High welfare chicken farm. Credit: Valerie Kuypers

เกี่ยวกับระบบอาหาร

เรียนรู้เพิ่มเติม

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับระบบอาหาร

1. การทำฟาร์มแบบโรงงานคืออะไร? การทำฟาร์มแบบโรงงานไม่ดีอย่างไร?

การทำฟาร์มแบบโรงงานเป็นระบบอุตสาหกรรมที่เน้นการสร้างกำไรมากกว่าที่จะให้ความใส่ใจต่อสัตว์ คนและโลก ฟาร์มแบบโรงงานเป็นแหล่งทารุณสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 

ในแต่ละปีมีสัตว์บก 80,000 ล้านตัวอยู่ในฟาร์ม และเป็นสัตว์ที่ถูกเลี้ยงในฟาร์มแบบโรงงานซึ่งเต็มไปด้วยความเจ็บปวด ความเครียด และความทุกข์ทรมานอันน่าสะพรึงประมาณ 56,000 ตัว (ร้อยละ 70) จากการประมาณขั้นต่ำ

2. การทำฟาร์มแบบโรงงานเป็นการทารุณสัตว์หรือไม่? มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในการทำฟาร์มแบบโรงงาน?

สัตว์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการทำฟาร์มแบบโรงงาน จะถูกมองว่าเป็นสินค้า ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่มีจิตใจหรือมีความรู้สึก การทำฟาร์มแบบโรงงานตัดสิ่งที่เป็นเรื่องปกติหรือเป็นเรื่องตามธรรมชาติของสัตว์ออกไปทั้งหมด การทำฟาร์มแบบโรงงานจะมีการดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวกับการขังสัตว์ไว้ในกรงตลอดชั่วชีวิต การดัดแปลงลักษณะทางกายภาพของสัตว์อย่างเจ็บปวด การหย่านมก่อนเวลาอันควรของลูกสัตว์หลังคลอด คุณภาพอากาศที่ไม่ดี ระบบการให้อาหารที่ไม่เป็นธรรมชาติ การดูแลจัดการอย่างหยาบๆ การขนส่งทางไกลและบ่อยครั้งที่จะมีการฆ่าสัตว์อย่างโหดร้ายทารุณ ซึ่งสัตว์เหล่านั้นต้องทนทุกข์ทรมานจากความเครียด การบาดเจ็บ ความซึมเศร้า ความหิวโหยตลอดเวลาและการถูกกีดกันทางสังคม

3. สัตว์ที่ถูกเลี้ยงในฟาร์มแบบโรงงานมีจำนวนเท่าไร?

สัตว์บกจำนวน 80,000 ล้านตัวต่อปีถูกนำมาเลี้ยงในฟาร์ม และมีสัตว์ที่ถูกขังอยู่ในระบบการทำฟาร์มแบบอุตสาหกรรมประมาณ 56,000 ล้านตัว สัตว์ในฟาร์มแบบโรงงานมีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติและต้องทนต่อความทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างยิ่งยวด โดยที่สัตว์ส่วนใหญ่ไม่รู้จักอะไรเลยนอกจากความเจ็บปวด ความกลัว และความทุกข์ทรมานตั้งแต่เวลาที่เกิดจนถึงเวลาที่ถูกฆ่าตาย ทั้งนี้ตัวเลขมหาศาลที่แสดงจำนวนสัตว์ดังกล่าวยังไม่รวมถึงปลาจำนวนหลายพันล้านตัวที่ถูกขังไว้ในโรงงานใต้น้ำ

4. สัตว์ประเภทใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับการทำฟาร์มแบบโรงงาน?

ความทุกข์ทรมานของหมูและไก่แสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายทารุณที่มีอยู่ในการทำฟาร์มแบบโรงงานอย่างชัดเจน ในแต่ละปีจะมีไก่มากกว่า 72,000 ล้านตัวทั่วโลกถูกเลี้ยงและถูกฆ่าเพื่อเป็นอาหาร และ 2 ใน 3 ของไก่จำนวนดังกล่าวถูกเลี้ยงภายใต้ระบบการเลี้ยงแบบแออัดในโรงเรือน (intensive indoor systems) ซึ่งไก่แต่ละตัวอาศัยอยู่บนพื้นที่เล็กกว่ากระดาษ A4 หนึ่งแผ่น ในโรงเรือนที่ไม่มีหน้าต่างและเต็มไปด้วยสัตว์ที่อยู่รวมกันมากถึง 100,000 ตัว โดยที่แต่ละตัวนั่งหรือนอนบนมูลของตัวเอง

 

หมูประมาณ 600 ล้านตัว อาศัยอยู่ในสภาพที่แออัดบนพื้นที่จำกัดโดยไม่สามารถหาอาหารหรือแสดงพฤติกรรมทางสังคมตามธรรมชาติได้ แม่หมูในฟาร์มแบบโรงงานใช้ชีวิตอยู่ในกรงที่มีขนาดคับแคบมากเกินกว่าที่จะกลับตัวได้ ซึ่งนอกจากจะทำให้ลำตัวของแม่หมูเต็มไปด้วยแผลที่เจ็บปวดแล้วยังทำให้แม่หมูต้องกัดกรงเมื่อรู้สึกหงุดหงิดด้วย

 

สำหรับลูกหมูนั้นจะถูกตัดหางและถูกตัดฟัน รวมถึงถูกทำหมันในลูกหมูตัวผู้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะปราศจากการบรรเทาความเจ็บปวดใดๆ การคัดเลือกสายพันธุ์ทำให้เกิดความโหดร้ายทารุณอีกขั้นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นโดยวิธีการบังคับให้สัตว์เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้สัตว์มีลูกครอกใหญ่ ออกไข่จำนวนมาก หรือผลิตน้ำนมในปริมาณสูงสุด ซึ่งนำไปสู่การทำร้ายทางกายภาพและสร้างความเจ็บปวดให้แก่สัตว์ได้

 

นอกจากหมูและไก่เนื้อแล้ว ฟาร์มแบบโรงงานยังหมายถึงความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นกับสัตว์อีกหลายพันตัวทั่วโลก รวมถึง ไก่ไข่ วัวเนื้อ วัวนม และปลา สิ่งมีชีวิตใดๆไม่ควรจะต้องถูกปฏิเสธสิทธิในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติของตัวเองหรือสิทธิในการมีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์ตัวอื่น รวมถึงสิทธิในการได้สัมผัสกับสิ่งที่เป็นเรื่องปกติธรรมดาเช่นการเห็นแสงอาทิตย์หรือหญ้า

5. วัตถุประสงค์ของการทำฟาร์มแบบโรงงานคืออะไร? การทำฟาร์มแบบโรงงานมีประโยชน์อย่างไร?

ปัจจุบันมีการผลิตเนื้อสัตว์ทั่วโลกในปริมาณที่มากกว่าการผลิตเมื่อ 50 ปีที่แล้วถึง 5 เท่า และมีการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในการผลิตอาหารเพื่อตอบสนองความต้องการของโลก ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของฟาร์มแบบโรงงานทั่วโลก สัตว์จำนวนหลายพันล้านตัวได้รับการเลี้ยงดู ขนส่ง และถูกฆ่าเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบอาหารของโลกและตอบสนองความต้องการผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่เพิ่มขึ้นในราคาที่ถูกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ข้อโต้แย้งข้อหนึ่งจากฝ่ายที่เห็นดีเห็นงามกับการทำฟาร์มแบบโรงงานคือการทำฟาร์มแบบโรงงานเป็นวิธีการที่ประหยัดที่จะทำให้สามารถผลิตอาหารให้แก่ประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นได้

 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความมั่นคงทางอาหารได้ถูกทำลายลงทีละน้อย เนื่องจากที่ดินถูกแปลงไปเป็นพืชผลเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อการบริโภคมากกว่าที่จะถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของมนุษย์ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวถึงการใช้ธัญพืชเพื่อเลี้ยงสัตว์ว่าเป็น “ความไร้ประสิทธิภาพ” และ “การใช้ที่ดินอย่างไร้ประสิทธิภาพเพื่อผลิตอาหาร” องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติเตือนว่า หากใช้ธัญพืชเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ต่อไปเรื่อยๆจะเป็นการคุกคามความมั่นคงทางอาหารเนื่องจากปริมาณของธัญพืชที่มีไว้สำหรับการบริโภคของมนุษย์จะลดลง

 

หากเราพิจารณาถึงต้นทุนที่แท้จริงของระบบนี้โดยนำความทุกข์ทรมานของสัตว์หลายพันล้านตัว และผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนภัยคุกคามอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของมนุษย์รวมเข้าไปพิจารณาด้วยแล้ว จะเห็นได้ชัดเจนว่าต้นทุนของการทำฟาร์มแบบโรงงานสูงมากอย่างที่ไม่อาจจะรับได้

6. การทำฟาร์มแบบโรงงานอยู่ที่ไหน?

การทำฟาร์มแบบโรงงานเป็นระบบสากล โดยมีผู้ผลิตเนื้อสัตว์รายใหญ่ที่สุดในโลก 5 รายได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป บราซิลและรัสเซีย และคาดว่าเนื้อสัตว์ในประเทศที่มีการผลิตมากที่สุดนั้นมาจากการทำฟาร์มแบบโรงงาน ร้อยละ 95 - 99 เรามีพนักงานที่เป็นคนท้องถิ่นทำงานอยู่ในประเทศผู้ผลิตเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนมและไข่ รายใหญ่ที่สุด รวมถึงในประเทศจีน บราซิล อินเดียและสหรัฐอเมริกา ซึ่งการทำงานของเราในประเทศเหล่านี้ทำให้เราสามารถทำกิจกรรมและผลักดันโดยตรงกับผู้ผลิตที่ใหญ่ที่สุดของโลกบางรายได้

7. มีทางเลือกอะไรบ้างนอกจากการทำฟาร์มแบบโรงงาน?

วิสัยทัศน์ของพวกเราคือ โลกที่มีความเคารพต่อสัตว์และธรรมชาติอยู่ในหัวใจของระบบอาหารของพวกเรา โดยมีความเท่าเทียม ความยั่งยืน ความยืดหยุ่นและความสามารถในการเลี้ยงประชาชนทั่วโลก เราเชื่อว่าไม่มีอนาคตสำหรับการทำฟาร์มแบบโรงงานและเราจะทำงานโดยไม่เหน็ดเหนื่อยเพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์นี้ รวมถึงการสร้างความสนับสนุนเพื่อชะลอการเกิดขึ้นของฟาร์มแบบโรงงานแห่งใหม่อันเป็นก้าวที่สำคัญสู่วิสัยทัศน์ของเรา เราจะทำให้ประชาชนหลายล้านคนเข้าร่วมกับการปฏิวัติทางอาหารโดยสร้างความตระหนักถึงผลกระทบที่เลวร้ายจากการทำฟาร์มแบบโรงงานที่มีต่อสัตว์ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

 

นอกจากนั้น เราจะเปิดโปงให้เห็นถึงการลงทุนทั่วโลกและนโยบายของรัฐบาลที่เอื้อให้ฟาร์มแบบโรงงานยังคงมีการดำเนินการอยู่ต่อไปอีกนาน ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปิดรับการเปลี่ยนแปลงในการผลิตอาหารและระบบเกษตร ผู้บริโภคมากมายรวมถึง รัฐบาลต่างๆและธุรกิจเกี่ยวกับอาหารหลายราย ได้เข้าร่วมกับการเปลี่ยนแปลงนี้แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการผลักดันและการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักถึงความโหดร้ายทารุณที่เกิดขึ้นในการทำฟาร์มแบบโรงงานของพวกเรา

8. การทำฟาร์มแบบโรงงานมีประวัติความเป็นมาอย่างไร?

เราอยู่ในยุคของการทำฟาร์มแบบโรงงาน ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 อุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวกับสัตว์ได้ก้าวไปอย่างรวดเร็วทำให้ความเป็นอยู่ของสัตว์ในฟาร์มเปลี่ยนแปลงไป สัตว์เหล่านั้นถูกนำเข้าไปอยู่ในโรงเรือนและได้รับการปฏิบัติเหมือนเป็นฟันเฟืองในเครื่องจักร นับตั้งแต่นั้นมา จำนวนของสัตว์ฟาร์มพุ่งสูงขึ้นอย่างมากตลอดช่วงเวลานี้ การผลิตเนื้อสัตว์ในปีพ.ศ.2561 เพิ่มสูงขึ้นกว่าการผลิตเมื่อ 50 ปีที่แล้วถึงร้อยละ 470 โดยมีการผลิตเนื้อสัตว์เพิ่มจากจำนวน 70 ล้านตันต่อปี เป็นการผลิตเนื้อสัตว์จำนวนมากกว่า 330 ล้านตันต่อปี ในความเป็นจริงแล้วการปศุสัตว์ทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นจนกระทั่งในปัจจุบันมีสัตว์ปีกในฟาร์มเป็นจำนวนมากถึงร้อยละ 70 ของจำนวนนกทั้งหมด และมีจำนวนนกป่าหรือนกที่อยู่อย่างอิสระเพียงร้อยละ 30 ของประชากรนกทั่วโลก

 

ความเป็นมาของการทำฟาร์มแบบโรงงานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไม่ได้เกิดขึ้นมาจากความบังเอิญ แต่ได้รับการสนับสนุนจากนโยบายต่างๆของรัฐบาลและการให้เงินอุดหนุนเพื่อสนับสนุนแนวคิดของการ ‘ผลิตด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด’ ภายใต้ความเชื่อที่ผิดว่าจะทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่าเราได้เห็นการร่อยหรอของทรัพยากรทางธรรมชาติ มลพิษที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในขณะที่ธุรกิจต่างๆร่ำรวยขึ้นแต่เกษตรกรรายย่อยต้องเลิกกิจการและชุมชนท้องถิ่นต้องเดือดร้อนจากความไม่มั่นคงทางอาหาร

9. ฟาร์มแบบโรงงานส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร?

การทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยทางธรรมชาติ

การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และการเกษตรเป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดเพียงสาเหตุเดียว โดยคิดเป็นร้อยละ 80 ของการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินทั้งหมดทั่วโลก และเกือบร้อยละ 80 ของที่ดินทางการเกษตรนี้ถูกใช้ไปเพื่อการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการปศุสัตว์ซึ่งรวมถึงการปลูกพืชผลจำนวนมากเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ด้วย

 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การทำฟาร์มแบบโรงงานเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทำฟาร์มสัตว์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นร้อยละ 17 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก และเป็นตัวการที่ปล่อยก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญที่สุด 2 ใน 3 ชนิดมากที่สุด หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงในการบริโภคเนื้อสัตว์อย่างรวดเร็วและในปริมาณมาก การเกษตรเพียงอย่างเดียวจะใช้งบดุลคาร์บอน (carbon budget) ทั้งหมดของโลก (Note : Carbon Budget คือปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดที่เราสามารถปล่อยได้โดยไม่ทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม) ซึ่งจำเป็นต่อการจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียสภายในปีพ.ศ.2593

 

ยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์

ในทุกปีมีการใช้ยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ประมาณ 1.3 ล้านตันเพื่อให้พืชผลที่ใช้เป็นอาหารสัตว์เติบโต ปุ๋ยมูลสัตว์และของเสียจากฟาร์มสร้างมลพิษในอากาศและแหล่งน้ำ และเมื่อมลพิษเหล่านี้รวมกันทำให้เกิด ‘พื้นที่มรณะ หรือ dead zones’ มากกว่า 400 แห่งในแม่น้ำและมหาสมุทรซึ่งสิ่งมีชีวิตไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ นอกจากนั้นมลพิษเหล่านั้นยังปนเปื้อนอยู่ในน้ำดื่มและในพืชผลที่ทานได้ ตลอดจนส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าด้วย

10. มีวิธีการป้องกันการทารุณสัตว์ในฟาร์มแบบโรงงานได้อย่างไรบ้าง ?

สัตว์ไม่สามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีในฟาร์มแบบโรงงานได้ การชะลอการสร้างฟาร์มแบบโรงงานแห่งใหม่เป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการป้องกันไม่ให้มีความโหดร้ายทารุณเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงแล้วฟาร์มแบบโรงงานที่มีอยู่ในขณะนี้จะดำเนินกิจการต่อเนื่องไปอีกหลายสิบปี ดังนั้นจึงมีความจำเป็นมากที่ฟาร์มแบบโรงงานจะต้องยุติความโหดร้ายทารุณที่เลวร้ายที่สุดในรูปแบบต่างๆและหันมาดำเนินการตามมาตรฐานขั้นต่ำในการเลี้ยงสัตว์ฟาร์ม (Farm Animal Responsible Minimum Standards, RMS) https://www.farms-initiative.com/

11. ฟาร์มแบบโรงงานถูกควบคุมอย่างไร?

การทารุณกรรมสัตว์ในฟาร์มแบบโรงงานเป็นที่ยอมรับได้โดยทั่วไปในรัฐบาลต่างๆ ภายใต้กฎระเบียบด้านสวัสดิภาพขั้นต่ำที่สุดที่มีให้สัตว์ในประเทศส่วนใหญ่ และถึงแม้ว่าจะมีกฎระเบียบก็ตามแต่ก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างเต็มที่ นอกจากนั้นประชาชนยังมีช่องทางที่น้อยมากในการรับรู้ถึงวิธีการที่สัตว์ถูกปฏิบัติเบื้องหลังประตูของฟาร์มแบบโรงงานด้วย กฎระเบียบสำหรับการขนส่งและการฆ่าสัตว์เป็นเรื่องที่พบเห็นได้ง่ายกว่า ซึ่งโดยทั่วไปจะคำนึงถึงความปลอดภัยทางอาหารและสุขอนามัยเป็นอันดับแรก และคำนึงถึงตัวแปรด้านสวัสดิภาพของสัตว์ด้วย แต่อย่างไรก็ตามการบังคับใช้ยังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญ

 

รัฐบาลต่างๆจะมีกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดพื้นที่และขนาดของฟาร์มแบบโรงงาน ตลอดจนกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการจัดการทางด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการของเสีย

12. สัตว์ที่อยู่ในฟาร์มแบบโรงงานกินอาหารอย่างไร?

สัตว์ในฟาร์มอุตสาหกรรมถูกเลี้ยงแบบเร่งให้โตไว มีครอกขนาดใหญ่ ออกไข่จำนวนมาก หรือผลิตนมในปริมาณสูงสุด ซึ่งทำให้สัตว์เหล่านั้นได้รับความทุกข์ทรมานอย่างยิ่งยวดตลอดชั่วชีวิตอันแสนสั้น สัตว์เหล่านั้นจะต้องกินอาหารโปรตีนสูงชนิดพิเศษเพื่อให้ผลิตไข่และนมได้ปริมาณมากที่สุด ส่งผลให้เกิดการซื้อขายอาหารสัตว์แบบล้างผลาญ โดยถั่วเหลืองเป็นอาหารสัตว์ที่ถูกซื้อขายมากที่สุดเนื่องจากเป็นพืชที่มีโปรตีนและให้พลังงานสูง *โปรดดูเพิ่มเติมในคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาหารสัตว์ ด้านล่าง *

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาหารสัตว์

 

1. ‘อาหารสัตว์’ หมายความว่าอะไร? อาหารโปรตีน(protein feed) คืออะไร?

การทำฟาร์มแบบโรงงานขึ้นอยู่กับการค้าขายในตลาดโลกของพืชที่เป็นอาหารสัตว์ซึ่งไม่มีความยั่งยืน การผลิตสัตว์หลายพันล้านตัวในราคาที่ถูกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในแต่ละปีจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีการนำเข้าพืชผลในปริมาณมหาศาลเพื่อเป็นอาหารของสัตว์ฟาร์ม ความต้องการอาหารเป็นพิเศษของสัตว์ในฟาร์มแบบโรงงานที่ถูกเลี้ยงเพื่อทำกำไรผลักดันให้เกิดการค้าขายอาหารสัตว์แบบล้างผลาญทั่วโลก การหาแหล่งอาหารที่มีทั้งคุณภาพและโปรตีนสูงเพื่อเลี้ยงสัตว์ที่ให้ผลผลิตสูงเป็นจำนวนมากไม่สามารถหาได้จากทุ่งหญ้าหรือจากแหล่งเศรษฐกิจในท้องถิ่น

2. การปลูกถั่วเหลืองเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ใช่หรือไม่ ? ทำไมจึงต้องปลูกถั่วเหลืองเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ ?

ถั่วเหลืองเป็นพืชที่นำมาเป็นอาหารสัตว์ที่มีการซื้อขายกันมากที่สุดเนื่องจากมีโปรตีนและให้พลังงานสูง ถั่วเหลืองกว่า 3 ใน 4 (ร้อยละ 77) ของปริมาณถั่วเหลืองทั่วโลกถูกนำไปใช้เป็นอาหารในการปศุสัตว์เพื่อการผลิตเนื้อและผลิตภัณฑ์จากนม ปริมาณถั่วเหลืองที่เหลือส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ ใช้ในอุตสาหกรรม หรือเป็นน้ำมันจากพืช โดยมีเพียงร้อยละ 7 เท่านั้นที่ถูกนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารของมนุษย์โดยตรง

 

การผลิตเมล็ดถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น 8.4 เท่าในช่วงเวลา 50 ปี คิดเป็นผลผลิตโดยเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า และพื้นที่สำหรับใช้ในการปลูกถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น 4.3 เท่า โดยเพิ่มขึ้นจากพื้นที่เพาะปลูก 288,000 ตารางกิโลเมตรในปีพ.ศ.2511 เป็นพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 1.25 ล้านตารางกิโลเมตรในปีพ.ศ.2561 ทั้งนี้ถั่วเหลืองในโลกนี้มาจาก 2 ประเทศคือสหรัฐอเมริกาและบราซิล เมื่อรวมการผลิตถั่วเหลืองของทั้ง 2 ประเทศคิดเป็นปริมาณมากกว่า 2 ใน 3 ของการผลิตถั่วเหลืองของโลก (ร้อยละ 69)

3. การปลูกข้าวโพดเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ใช่หรือไม่? / ทำไมจึงต้องปลูกข้าวโพดเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์?

มีการคาดการณ์ว่าการผลิตข้าวโพดของโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 193 ล้านตันเป็น 1,315 พันล้านตันในช่วงศตวรรษหน้า โดยมีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดในประเทศจีน สหรัฐอเมริกา บราซิลและอาร์เจนติน่า ผู้ส่งออกข้าวโพดรายใหญ่ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา บราซิล อาร์เจนติน่าและรัสเซีย ประเทศปลายทางรายใหญ่ที่รับข้าวโพดได้แก่ ประเทศเม็กซิโก สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น อียิปต์และเกาหลี

4. อาหารสัตว์มีประเภทใดบ้าง? / อาหารสัตว์ทำมาจากอะไร? / อาหารสัตว์เติบโตมาอย่างไร?/อาหารสัตว์มาจากที่ไหน?

*โปรดดูจากเรื่องของถั่วเหลืองและข้าวโพดด้านบน* เราได้รวบรวมข้อมูลเหล่านี้ไว้ในเรื่องปลาป่น (fishmeal): (Note: fishmeal คืออาหารเลี้ยงสัตว์ฟาร์มที่ทำมาจากปลาหรือผลิตภัณฑ์จากปลา)

 

ปลาป่นและน้ำมันปลาส่วนใหญ่จะถูกใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการเกษตร เกือบ 1 ใน 5 ของปลาที่ถูกจับในมหาสมุทรทั่วโลกในแต่ละปีจะถูกนำไปทำเป็นปลาป่น และประมาณ 1 ใน 3 ของปลาป่นถูกนำไปใช้ในภาคการเกษตรบนบก (ร้อยละ 5 ให้แก่การเลี้ยงไก่และร้อยละ 23 ให้แก่การเลี้ยงหมู) ตั้งแต่ช่วงต้นของศตวรรษ 2000 (ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2543) การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำซึ่งเป็นตัวการของ ‘การประมงลดลง’ ได้นำปลาไปใช้ในการทำเป็นปลาป่นและน้ำมันมากกว่าที่จะนำไปให้มนุษย์บริโภค ปลาป่นประมาณ 6-7 พันล้านตันถูกผลิตขึ้นในแต่ละปี แม้ว่าปริมาณความต้องการปลาป่นทั่วโลกขึ้นอยู่กับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำขนาดใหญ่ในประเทศจีน แต่ปลาที่ผลิตเพื่อการส่งออกจำนวนมากก็ยังคงเป็นผู้บริโภคที่มีความสำคัญด้วยเช่นกัน

5. อาหารสัตว์ถูกส่งไปทั่วโลกได้อย่างไร? / อาหารสัตว์ซื้อขายกันอย่างไร?

มีการซื้อขายพืชผลที่เป็นอาหารสัตว์โดยเฉพาะอย่างยิ่งถั่วเหลืองในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก โดยมีสถานที่ในการผลิตที่สำคัญหลายแห่งบนโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ถั่วเหลืองได้รับการดูแลจนโตจากนั้นจะถูกนำไปบด (crushed) ถูกนำส่งไปขายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ถูกนำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์และถูกส่งไปให้แก่ฟาร์มแบบโรงงานเพื่อเป็นอาหารสัตว์ ทั้งนี้มีบริษัทที่ทำกำไรมหาศาลจากการทำธุรกิจเกี่ยวกับการบดและการค้าขายสินค้าพืชผลทั่วโลกเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้น

6. การเพิ่มจำนวนอาหารสัตว์ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร?

การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และการเกษตรเป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดเพียงสาเหตุเดียว เกือบร้อยละ 80 ของที่ดินที่ใช้ในการเกษตรถูกใช้ไปเพื่อการผลิตเกี่ยวกับการปศุสัตว์ ซึ่งรวมถึงการปลูกพืชผลจำนวนมากเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ นอกจากนั้นยังมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ปริมาณมหาศาลในพืชผลที่ปลูกสำหรับเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อแหล่งน้ำ ต่อสุขภาพของชุมชนท้องถิ่นและสัตว์ป่า เมื่อจำนวนของฟาร์มแบบโรงงานเพิ่มมากขึ้น การทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วยเพื่อตอบสนองต่อความต้องการปริมาณอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น

 

การปรับที่ดินสำหรับเพาะปลูกพืชผลเพื่อเป็นอาหารของสัตว์ฟาร์มเป็นหนึ่งในภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดต่อสถานที่ที่มีคุณค่าและเปราะบางที่สุดบางแห่งบนโลก เช่น ป่าแอมะซอน (Amazon) ทุ่งหญ้าเซอร์ราโด (Cerrado) คองโก (Congo) แม่น้ำโขง (Mekong) และลุ่มน้ำแยงซี (Yangtze basins)

7. อาหารสัตว์ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไม่? /การปลูกพืชที่เป็นอาหารสัตว์ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไม่?

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิต การแปรรูปและการขนส่งอาหารสัตว์ คิดเป็นร้อยละ 45 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคการเกษตร การผสมพันธุ์พืชที่ใช้เป็นอาหารสัตว์และการทับถมของปุ๋ยคอกบนทุ่งหญ้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณครึ่งหนึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอาหารสัตว์ (1 ใน 4 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมของภาคนี้) และหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงในการบริโภคเนื้อสัตว์อย่างรวดเร็วและในปริมาณมาก การเกษตรจะใช้งบดุลคาร์บอนทั้งหมดของโลกซึ่งจำเป็นต่อการจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียสภายในปีพ.ศ.2593

 

การทำฟาร์มแบบโรงงานทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลวร้ายลง และเกษตรกรรายย่อยก็ได้รับรู้ถึงผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นแตกต่างกัน อากาศที่เลวร้ายนอกจากจะทำลายพืชผักหรือทำให้สัตว์ที่เลี้ยงไว้ติดโรคแล้ว ยังทำให้สัตว์ป่าต้องทุกข์ทรมานและตายเนื่องจากภัยแล้ง น้ำท่วม และไฟไหม้ที่มีทั้งความรุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น การที่สัตว์มีความต้านทานต่อโรคต่ำและแหล่งที่อยู่ถูกทำลายเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของอาหารสัตว์ ทำให้โอกาสที่เชื้อโรคจะแพร่กระจายจากสัตว์ไปสู่คนเพิ่มขึ้น จึงมีความเสี่ยงอย่างมากที่การเกษตรแบบแออัดจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการระบาดของโรคครั้งใหม่ต่อไป

8. จะทำอย่างไรเพื่อลดการผลิตอาหารสัตว์?

การทำฟาร์มแบบโรงงานทำให้เกิดการค้าขายอาหารสัตว์แบบแบบล้างผลาญ ซึ่งนอกจากจะเป็นสาเหตุทำให้สัตว์ได้รับความทรมานและทำให้สูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยแล้ว ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การละเมิดสิทธิมนุษยชน ตลอดจนทำให้ความมั่นคงทางอาหารเสียไปอีกด้วย ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้ในระบบที่ตั้งอยู่บนการผลิตอาหารสัตว์ขนาดใหญ่แบบล้างผลาญที่ขับเคลื่อนจากความต้องการของการทำฟาร์มแบบโรงงานที่โหดร้ายทารุณทั่วโลกนี้ วิธีที่จะแก้ปัญหาได้คือต้องยุติการทำฟาร์มแบบโรงงานและเปลี่ยนไปสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืนและมีมนุษยธรรม และนี่จะนำไปสู่จุดจบของการค้าแบบล้างผลาญจากการผลิตอาหารสัตว์ขนาดใหญ่ของโลกที่มีแต่ความโหดร้ายทารุณต่อสัตว์ฟาร์มหลายพันล้านตัว