Tourists bathing with elephants

‘อาบน้ำช้าง’ เป็นการทำร้ายช้างยังไง?

บล็อก

By

จากการรณรงค์เรื่องความโหดร้ายทารุณต่อสัตว์ป่าในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ผลการสำรวจของเราพบว่าปัจจุบันนักท่องเที่ยวมีความตื่นตัวเรื่องสวัสดิภาพสัตว์กันมากขึ้นเรื่อยๆ สังเกตได้จากกิจกรรมการดูโชว์ช้างและการขี่ช้างที่ได้รับความนิยมลดลงอย่างต่อเนื่อง

กระแสที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ขณะเดียวกัน เราก็พบว่าธุรกิจปางช้างจำนวนมากรับรู้กระแสนี้และพยายามปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ จากปางช้างที่มีโชว์ช้างและขี่ช้างมาเป็น “อาบน้ำช้าง” แทน ซึ่งได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากมาย คาดว่าเป็นเพราะหลายคนมองว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่มีพิษมีภัยต่อช้าง

การอาบน้ำช้างแม้จะดูเป็นกิจกรรมที่ไม่สร้างความทุกข์ทรมานร้ายแรงในสายตาคนทั่วไป แต่เมื่อพิจารณาภาพใหญ่ของการนำช้างมาใช้งานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแล้ว กิจกรรมนี้ยังมีปัญหาด้านสวัสดิภาพแฝงอยู่เช่นกัน

An elephant used for riding and bathing with tourists, Chitwan, Nepal - World Animal Protection

1.กระบวนการฝึกที่โหดร้ายทารุณ

จากหลักฐานของเราพบว่าช้างที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่างต้องผ่านกระบวนการฝึกที่โหดร้ายทารุณมากมาย ต้องถูกแยกลูกแยกแม่ตั้งแต่เด็ก ถูกทุบตีด้วยอุปกรณ์อย่างตะขอ โซ่ ท่อนไม้ ถูกล่ามในซองแคบๆ ถูกบังคับให้อยู่ในสถานการณ์ตึงเครียด ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตใจให้ช้างกลัวและปฏิบัติตามคำสั่งของคน

ช้างที่ถูกใช้งานสร้างความบันเทิงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโชว์ช้าง ขี่ช้าง อาบน้ำช้าง ป้อนอาหารช้าง ฯลฯ ต่างก็ต้องผ่านความทุกข์ทรมานมาก่อนทั้งสิ้น

2.”อาบน้ำช้าง” ไม่เท่ากับ “สวัสดิภาพช้างดี” เสมอไป 

แม้การอาบน้ำช้างจะกลายมาเป็นกิจกรรมชูโรงเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์ แต่ปางช้างก็อาจจะไม่ได้เลิกกิจกรรมขี่ช้างหรือโชว์ช้างแต่อย่างใด หลายแห่งยังคงเสนอขายกิจกรรมอย่างอื่นไปพร้อมๆ กับการอาบน้ำช้าง นั่นหมายความว่า แม้คุณจะไปเที่ยวปางช้างแค่เพื่ออาบน้ำช้างอย่างเดียว ช้างเหล่านั้นก็ยังต้องรองรับนักท่องเที่ยวผ่านกิจกรรมอย่างอื่นที่ขัดต่อพฤติกรรมตามธรรมชาติของพวกมันอยู่ดี

และแม้ปางช้างจะยกเลิกกิจกรรมอย่างอื่นและคงเหลือไว้แค่การอาบน้ำช้างเพียงอย่างเดียว การจัดสวัสดิกาพช้างก็อาจไม่ได้ดีขึ้นตามไปด้วยโดยอัตโนมัติ ทั้งในเรื่องของที่อยู่อาศัย สภาพแวดล้อม อาหารการกิน ชั่วโมงการทำงาน จำนวนนักท่องเที่ยวที่รองรับ ฯลฯ เหล่านี้เป็นเรื่องคุณควรหาข้อมูลให้แน่ชัดก่อนตัดสินใจ

3.ส่งเสริมการผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์

การที่นักท่องเที่ยวยังสนับสนุนกิจกรรมที่นำช้างมาสร้างความบันเทิงอยู่เหมือนเป็นการต่อวงจรให้ช้างรุ่นใหม่ๆ ต้องถูกผสมพันธุ์ ถูกฝึกอย่างโหดร้ายทารุณ และมีชะตาชีวิตแบบนี้อีกไม่รู้จบ

การผสมพันธุ์ช้างปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ และมีประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ช้างป่าน้อยมากหรือไม่มีเลย เนื่องจากช้างที่ถูกใช้งานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่สามารถถูกปล่อยสู่ป่าได้ทันที เพราะพวกมันไม่ชินกับชีวิตในป่าและต้องพึ่งพาคนมาตั้งแต่เกิด

ยิ่งไปกว่านั้น จากสถิติของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชก็พบว่าจำนวนช้างป่าในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว การผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์จึงแทบไม่มีความเกี่ยวข้องหรือมีความจำเป็นต่อการอนุรักษ์ช้างในป่าเลย

An elephant used for riding and bathing with tourists, Chitwan, Nepal - World Animal Protection

4.ไม่ปลอดภัยต่อทั้งคนและช้าง 

เช่นเดียวกันกิจกรรมอื่นๆ ที่ปางช้างอนุญาตให้นักท่องเที่ยวปฏิสัมพันธ์กับช้างได้โดยตรง การอาบน้ำช้างมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ป่าและอาจมีความเครียดหรืออารมณ์ความรู้สึกที่มนุษย์คาดเดาไม่ได้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อทั้งคนและช้างได้ เห็นได้จากข่าวช้างทำร้ายนักท่องเที่ยวและควาญช้างจนบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายต่อหลายกรณี

ยิ่งไปกว่านั้น ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ป่ายังมีความเสี่ยงด้านโรคระบาดจากสัตว์สู่คนตามมาด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจนคงหนีไม่พ้นโรคระบาดโควิด-19 ในปัจจุบัน ซึ่งมีสาเหตุมาจากสัตว์ป่า

ในกรณีของช้าง ก็เคยมีการระบาดของ “วัณโรคในช้าง” สู่คนเมื่อไม่กี่ปีก่อน โดยตอนนั้นพบว่าช้างหลายตัวมีเชื้อวัณโรคอยู่ในสารคัดหลั่งในโพรงจมูก เมื่อพวกมันถูกนำไปพ่นน้ำต้อนรับนักท่องเที่ยว เชื้อวัณโรคดังกล่าวจึงแพร่ไปสู่นักท่องเที่ยวและควาญช้างที่ร่างกายไม่แข็งแรง

5.มีทางเลือกที่ดีกว่า

หากคุณใส่ใจสวัสดิภาพช้างอย่างแท้จริง การอาบน้ำช้างจึงไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด เราอยากแนะนำให้คุณไปดูช้างในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของพวกมัน เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่า หรือพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ ที่ช้างมีอิสระในการใช้ชีวิต แสดงพฤติกรรมธรรมชาติ และเข้าสังคม จึงจะถือเป็นการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบ เปิดโลก ไม่ทำร้ายสัตว์ และให้ประสบการณ์ที่ดีกว่า

แต่ถ้าการดูช้างในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติฟังดูยากเกินไป “ปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้าง” หรือปางช้างที่มีมาตรฐานสวัสดิภาพอยู่ในเกณฑ์ดี ก็เป็นตัวเลือกที่ดี ปางช้างเหล่านี้มีกิจกรรมหลักเป็นการสังเกตการใช้ชีวิตช้างหรือเดินตามช้าง โดยมีควาญช้างคอยดูแลความปลอดภัยอยู่ห่างๆ เท่านั้น ปางช้างเหล่านี้ยังมีมาตรฐานด้านสวัสดิภาพดีกว่าปางช้างทั่วไปด้วย

ปัจจุบัน มีปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้างหลายแห่งในประเทศไทย เช่น ช้างชิล จ.เชียงใหม่ ฟอลโลวอิ้ง ไจแอนท์ จ.กระบี่ เป็นต้น คุณสามารถอ่านคู่มือการท่องเที่ยวแบบเป็นมิตรต่อช้างและรายชื่อปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้างทั้งหมดในประเทศไทยได้ที่นี่ครับ