PenLao

ร่วมสร้างอนาคตของระบบอาหารที่ยั่งยืนด้วย "การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม"

ร่วมกับเรา

เข้าร่วม

ทำความเข้าใจแนวคิด "Just Food Transition" 

Just Food Transition หรือ การเปลี่ยนผ่านระบบอาหารที่เป็นธรรม

คือกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากระบบการผลิตที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เอารัดเอาเปรียบแรงงาน และละเมิดสวัสดิภาพสัตว์ ไปสู่ระบบอาหารที่เป็นธรรม ยั่งยืน และเคารพสิทธิของทุกชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์  

 

แนวคิดนี้เริ่มต้นจากการเคลื่อนไหวของแรงงานที่ต้องการการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรมในภาคพลังงาน และขยายมายังภาคอาหารเมื่อเห็นว่าระบบอุตสาหกรรมผลิตสัตว์ส่งผลกระทบมหาศาลต่อสัตว์ ผู้บริโภค และโลกของเรา 

 

 

การเปลี่ยนผ่านระบบอาหารที่เป็นธรรมมุ่งเน้นไม่เพียงแค่การสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังให้ความสำคัญกับการปกป้องสิทธิและสวัสดิภาพของทุกชีวิตที่เกี่ยวข้องในระบบอาหาร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

Factory farm

ทำไมต้องเปลี่ยนผ่านจากระบบปศุสัตว์อุตสาหกรรม?

ระบบปศุสัตว์อุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการสร้างผลกระทบร้ายแรงในหลายมิติ: 

 

 

เกษตรกร: แรงกดดันที่มองไม่เห็น 

ในอดีต เกษตรกรรายย่อยเคยเป็นหัวใจของระบบอาหาร แต่ทุกวันนี้ พวกเขากลับถูกผลักให้ออกไปอยู่ชายขอบของอุตสาหกรรมนี้ บรษัทขนาดใหญ่ควบคุมตลาดและกำหนดราคาซื้อขาย เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนมหาศาลจากการทำสัญญากับบรษัทเหล่านี้ โดยไม่มีอำนาจต่อรองมากนัก หากเกิดโรคระบาดในฟาร์มหรือสภาพอากาศแปรปรวน ความเสี่ยงทั้งหมดตกอยู่ที่เกษตรกร ขณะที่บรษัทยังคงทำกำไร 

 

แรงงานในฟาร์มและโรงฆ่าสัตว์: ภายใต้เงามืดของการผลิต 

แรงงานที่ทำงานในฟาร์มอุตสาหกรรมและโรงฆ่าสัตว์ต้องเผชิญกับสภาพการทำงานที่โหดร้าย พวกเขาต้องอยู่ท่ามกลางสารเคมี เชื้อโรค และมลพิษทางอากาศเป็นเวลานาน ค่าจ้างต่ำและสวัสดิการไม่เพียงพอ โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่มักถูกเอารัดเอาเปรียบโดยไม่มีที่พึ่งทางกฎหมาย 

 

อาหารเพื่อมนุษย์ หรืออาหารเพื่อปศุสัตว์? 

ในขณะที่ประชากรโลกจำนวนมากยังคงเผชิญกับความหิวโหย แต่พืชผลจำนวนมหาศาลกลับถูกนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์มากกว่าที่จะถูกนำมาให้มนุษย์บริโภคโดยตรง  ธัญพืช 36% และถั่วเหลือง 77% ของโลกถูกนำไปเลี้ยงสัตว์แทนที่จะเป็นอาหารของคน วิธีการจัดสรรทรัพยากรเช่นนี้สร้างปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหาร และทำให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น 

 

สารเคมีและยาปฏิชีวนะ: เงาอันตรายของเกษตรอุตสาหกรรม 

เพื่อให้สัตว์เติบโตเร็วและลดอัตราการตาย ฟาร์มอุตสาหกรรมจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะในปริมาณมหาศาล ปัญหาที่ตามมาคือเชื้อดื้อยาที่สามารถแพร่กระจายจากสัตว์สู่คนได้ โรคติดเชื้อที่เคยรักษาได้ง่ายอาจกลายเป็นภัยคุกคามร้ายแรงในอนาคต นอกจากนี้ มลพิษจากของเสียในการทำปศุสัตว์ยังทำให้แหล่งน้ำและอากาศปนเปื้อน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ใกล้เคียง 

 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: ปศุสัตว์อุตสาหกรรมคือผู้เล่นหลัก 

อุตสาหกรรมปศุสัตว์เป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกขนาดใหญ่ที่สุดแหล่งหนึ่งของโลก ก๊าซมีเทนจากวัวและของเสียจากฟาร์มส่งผลให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น ป่าไม้ถูกทำลายเพื่อสร้างพื้นที่เลี้ยงสัตว์และปลูกพืชอาหารสัตว์ ทำให้ความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ของธรรมชาติลดลง 

 

สวัสดิภาพสัตว์: ชีวิตที่ถูกมองข้าม 

สัตว์หลายพันล้านตัวทั่วโลกถูกเลี้ยงในสภาพที่คับแคบและไร้ซึ่งสวัสดิภาพ ไก่ถูกเลี้ยงในพื้นที่จำกัดที่แทบจะขยับตัวไม่ได้ หมูต้องอยู่ในคอกที่แออัด วัวต้องถูกรีดนมอย่างต่อเนื่องจนร่างกายอ่อนแอ ปศุสัตว์อุตสาหกรรมมองสัตว์เป็นเพียงสินค้า มากกว่าสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึก 

หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง สัตว์นับไม่ถ้วนจะยังคงต้องทนทุกข์ ระบบนิเวศจะเสื่อมโทรมลง และสุขภาพของมนุษย์จะตกอยู่ในความเสี่ยง 

Hatsadee

ทางออก: การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบอาหารที่เป็นธรรม มีมนุษยธรรม และยั่งยืน (Equitable, Humane, and Sustainable - EHS Food Systems)

ระบบอาหารที่เป็นธรรม มีมนุษยธรรม และยั่งยืน หรือ Equitable, Humane, and Sustainable (EHS) Food Systems หมายถึง:

 

ลดขนาดอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ 

  • ลดการพึ่งพาเนื้อสัตว์จากฟาร์มอุตสาหกรรมและสนับสนุนฟาร์มขนาดเล็กที่มีมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ที่สูงขึ้น 
  • กำหนดนโยบายสาธารณะที่ส่งเสริมการลดการบริโภคเนื้อสัตว์และนำเสนอทางเลือกที่ยั่งยืนกว่า 
  • สนับสนุนมาตรการทางนโยบายที่ยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ขั้นต่ำ 

 

สนับสนุนเกษตรกรรมเชิงนิเวศ (Agroecology) 

  • เปลี่ยนไปใช้ระบบเกษตรกรรมที่เคารพธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับแรงงานและชุมชน 
  • ส่งเสริมการทำเกษตรที่หลากหลายทางชีวภาพ ลดการใช้สารเคมี และฟื้นฟูระบบนิเวศ 
  • สนับสนุนการเกษตรรายย่อยที่สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชนในท้องถิ่น 

 

ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์ 

  • สัตว์ทุกตัวควรได้รับการเลี้ยงดูอย่างมีมนุษยธรรมในระบบที่เคารพชีวิตและสิทธิของพวกเขา 
  • สร้างความตระหนักในการบริโภคเนื้อสัตว์ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์ทางด้านสุขภาพของผู้บริโภคและขอบเขตของทรัพยากรบนโลก  
  • ส่งเสริมทางด้านนโยบายและงบประมาณ เพื่อให้การปศุสัตว์ที่คงอยู่เป็นไปแนวนิเวศเกษตรและไม่สร้างผลกระทบต่อทุกภาคส่วน 

 

สร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรม 

  • กระจายอำนาจจากบริษัทขนาดใหญ่สู่เกษตรกรรายย่อย และทำให้ระบบอาหารเป็นของทุกคน ไม่ใช่แค่เพียงไม่กี่บริษัท 
  • สร้างโอกาสการจ้างงานที่เป็นธรรมและยั่งยืนในภาคเกษตรกรรมและอาหาร 
  • สนับสนุนให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม 

 

การเป็นปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม ไม่ได้จำกัดเพียงการเปลี่ยนมาบริโภคโปรตีนจากพืช แต่หมายรวมถึงการลดการบริโภคเนื้อสัตว์และหันมาเลือกบริโภคอาหารที่มาจากแหล่งที่ดีและปลอดภัย โดยองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้จัดทำโครงการฟาร์มแชมเปี้ยน [link อ่านเพิ่มเติม] ที่ส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้หันมาเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูง เป็นตัวอย่างของ EHS Farming หรือการทำฟาร์มแบบเป็นธรรม มีมนุษยธรรม และยั่งยืน ที่ส่งผลดีต่อสัตว์ คน และสิ่งแวดล้อม 

 

มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง! 

การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมเป็นสิ่งที่เราต้องทำร่วมกัน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชนทุกคน 

 

สิ่งที่คุณสามารถทำได้:

📢 ลงชื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบอาหารที่เป็นธรรม 
🌱 ลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์และเลือกบริโภคจากแหล่งที่มีสวัสดิภาพสัตว์สูง 
💡 ร่วมเผยแพร่ความรู้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง 

📍 ถึงเวลาแล้วที่เราจะร่วมสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน เป็นธรรม และเคารพชีวิตของทุกสรรพสิ่ง!