โครงการ Farm Champion Model
ทดลองเลี้ยง “ไก่โคราช” สวัสดิภาพสูงทั่วประเทศไทย
ปัจจุบันไก่จำนวนหลายหมื่นล้านตัวต้องทุกข์ทรมานจากระบบการเลี้ยงแบบฟาร์มอุตสาหกรรม โดยหนึ่งในปัญหาหลักของสวัสดิภาพไก่คือ ‘ไก่สายพันธุ์เร่งโต’ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เลี้ยงในระบบฟาร์มอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวางเนื่องจากถูกเพาะพันธุ์ให้ได้เนื้อปริมาณมากในระยะเวลาการเลี้ยงที่สั้นเพียง 1 เดือนนั้น ทำให้ไก่ต้องทนทุกข์ทรมานจากน้ำหนักตัวมหาศาล ซึ่งทำให้ไก่ยืนหรือเดินได้ลำบาก ประกอบกับสภาพแวดล้อมของโรงเรือนที่ทั้งแออัดและไม่เอื้อให้ไก่ได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ เรียกได้ว่า ไก่ที่เราบริโภคกันอยู่ทุกวันนี้ เป็นผลผลิตของระบบที่ไม่ได้คำนึงถึงหลักสวัสดิภาพของสัตว์แม้แต่น้อย ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อตัวสัตว์แล้ว ยังส่งผลมายังผู้เลี้ยง ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
แม้ไก่จะถูกมองเป็นอาหารและเป็นสัตว์ที่มีช่วงชีวิตค่อนข้างสั้น แต่เราไม่ควรลืมว่าแท้จริงแล้ว ไก่เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึก --- รู้สึกได้ถึงทั้งความสุข ความสนุก ความเครียด และความกลัว --- เราจะทำอย่างไรให้สัตว์ที่เป็นอาหารของเรา มีชีวิตที่ไม่ทุกข์ทรมานและสามารถสัมผัสได้ถึงความสุขระหว่างที่ไก่เหล่านี้มีชีวิตอยู่
Farm Champion Model
เป็นโครงการใหม่ขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ที่มุ่งเน้นการสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยหันมาสนใจกับสวัสดิภาพของไก่ในฟาร์มตามมาตรฐาน Good Life Standards หรือมาตรฐานการเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูง ซึ่งในฟาร์มลักษณะนี้ ไก่จะมีโอกาสได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ และรับรู้ได้ถึง “ความสุข” มากกว่า “ความทุกข์ทรมาน” ตลอดอายุขัย ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาโดย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก
ภายใต้โครงการฯ นี้องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้ทำการคัดเลือกฟาร์มเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 11 แห่ง รวม 6 จังหวัดทั่วประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดโคราช จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดอุบล จังหวัดศรีสะเกษ และ จังหวัดสุรินทร์ เพื่อทดลองเลี้ยงไก่จำนวน 100 ตัวต่อรุ่น โดยจะเลี้ยง 2 รุ่น ในระยะเวลา 1 ปี ใช้สายพันธุ์ “ไก่โคราช” (link ไปหน้าข่าว “ทำไมต้องเป็นไก่โคราช) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ไก่โตช้า ที่ถูกพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ไก่โคราชนี้จะใช้เวลาเลี้ยงราว 3 เดือน โดยจะได้ผลผลิตน้ำหนัก 1.5 กิโลกรัมต่อตัว ด้วยน้ำหนักที่ไม่มากเกินไปและอายุการเลี้ยงที่ยาวนานขึ้นทำให้ไก่โคราชไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากสายพันธุ์ที่เร่งโตจนมีร่างกายใหญ่โตเร็วผิดปรกติ และต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพเหมือนกับไก่ที่ถูกเลี้ยงในฟาร์มอุตสาหกรรม
คุณภาพชีวิตสัตว์และชีวิตคนที่ระบบอุตสาหกรรมไม่สามารถหยิบยื่นให้ได้
เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ที่เข้าร่วมโครงการ สามารถเสนอแนวความคิดและผสมผสานองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในท้องถิ่นเพื่อให้ไก่มีสวัสดิภาพที่ดีขึ้นได้ เช่น การเพิ่มคอนเกาะ กระบะทราย หรือสวนสมุนไพรให้ไก่จิกกิน ไก่ในโครงการของเรานับพันตัวจึงสามารถแสดงพฤติกรรมทางธรรมชาติอย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นการปีนป่าย การบิน การคลุกฝุ่นทราย การจิกกินหญ้า เป็นต้น ทำให้พวกเขาได้สัมผัสถึงความรู้สึกในเชิงบวกได้อย่างเต็มที่ตลอดอายุขัย
เกษตรกรจะเข้ามามีส่วนร่วมในการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับสวัสดิภาพของไก่ ซึ่งรวมไปถึงพฤติกรรมต่าง ๆ ของไก่ที่จะเป็นตัวบ่งชี้สวัสดิภาพที่ดีขึ้นของไก่ในฟาร์มด้วย นอกจากนี้ การเลี้ยงไก่แบบสวัสดิภาพสูง ยังเป็นการลงทุนที่ไม่ใช้ต้นทุนมาก
ไม่เหมือนกับการทำฟาร์มอุตสาหกรรมแบบพันธะสัญญากับบริษัทใหญ่ แต่ได้ผลตอบแทนที่สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับชุมขน สร้างโอกาสให้สัตว์ได้มีชีวิตที่ดี และสร้างทางเลือกให้ผู้บริโภคได้สามารถเข้าถึงระบบอาหารที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพอีกด้วย เท่ากับว่า โครงการฟาร์มแชมเปี้ยน นอกจากจะยังประโยชน์แก่สัตว์แล้ว ยังตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน ระบบนิเวศเกษตรที่สมบูรณ์ และการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร แบบที่ระบบอุตสาหกรรมไม่สามารถเอื้อให้ได้