรและเครือข่ายภาคประชาสังคมจำนวนกว่า 270 แห่ง ซึ่งรวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชนระดับนานาชาติและในประเทศ นักวิชาการ เกษตรกร และนักเคลื่อนไหว ได้ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงผู้บริหารระดับสูงของธนาคารโลกและ IFC โดยเรียกร้องให้ทั้งสองสถาบัน

 

  • จัดทำนโยบายยุติการสนับสนุนทางการเงินแก่ฟาร์มปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมอย่างเป็นทางการ
  • ยุติการลงทุนที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเปลี่ยนทิศทางการลงทุนไปสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืนและให้สวัสดิภาพสัตว์ในระดับสูง

 

“เวลาของเรากำลังจะหมดลง ธนาคารโลกไม่สามารถอ้างว่าเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาความยากจนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ หากยังคงสนับสนุนระบบที่ทำลายโลก และทำร้ายผู้เปราะบางที่สุด รวมถึงสัตว์ต่าง ๆ เราต้องการความเป็นผู้นำที่กล้าหาญในเวลานี้ โดยเริ่มต้นจากการยุติการสนับสนุนฟาร์มอุตสาหกรรมทั้งหมด” คุณโชคดี สมิทธิ์กิตติผล กล่าวเสริม

 

กลุ่มนักรณรงค์ยังเน้นย้ำว่า ประเทศไทยไม่ควรมีส่วนร่วมในการสนับสนุนระบบฟาร์มอุตสาหกรรมที่สร้างความเสียหาย ผ่านบทบาทในฐานะผู้ถือหุ้นของธนาคารโลก ในทางตรงกันข้าม ประเทศไทยสามารถเป็นผู้นำในการส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืน มีจริยธรรม และมีความสามารถในการฟื้นตัวรองรับอนาคตได้อย่างแท้จริง

 

อ่านจดหมายฉบับเต็มได้ที่นี่: จดหมายถึงธนาคารโลก

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
ชิสากัญญ์ อารีพิพัฒน์ จากซิเนอร์เจีย แอนนิมอล
Email: cariphipat@sinergiaanimal.org


อภิลักษณ์ พวงแก้ว จากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก
Email: aphiluck@worldanimalprotection.or.th

 

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวันรณรงค์ระดับโลก:
StopFinancingFactoryFarming.com

รายงานฉบับเต็ม: Fostering Humane and Sustainable Food Systems โดย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก: https://bit.ly/fostering-humane-and-sustainable-food-systems 

 

More about