corn field

ระบบฟาร์มอุตสาหกรรมและอาหารสัตว์: วิกฤติปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก

ลงชื่อผลักดัน

ระบบฟาร์มอุตสาหกรรม: วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์เป็นหนึ่งต้นตอสำคัญที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่นำไปสู่วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ของโลก โดยตลอดห่วงโซ่อุปทานของภาคปศุสัตว์มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง 14.5% นั่นเป็นเพราะความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ของโลกเพิ่มสูงขึ้นถึง 58 เปอร์เซ็นต์ ในระยะเวลา 20 ปีก่อนปี ค.ศ. 2018  และในปัจจุบันยังมีแนวโน้มความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มสูงขึ้นอีก นั่นหมายความว่าเราจะไม่สามารถบรรลุความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ตั้งเป้าให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้เลย และยังต้องเผชิญกับวิกฤตปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือโลกรวนอย่างรุนแรง หากเรายังปล่อยให้ฟาร์มอุตสาหกรรมขยายตัวอยู่เช่นนี้

 


Factory Farmed Chickens over crowded

ความโหดร้ายที่นำไปสู่การปลูกพืชเชิงทำลายล้าง

ในแต่ละปีมีสัตว์ฟาร์มจำนวนกว่า 80,000 ล้านตัวทั่วโลกที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหาร

 

(ไม่นับรวมสัตว์น้ำ เช่นปลา หรือ กุ้ง) และจำนวน 2 ใน 3 ของสัตว์เหล่านี้อยู่ในระบบฟาร์มอุตสาหกรรมที่โหดร้ายทารุณ นอกจากนี้แล้วฟาร์มอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ยังต้องการพืชปริมาณมหาศาลเพื่อนำมาเป็นอาหารป้อนให้สัตว์เหล่านี้  ลองจินตนาการดูว่าเราต้องใช้พื้นที่เพาะปลูกมากขนาดไหน ถึงจะเพียงพอต่อการปลูกพืชอาหารสัตว์จำนวนมหาศาลเหล่านี้ในแต่ละปี และตัวเลขเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  

อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ - ระเบิดเวลาด้านสิ่งแวดล้อมที่เริ่มนับถอยหลัง

การเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มอุตสาหกรรม สร้างผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมตลอดกระบวนการผลิต เรามักจะเห็นการร้องเรียนอยู่เสมอจากชุมชนรอบฟาร์มถึงมลพิษที่เกิดขึ้นจากฟาร์มอุตสาหกรรม เช่น น้ำเน่าเสียที่ถูกปล่อยออกมา ส่งกลิ่นรบกวน หรือการใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมหาศาล ที่นำไปสู่เชื้อแบคทีเรียนดื้อยา แพร่กระจายอยู่ในห่วงโซ่อาหาร และสิ่งแวดล้อมรอบฟาร์ม แต่ที่คนส่วนใหญ่ยังนึกไม่ถึง และส่งผลต่อวิกฤตปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เราทุกคนเผชิญกันอยู่ทุกวันนี้ คือ ผลกระทบจากการผลิตอาหารสัตว์

การปลูกพืชเพื่อนำมาเป็นอาหารสัตว์ เป็นหนึ่งในระบบการทำฟาร์มอุตสาหกรรม และเป็นขั้นตอนสำคัญที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมาก เนื่องจากต้องมีการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อนำพื้นที่มาเพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ การสูญเสียพื้นที่ของสัตว์ป่า และคน การเผาซากพืชหลังเก็บเกี่ยว ตลอดจนการใช้สารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงในการเพาะปลูก เกิดการเสื่อมโทรมของธรรมชาติ และทำให้สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในที่สุด

แผนภาพนี้ใช้อธิบายผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสภาพภูมิอากาศและโลกตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain)

 

ข้าวโพดและถั่วเหลืองเป็นพืชวัตถุดิบหลักที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์ เฉพาะในประเทศไทย มีการใช้พื้นที่กว่า 7 ล้านไร่ เพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือ 95 เปอร์เซ็นต์ ของข้าวโพดที่ปลูกในประเทศไทย ถูกนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ทั้งสิ้น โดยพื้นที่การปลูกส่วนใหญ่อยู่ตรงบริเวณพื้นที่เขา ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน ตาก เลย เพชรบูรณ์ และนครราชสีมา ซึ่งการปลูกข้าวโพดในแต่ละพื้นที่เหล่านี้ (รวมถึงหลายประเทศในภูมิภาคนี้) ทำให้มีการเผาซากทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก และส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศ หรือฝุ่น PM 2.5 ที่สร้างผลกระทบต่อวิกฤตด้านสุขภาพของคนไทยเป็นจำนวนมากในแต่ละปี และจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นทุกปี

 

เครดิตภาพ: มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

 

นอกจากข้าวโพดแล้ว ทั่วโลกยังมีการปลูกถั่วเหลืองราว 75 – 80 เปอร์เซ็นต์ เพื่อนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ และมีเพียงไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่มนุษย์นำไปไปบริโภคเป็นอาหารโดยตรง โดยผ่านการแปรรูปเป็นอาหาร เช่น เต้าหู้ นมถั่วเหลือง เป็นต้น 

 

ประเทศบราซิลเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแหล่งปลูกถั่วเหลืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยปัจจุบันมีรายงานพบว่าพื้นที่ป่าในภูมิภาคแอเมซอลถูกทำลายเป็นจำนวนมาก เพื่อนำไปเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชเพื่อทำอาหารสัตว์ นอกจากนี้ ประเทศไทยเองก็มีการนำเข้าถั่วเหลือง และกากถั่วเหลืองเป็นจำนวนมากอีกเช่นกัน ปัญหาการปลูกพืชอาหารสัตว์นี้สร้างความกังวลอย่างยิ่ง ต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่วิกฤตปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นทั่วโลก   ซึ่งล้วนแต่เชื่อมโยงกันทั้งสิ้น

ควันข้าวโพดต้องโทษใคร?

วิกฤตควันพิษข้าวโพดอาหารสัตว์ ใครต้องรับผิดชอบ

High welfare chicken farm. Credit: Valerie Kuypers

ร่วมสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน เพื่อคน สัตว์และสิ่งแวดล้อม

วิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องแก้ไขตอนนี้ ก่อนจะสายเกินไป

 

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกรณรงค์เพื่อสร้างสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มที่ดี แต่สัตว์จะมีชีวิตที่ดีไม่ได้เลย หากฟาร์มอุตสาหกรรมที่เป็นเสมือนเครื่องจักรในการผลิตความทุกข์ทรมานสัตว์ ยังคงขยายตัวอยู่

วันนี้เราเห็นแล้วว่าฟาร์มอุตสาหกรรมไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสัตว์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเหมือนระเบิดเวลาที่สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อมที่ประเมินความเสียหายไม่ได้ ถึงเวลาเร่งด่วนแล้วที่เราจำเป็นต้องสร้างระบบอาหารที่มีความยั่งยืน ระบบอาหารที่ไม่เพียงทำให้คนได้รับสารอาหารที่พอเพียง แต่ต้องมีมนุษยธรรม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน  

 

ร่วมลงชื่อกับเราวันนี้:

 

  • เรียกร้องให้บริษัทอาหารสัตว์ มีนโยบายการจัดซื้อวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ไม่มาจากแหล่งที่มีการรุกล้ำพื้นที่ป่า ตลอดจนปลอดการเผา รวมถึงเรียกร้องให้มีการตรวจสอบอย่างโปร่งใสและเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ
  • เรียกร้องให้ภาครัฐมีส่วนร่วมในการกำกับดูแล ตรวจสอบ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหารสัตว์ของภาคเอกชน ตลอดจนมีนโยบายในการส่งเสริมระบบอาหารที่เป็นธรรมและเป็นมิตรต่อคน สัตว์ สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
  • พิจารณาที่จะลดและเลือกบริโภคเนื้อสัตว์จากแหล่งที่มาที่ดี: การลดการบริโภคเนื้อสัตว์และบริโภคโปรตีนทางเลือก โดยเฉพาะจากพืชสามารถผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ และถ้าคุณต้องการซื้อเนื้อสัตว์ ก็เลือกสนับสนุนจากฟาร์มรายย่อยที่มีความยั่งยืนมากกว่าและดีกว่าสำหรับสัตว์